กระแสโลกร่วมต้าน "กฎหมายปาหินประหารเกย์" คลื่นคนดังรณรงค์คว่ำบาตรสายการบิน-โรงแรม "บรูไน"

04 เม.ย. 2562 | 08:10 น.


กระแสต่อต้านการบังคับใช้กฎหมายอิสลาม (กฎหมายหมายชะรีอะฮ์ หรือ Sharia Laws) ฉบับใหม่ของประเทศบรูไน เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2562 ซึ่งเพิ่มบทลงโทษขั้นรุนแรงต่อผู้ที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศด้วยการขว้างหินประหารชีวิต และการตัดมือตัดเท้าขโมย กำลังสร้างแนวร่วมของการคัดค้านมากขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก โดยส่วนใหญ่มองว่า บทลงโทษชาวรักร่วมเพศด้วยวิธีการรุนแรงตามบทบัญญัติของกฎหมายอิสลาม ซึ่งมีมาช้านานนั้น เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและไร้มนุษยธรรม จึงออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลบรูไนพิจารณาทบทวนเรื่องนี้ และขณะเดียวกัน ก็ออกแสดงพลังการต่อต้าน เช่น สายการบินเวอร์จิ้น ออสเตรเลีย ล่าสุด ได้ออกจดหมายเวียนทางอีเมลของพนักงาน ว่า บริษัทได้ตัดสินใจยกเลิกข้อตกลงที่ทำไว้กับสายการบินแห่งชาติบรูไน เกี่ยวกับโปรแกรมการให้สิทธิ์พนักงานเดินทางท่องเที่ยว โดย "เวอร์จิ้น ออสเตรเลีย" ระบุว่า การยุติข้อตกลงดังกล่าวมีผลทันที และเป็นเพราะกฎหมายที่เข้มงวดรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิตของบรูไนนั้น เป็นบทลงโทษเอาผิดต่อการกระทำที่ในออสเตรเลียถือว่าเป็นสิ่งถูกกฎหมายและเป็นที่ยอมรับได้

 

สมเด็จพระราชาธิบดีฮัสซานัล โบลเกียห์ แห่งบรูไน

 

สื่อท้องถิ่นของออสเตรเลียรายงานว่า กฎหมายอิสลามของบรูไนนั้น บังคับใช้ภายในประเทศบรูไน และใช้กับชาวมุสลิม รวมทั้งผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม ตลอดจนชาวต่างชาติที่เข้าไปเยือนบรูไน หรือแม้กระทั่งชาวต่างชาติที่เข้ามารอเปลี่ยนเครื่องบินในบรูไน รวมทั้งผู้โดยสารบนเครื่องบินที่จดทะเบียนในบรูไน

ก่อนการบังคับใช้กฎหมายชะรีอะฮ์นี้ กฎหมายบรูไนห้ามการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายอยู่แล้ว โดยกำหนดบทลงโทษสูงสุดจำคุก 10 ปี แต่ตามกฎหมายอาญาอิสลามฉบับใหม่ ความผิดฐานรักร่วมเพศระหว่างผู้ชาย คือ การประหารชีวิตด้วยการปาหิน ส่วนรักร่วมเพศระหว่างผู้หญิงนั้น มีโทษตั้งแต่โบยด้วยหวาย 40 ครั้ง หรือ โทษสูงสุดจำคุก 10 ปี

 

กระแสโลกร่วมต้าน "กฎหมายปาหินประหารเกย์" คลื่นคนดังรณรงค์คว่ำบาตรสายการบิน-โรงแรม "บรูไน"

 

กลุ่มล๊อบบี้เพื่อสิทธิชาวเกย์-เลสเบี้ยนแห่งรัฐวิคทอเรีย ประเทศออสเตรเลีย ออกแถลงการณ์ว่า การลงโทษชาวรักร่วมเพศด้วยการปาหินจนตายตามกฎหมายของบรูไนนั้น เป็นการกระทำที่โหดร้าย ทางกลุ่มจึงเรียกร้องให้รัฐบาลออสเตรเลียสั่งห้ามไม่ให้เครื่องบินของสายการบินแห่งชาติของบรูไน หรือ สายการบิน "รอยัล บรูไน แอร์ไลน์ส" ลงจอดในสนามบินเมลเบิร์นของออสเตรเลีย และห้ามบริษัทท่องเที่ยวจำหน่ายตั๋วโดยสารของสายการบินดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารของท่าอากาศยานเมลเบิร์นได้ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับกระแสต่อต้านที่เกิดขึ้นว่า กฎหมายใหม่ของบรูไนถูกคัดค้านอย่างรุนแรง (ในออสเตรเลีย) แต่เมื่อพูดถึงเรื่องสิทธิในการนำอากาศยานลงจอด นั่นก็เป็นเรื่องของรัฐบาลกลางที่จะต้องตัดสินใจ

