"วังหน้านฤมิต" มิติแห่งกาลเวลา ผัสสะแห่งการเรียนรู้จากศิลปินร่วมสมัย

03 เม.ย. 2562 | 05:11 น.


จากข้อมูลของสำนักงานราชบัณทิตยสภาขยายความถึงวังหน้าไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า ตำแหน่งวังหน้า หรือ ชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ คือ "กรมพระราชวังบวรสถานมงคล" เป็นตำแหน่งพระมหาอุปราช ศักดินา 100,000 ไร่ มีการสถาปนาตำแหน่งนี้ครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชาแห่งกรุงศรีอยุธยาและแต่งตั้งสืบต่อมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ยุบเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล แล้วโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นแทนในปี 2429 ต่อมาในปี 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายมิวเซียมหลวงจากพระบรมมหาราชวังมาไว้ ณ พระราชวังบวรสถานมงคล หรือ วังหน้าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยใช้พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย เป็นห้องจัดแสดงในยุคแรก จนกระทั่งในปี 2476 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลประกาศให้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครสังกัดกรมศิลปากร

 

"วังหน้านฤมิต" มิติแห่งกาลเวลา ผัสสะแห่งการเรียนรู้จากศิลปินร่วมสมัย

 

โดยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้สร้างอาคารจัดแสดงใหม่ ได้แก่ อาคารมหาสุรสิงหนาท ทางฝั่งใต้ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ ทางฝั่งเหนือ นับจากนั้น พิพิธภัณฑสถานที่วังหน้าได้ดำเนินการด้านการอนุรักษ์ ศึกษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ จัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีและศิลปกรรมของชาติแก่ประชาชนชาวไทยสืบต่อมาอย่างต่อเนื่อง และหนึ่งในนั้น คือ นิทรรศการพิเศษ เรื่อง "วังหน้านฤมิตในมิติแห่งกาลเวลา" โดยมี "คุณใหม่-สิริกิติยา เจนเซน" เป็นผู้รังสรรค์เพื่อเล่าเรื่องวังหน้าผ่านการตีความของศิลปินร่วมสมัย

วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา คือ นิทรรศการแนวทดลองจากประวัติศาสตร์วังหน้าในมิติต่าง ๆ ผ่านงานศิลปะร่วมสมัย ถือเป็นการเก็บทุกเกร็ดเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ มาเล่าในมุมมองใหม่ ตามความประสงค์ของคุณใหม่ ที่ว่า "อยากให้มองประวัติศาสตร์ไทยช่วงนี้จากหลากหลายมิติ" จึงได้รวบรวมศิลปินร่วมสมัยและผู้เชี่ยวชาญจากวงการต่าง ๆ อาทิ นักภาษาศาสตร์ นักพฤกษศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ศิลป์ กวี นักร้องประสานเสียง นักออกแบบสิ่งทอ เชฟ ประติมากร และสถาปนิก นักดนตรีกว่า 20 ชีวิต ร่วมกันสืบค้น ศึกษาร่องรอยประวัติศาสตร์ แล้วตกผลึกสู่การสร้างชิ้นงานตามความถนัด ยกตัวอย่างเช่น

 

"วังหน้านฤมิต" มิติแห่งกาลเวลา ผัสสะแห่งการเรียนรู้จากศิลปินร่วมสมัย

 

ภาพยนตร์ 16 มม. ความยาว 2.39 นาที จากคุณธณัฐชัย บรรดาศักดิ์ โดยมุมการเรียนรู้นี้นำเสนอการสร้างงานด้วยภาพยนตร์ 16 มม. ผ่านการทำงานของคนสวนประจำโรงละครแห่งชาติ ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) เพื่อสื่อให้ผู้ชมมองเห็นมือคนสวนกำลังขูดลอกพืชพรรณออกจากร่องระหว่างแผ่นปูพื้นคอนกรีต จากร่องรอยหนึ่งไปอีกร่องรอยหนึ่ง สามารถสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างเวลา-สถานที่และการรับรู้

