'ไมโครซอฟท์' ผลักดัน "เด็กผู้หญิง" เรียนรู้โค้ดดิ้งผ่าน micro:bit

04 เม.ย. 2562 | 03:27 น.


'ไมโครซอฟท์' ร่วมกับ 'สิริเวนเจอร์ส' ต่อยอดแคมเปญ #MakeWhatsNext โครงการสนับสนุนเด็กผู้หญิงกับการประกอบอาชีพในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือ สะเต็มศึกษา (STEM) ในประเทศไทย จัดกิจกรรม #MakeWhatsNext – DigiGirlz 2019 Thailand ผลักดันศักยภาพของเยาวชนหญิงผ่านการเขียนโค้ดสำหรับอุปกรณ์แผงวงจร micro:bit ของบีบีซี

จากรายงานของ World Economic Forum ระบุว่า ช่องว่างระหว่างเพศด้านโอกาสทางเศรษฐกิจทั่วโลกนั้น ยังคงมีขอบเขตที่ต้องใช้ระยะเวลายาวนานเพื่อการแก้ไขอย่างสมบูรณ์ โดยการกำจัดช่องว่างระหว่างเพศนั้น ถูกคาดการณ์ว่า จำเป็นต้องใช้เวลาถึง 202 ปีเลยทีเดียว นอกจากนี้ รายงานฉบับดังกล่าวยังพบว่า จากจำนวนผู้ประกอบอาชีพด้าน AI ทั่วโลก มีเพียง 22 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่เป็นผู้หญิง การพัฒนาเทคโนโลยี AI โดยปราศจากความสามารถที่หลากหลาย ทำให้เราจำกัดความสามารถในการบุกเบิกนวัตกรรมที่ครอบคลุมลงไป และมีโอกาสในการนำเสนอชุดข้อมูลและอัลกอริธึมที่มีการละเลยความลำเอียงทางเพศอีกด้วย

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ 
บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ หากปราศจากมุมมองของผู้หญิงที่มีความรู้ความสามารถในสาขาสะเต็มศึกษา อาจทำให้ขาดปัจจัยที่ก่อให้เกิดโซลูชั่นเชิงสร้างสรรค์ได้ โดยมีการคาดการณ์ที่ระบุว่า หากจำนวนผู้หญิงที่ประกอบอาชีพในสาขาสะเต็มมีไม่เพียงพอจะทำให้เกิดตำแหน่งงานว่างจำนวนหลายหมื่นตำแหน่งในอนาคต รวมถึงการพลาดโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมในอีกหลากหลายรูปแบบ

การสร้างความสนใจ พัฒนา และสนับสนุนผู้หญิงให้เติบโตในสาขาสะเต็มศึกษา มีความสำคัญในการผลักดันคนไทยมีความสามารถหลากหลายด้าน บนความหลากหลายของมุมมอง และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนทุกเพศอย่างเท่าเทียม

กิจกรรม #MakeWhatsNext DigiGirlz 2019 Thailand  มีวัตถุประสงค์ในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กนักเรียนหญิงไทย ให้รับรู้ถึงศักยภาพของตัวเองรับรู้ถึงทิศทางที่ถูกต้องและรู้เส้นทางเพื่อจะสามารถทำตามความฝันด้านสะเต็มศึกษาให้สำเร็จ โดยภายในงานประกอบด้วยเวทีเสวนา "จุดประกายอาชีพมาแรงในยุคปัญญาประดิษฐ์ ทำไมน้องผู้หญิงจึงควรศึกษาในสายวิทยาการคอมพิวเตอร์" รวมถึงการให้ความรู้ด้าน
การเขียนโค้ดสำหรับอุปกรณ์แผงวงจร micro:bit นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังมีกิจกรรมเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้

● 19 เม.ย. 2562 – ทีมผู้เข้าแข่งขัน 9 ทีม ที่ได้รับการคัดเลือกนำเสนอแนวคิดโครงงาน พร้อมรับคำแนะนำจากโค้ชและรับชุด micro:bit เพื่อประดิษฐ์ผลงาน

● 10 พ.ค. 2562 - ทีมผู้เข้าแข่งขัน 9 ทีม นำเสนอผลงานที่ประดิษฐ์ด้วยชุด micro:bit และคณะกรรมการประกาศผลการแข่งขัน

 

'ไมโครซอฟท์' ผลักดัน "เด็กผู้หญิง" เรียนรู้โค้ดดิ้งผ่าน micro:bit

 