ด้าน นางมาริส เพย์น รัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลออสเตรเลีย เปิดเผยว่า มีการพูดคุยกับรัฐบาลบรูไนแล้วเกี่ยวกับความกังวลใจของภาคประชาชน และออสเตรเลียเองก็คัดค้านการลงโทษขั้นประหาร อีกทั้งยังยอมรับในสิทธิของชาวรักร่วมเพศ ดังนั้น ออสเตรเลียจะยืนหยัดสนับสนุนสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคต่อไป ส่วนการจะเลือกใช้บริการของสายการบินใดนั้น เป็นสิทธิ์ของแต่ละบุคคลเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของบรูไนจะได้รับผลกระทบรุนแรงจากกฎหมายดังกล่าวนี้ นายเบนจามิน ไรเบิร์ก ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยขององค์กรกฎหมายเพื่อมวลชน The Lawfare Project ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนไม่แสวงผลกำไรในสหรัฐอเมริกา ยกตัวอย่างว่า ความเคลื่อนไหวต่อต้านสายการบินแห่งชาติของบรูไนในออสเตรเลียเป็นหนึ่งตัวอย่างที่แสดงว่า การท่องเที่ยวจะเป็นภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายอิสลามที่รัฐบาลบรูไนนำมาใช้อย่างเข้มงวด บรูไนเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นำกฎหมายอิสลามมาบังคับใช้ในระดับประเทศ เช่นเดียวกับในซาอุดิอาระเบียที่ใช้กฎหมายอิสลามอย่างเข้มงวดเช่นกัน แต่ขณะเดียวกัน องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ก็ระบุไว้ชัดเจนเช่นกันว่า บางบทลงโทษภายใต้กฎหมายอิสลามนั้นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน

 

เอลเล็น เดอเจเนเรส พิธีกรคนดังซึ่งเป็นหญิงรักหญิง ทวิตเรียกร้องให้โลกคว่ำบาตรโรงแรมหรูของบรูไน 9 แห่งในยุโรปและสหรัฐฯ

 

ก่อนหน้านี้ ในฝั่งสหรัฐอเมริกาและยุโรป นักแสดงและบุคคลมีชื่อเสียงระดับโลก นำโดย จอร์จ คลูนีย์ นักแสดงอเมริกัน และ เอลตัน จอห์น ศิลปินนักร้องชาวอังกฤษ รวมทั้ง เอลเล็น เดอเจเนเรส พิธีกรคนดัง ซึ่งเป็นหญิงรักหญิง ได้ออกมาเรียกร้องให้โลกคว่ำบาตรโรงแรมหรู 9 แห่งในยุโรปและสหรัฐฯ ที่มี สมเด็จพระราชาธิบดี "ฮัสซานัล โบลเกียห์" แห่งบรูไน เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือ เป็นสินทรัพย์ของพระองค์ เช่น โรงแรมดอร์เชสเตอร์ ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และโรงแรมเบฟเวอร์ลีฮิลส์ ในนครลอสแองเจลีส สหรัฐอเมริกา

ด้าน องค์การนิรโทษกรรมสากล ได้ออกมาเรียกร้องให้บรูไนระงับแผนบังคับใช้บทลงโทษ "ที่เลวร้าย" นี้ทันทีด้วยเช่นกัน ขณะที่ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ออกแถลงการณ์ว่า สหรัฐฯ ขอคัดค้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการทำร้ายชาวรักร่วมเพศด้วยวิธีการรุนแรง นายโจ ไบเด็น อดีตรองประธานาธิบดีและว่าที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2020 แสดงความเห็นในทวิตเตอร์ของเขาเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า การปาหินผู้มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ หรือ ผู้คบชู้จนถึงแก่ความตาย เป็นเรื่องที่น่าสะอิดสะเอียนและไร้คุณธรรมอย่างยิ่ง ไม่มีข้ออ้าง หรือ เหตุผลใด ๆ สำหรับพฤติกรรมที่แสดงถึงความเกลียดชัง ไร้มนุษยธรรม ไร้วัฒนธรรม และอารยธรรมเช่นนั้น


กระแสโลกร่วมต้าน "กฎหมายปาหินประหารเกย์" คลื่นคนดังรณรงค์คว่ำบาตรสายการบิน-โรงแรม "บรูไน"