ผลงาน One Million Years ของ "ออน คาวารา" ถูกคัดเลือกมาเฉพาะสำหรับนิทรรศการนี้ ซึ่งผลงานประกอบไปด้วยหนังสือ 2 เล่ม สำหรับเล่มที่ 1 คือ Past-For all those who have lived and died เขียนอุทิศแด่ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่และผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ส่วนเล่มที่ 2 คือ Future-For the last one เขียนอุทิศแด่ผู้มีชีวิตอยู่เป็นคนสุดท้าย ซึ่งทั้ง 2 เล่ม คัดลอกด้วยตัวเลขจำนวน 2,000 หน้า ถูกจัดวางในรูปแบบเดียวกันตามความตั้งใจของศิลปิน สื่อสารถึงผู้ชมให้เข้าถึงวิธีคิดในเรื่องของเวลา พื้นที่ และการตระหนักรู้ของลมหายใจในการใช้ชีวิต

 

"วังหน้านฤมิต" มิติแห่งกาลเวลา ผัสสะแห่งการเรียนรู้จากศิลปินร่วมสมัย

 

อีกหนึ่งไฮไลต์ที่งดงาม คือ ห่วงเหล็กสลักตัวอักษร เนื้อเพลง ลาวแพน ภาษาไทยและภาษาลาว จำนวน 2 ชิ้น จากผลงาน คุณนิพนธ์ โอฬารนิเวศน์ ผู้ค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ ผ่านการสร้างผลงานศิลปะที่มุ่งเน้นไปที่การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และพื้นที่ ทั้งในแง่กายภาพและเนื้อหาเชิงแนวคิด อีกทั้งยังมีการจัดทำแผนที่แบบมีส่วนร่วม เพื่อตามรอยความทรงจำท้องถิ่นของวังหน้า จากการทำเวิร์กช็อปร่วมกับนักเรียนและนักศึกษา รวมทั้งไปรษณียบัตรสุดสร้างสรรค์สำหรับแจกผู้เข้าชมงาน จากผลงาน "กิติเชษฐ์ ศรีดิษฐ" เป็นนักพฤกษศาสตร์ผู้ชื่นชอบงานจิตรกรรมฝาผนัง

อย่างไรก็ดี ตลอดการเยี่ยมชมนิทรรศการทุกคนจะได้สัมผัสกับศิลปกรรมวังหน้า อาทิ หมู่พระวิมานพระราชมณเฑียรที่ประทับใน 3 ฤดู อาทิ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย รวมทั้งยังสามารถเยี่ยมชมสถานที่สำคัญต่าง ๆ เช่น พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ทั้งนี้ สำหรับภาพรวมของการนำเสนอมุ่งเน้นการเชื้อเชิญให้ผู้ชมเข้าถึงชิ้นงาน โดยไม่ต้องใช้คำบรรยายใด ๆ โดยกลุ่มงานดังกล่าวถือเป็นปรัชญาในการสร้างสถานการณ์เพื่อเร้าผัสสะต่าง ๆ รวมทั้งสื่อสารระหว่างผู้สร้างและผู้เสพงานศิลป์เติมเต็มกระบวนทัศน์ได้อย่างมีอรรถรส

"วังหน้านฤมิต" มิติแห่งกาลเวลา ผัสสะแห่งการเรียนรู้จากศิลปินร่วมสมัย

 

สำหรับนิทรรศการ "วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา" พร้อมต้อนรับและเปิดโอกาสให้ทุกคนร่วมกันเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของพระราชวังบวรสถานมงคลกับศิลปินร่วมสมัยและผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา ตั้งแต่วันนี้ - 28 เม.ย. 2562 ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร การเรียนรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในรูปแบบของการสื่อสารด้วยศิลปะร่วมสมัย นอกจากเชื่อมกาลเวลา หรือ จำลองสถานการณ์ในอดีต ให้เกิดมโนภาพและเร้าผัสสะต่าง ๆ แล้ว ยังสามารถสร้างความเข้าใจให้กับผู้สร้างและผู้เสพงานศิลป์ ตีความหมายและเติมเต็มกระบวนทัศน์ได้อย่างมีอรรถรสบนกรอบพื้นฐานความเป็นไทยได้อย่างภูมิใจและมีคุณค่า

 

"วังหน้านฤมิต" มิติแห่งกาลเวลา ผัสสะแห่งการเรียนรู้จากศิลปินร่วมสมัย

 

หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,457 วันที่  31 มีนาคม - 3 เมษายน พ.ศ. 2562