"เหตุผลที่เด็กผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่ให้ความสนใจกับสะเต็มศึกษานั้นมีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น อิทธิพลจากคนรอบข้าง ไปจนถึงการขาดบุคคลที่เป็นแบบอย่าง รวมถึงการสร้างการรับรู้ที่บิดเบือนเกี่ยวกับอาชีพในสาขาสะเต็มศึกษา ทำให้จำนวนผู้หญิงที่เข้ามาประกอบอาชีพในสาขาสะเต็มมีจำนวนลดลง การชักจูงให้เด็กผู้หญิงหันมาให้ความสนใจสะเต็มศึกษามากขึ้นนั้น จะต้องใช้วิธีการที่ครอบคลุมและช่วยให้เขามองเห็นโอกาสของอนาคตในการทำงานของเขา ซึ่งจำเป็นจะต้องมีเครื่องมือการเรียนรู้ที่ดี การสนับสนุนที่เหมาะสม และการให้คำปรึกษาที่จุดประกายความสนใจและความคิดสร้างสรรค์แก่เด็กผู้หญิง ไมโครซอฟท์ภูมิใจที่ได้เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนและสนับสนุนเด็กผู้หญิง ให้มีทัศนคติที่เชื่อว่า พวกเขาทำได้ดีและมีกระบวนการทางความคิดที่นำไปสู่การเติบโต และกิจกรรมในวันนี้ ผมเชื่อว่า สามารถเป็นหนึ่งในความคิดริเริ่มที่จะช่วยประเทศไทยในการจัดการปัญหาเกี่ยวกับช่องว่างระหว่างชายหญิงได้สำเร็จ

นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า นักเรียนหญิงระดับชั้นมัธยมศึกษาและคุณครูที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ จะได้รับโอกาสในการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนและแรงบันดาลใจในการเรียนรู้และพัฒนาความสามารถด้านการใช้ทักษะเชิงดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์และชาญฉลาดเพื่อการประกอบอาชีพ ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาสามารถก้าวเข้าสู่สังคมวัยทำงานในยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จในสายอาชีพในสาขาสะเต็มในอนาคต

เด็กนักเรียนหญิงที่เข้าร่วมโครงการได้รับแรงบันดาลใจในการประกอบอาชีพในสาขาสะเต็มจากภาครัฐและภาคเอกชนหลากหลายอุตสาหกรรมในประเทศไทย ประกอบด้วย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa), องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ, บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (ไทย) จำกัด, บริษัท วิจจา จำกัดบริษัท เซ็นโทรวิชั่น จำกัด และบริษัท โอเพ่นดรีม จำกัด

นางสาวอริญชยา ตรีคุณประภา ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท วิจจา จำกัด กล่าวว่า ตั้งแต่เด็ก ก่อนที่จะเริ่มหันมาสนใจเรียนรู้และพัฒนาทักษะสาขาสะเต็ม เราไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าจะมาประกอบอาชีพในสาขานี้ เพราะในอดีต สาขาสะเต็มถูกมองว่าเป็นพื้นที่สำหรับผู้ชาย เนื่องจากบางอาชีพต้องมีการใช้แรง เช่น วิศวกร รวมถึงส่วนตัวแล้วไม่ชอบวิชาคณิตศาสตร์เท่าไรนัก แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนสู่ยุคดิจิทัล ขอบเขตอาชีพในสาขาสะเต็มก็ครอบคลุมถึงการใช้งานเทคโนโลยี ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้หญิงสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้เช่นกัน อีกทั้งยังช่วยให้การคำนวณกลายเป็นเรื่องง่ายยิ่งขึ้น และมีปัจจัยเชิงบวกที่ส่งเสริมผู้หญิงให้ประสบความสำเร็จในสาขาสะเต็มอยู่หลายประการ ไม่ว่าจะเป็น การสนับสนุนผู้หญิงจากผู้ประกอบการต่าง ๆ รวมถึงคุณสมบัติเฉพาะของผู้หญิง เช่น มีความตั้งใจ อดทน ใจเย็น และละเอียดรอบคอบ เป็นต้น

 

'ไมโครซอฟท์' ผลักดัน "เด็กผู้หญิง" เรียนรู้โค้ดดิ้งผ่าน micro:bit

 

นอกจากนี้ ขอฝากคำแนะนำให้กับเยาวชนว่า เทคโนโลยีมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และเชื่อว่า คนที่รู้ภาษาที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี อย่าง "ภาษาโค้ดดิ้ง" จะทำให้คนคนนั้นมีโอกาสในการประสบความสำเร็จมากกว่าคนอื่น เปรียบเสมือนเป็นภาษาที่ 3 ของเด็กในโลกยุค AI
 

'ไมโครซอฟท์' ผลักดัน "เด็กผู้หญิง" เรียนรู้โค้ดดิ้งผ่าน micro:bit