เปิดรายงาน "ฐานะการคลังของไทย" ไร้ความเสี่ยง-อยู่ในระดับแข็งแกร่ง

02 เม.ย. 2562 | 12:00 น.


เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2562 ที่ศูนย์แถลงข่าวตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล เวลา 17.30 น. นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะทีมโฆษกรัฐบาล แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. มีมติรับทราบรายงานความเสี่ยงทางการคลัง ประจําปี 2561 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ตามมาตรา 78 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ที่กําหนดให้ภายในเดือน มี.ค. ของทุกปี กระทรวงการคลังจัดทํารายงานความเสี่ยงทางการคลังประจําปี ซึ่งอย่างน้อยต้องแสดงผลการประเมินความเสี่ยงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากผลกระทบของเศรษฐกิจมหภาค ระบบการเงิน นโยบายของรัฐบาล และผลการดําเนินงานของหน่วยงานของรัฐ ที่อาจก่อให้เกิดภาระทางการคลังของรัฐบาล และแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงนั้น เพื่อประกอบการพิจารณาจัดทําแผนการคลังระยะปานกลาง

นายณัฐพร กล่าวว่า รายงานความเสี่ยงทางการคลังฯ ได้มีการแสดงผลการประเมินความเสี่ยงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากผลกระทบของเศรษฐกิจมหภาค ระบบการเงิน นโยบายของรัฐบาล และผลการดําเนินงานของหน่วยงานของรัฐ ที่อาจก่อให้เกิดภาระทางการคลังของรัฐบาล และแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงแล้ว โดยรายงานความเสี่ยงทางการคลังฯ แบ่งออกเป็น 5 ภาคส่วนที่สําคัญ ได้แก่ ภาครัฐบาล ภาคกองทุนนอกงบประมาณ ภาครัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (รัฐวิสาหกิจฯ) ภาคสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ภาคองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และภาคการเงิน โดยมีการวิเคราะห์ความเสี่ยงต่อภาระทางการคลังของรัฐบาลใน 4 มิติ ได้แก่ ภาระแบบชัดเจนโดยตรง ภาระแบบชัดเจนที่เป็นภาระผูกพัน ภาระโดยนัยแบบโดยตรง และภาระโดยนัยที่เป็นภาระผูกพัน ซึ่งจากรายงานสรุปได้ว่า เรื่องฐานะทางการคลังก็ยังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง

โดยภาครัฐบาล ในปีงบประมาณ 2561 พบว่า สถานะทางการคลังของรัฐบาลอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ โดยรัฐบาลมีรายได้นําส่งคลังตามระบบกระแสเงินสด จํานวนทั้งสิ้น 2,524,249 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2560 7.2% ในขณะที่ การเบิกจ่ายงบประมาณมีจํานวนทั้งสิ้น 3,007,203 ล้านบาท โดยสามารถเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจําปีได้ 92% ของประมาณการ ส่งผลให้รัฐบาลขาดดุลงบประมาณ จํานวน 482,954 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ 2560 ในขณะที่ เงินคงคลังปลายปีมีจํานวนทั้งสิ้น 633,436 ล้านบาท และสัดส่วนหนี้สาธารณะคิดเป็น 42% ของ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้ประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ที่กําหนดให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ไม่เกิน 50%

ภาคกองทุนนอกงบประมาณในปีงบประมาณ 2561 รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้กองทุนนอกงบประมาณทั้งสิ้น 224,729 ล้านบาท ซึ่งเป็นการจัดสรรงบประมาณให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นอกจากนี้ รัฐบาลยังค้างจ่ายเงินสมทบและเงินอุดหนุนให้แก่กองทุนประกันสังคม จํานวนทั้งสิ้น 95,989 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม โครงสร้างเงินทุนของกองทุนนอกงบประมาณมีสัดส่วนหนี้สินในระดับต่ำ ทําให้ความเสี่ยงด้านการผิดชําระหนี้ของกองทุนนอกงบประมาณในภาพรวมสามารถบริหารจัดการได้ จึงยังไม่มีความเสี่ยงทางการคลังที่เป็นภาระผูกพันจากภาคกองทุนนอกงบประมาณที่มีนัยสําคัญ

ภาครัฐวิสาหกิจฯ ในปีงบประมาณ 2561 พบว่า ความเสี่ยงทางการคลังของภาครัฐวิสาหกิจฯ ยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากสถานะทางการเงินของรัฐวิสาหกิจฯ ในภาพรวมยังอยู่ในระดับแข็งแกร่ง ผลการดําเนินงานปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยกเว้น ในสาขาสื่อสาร และอุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม โดยภาครัฐวิสาหกิจฯ สามารถจ่ายเงินสุทธิให้กับรัฐบาลได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 2561 มีเงินจ่ายสุทธิให้กับรัฐบาล จํานวนทั้งสิ้น 103,152 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2560 62%

อย่างไรก็ดี รัฐบาลยังคงมีภาระทางการคลังจากการรับภาระหนี้แทนรัฐวิสาหกิจฯ ที่มีผลการดําเนินงานขาดทุนต่อเนื่อง ซึ่งเป็นภาระทางการคลังแบบชัดเจนโดยตรง จํานวนทั้งสิ้น 218,405 ล้านบาท ดังนั้น เพื่อลดภาระทางการคลังดังกล่าว รัฐวิสาหกิจฯ ที่อยู่ในแผนการฟื้นฟูองค์กร เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ฯ ควรเร่งดําเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กําหนด รวมทั้งเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกํากับดูแลรัฐวิสาหกิจฯ ติดตามการดําเนินงานของรัฐวิสาหกิจฯ อย่างต่อเนื่อง

ภาคสถาบันการเงินเฉพาะกิจในปีงบประมาณ 2561 พบว่า สถาบันการเงินเฉพาะกิจยังมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดยรัฐบาลไม่มีภาระเพิ่มทุนให้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2562 ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยได้รับเงินเพิ่มทุนจากกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหาผลการดําเนินงานขาดทุน จํานวน 16,079 ล้านบาท ซึ่งยังไม่เป็นภาระต่องบประมาณโดยตรง

 


อย่างไรก็ดี รัฐบาลยังมีภาระคงค้างที่ต้องชดเชยให้แก่สถาบันการเงินเฉพาะกิจ สําหรับการดําเนินการตามนโยบายรัฐ โดย ณ สิ้นปีงบประมาณ 2561 มีจํานวนทั้งสิ้น 855,121 ล้านบาท ดังนั้น รัฐบาลควรตั้งงบประมาณเพื่อชดเชยการดําเนินโครงการนโยบายรัฐให้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจในโอกาสแรกที่กระทําได้ ตามที่กําหนดไว้ใน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

ภาคองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในปีงบประมาณ 2561 พบว่า อปท. มีรายได้เงินอุดหนุนจากรัฐบาล จํานวน 253,792 ล้านบาท และรายได้ที่รัฐบาลแบ่งให้ จํานวน 130,094 ล้านบาท ทั้งนี้ สัดส่วนรายได้ที่ อปท. สามารถเก็บได้เองอยู่ที่เพียง 10.4% ของรายได้รวม ซึ่งแสดงให้เห็นว่า อปท. ยังคงพึ่งพารายได้ส่วนใหญ่จากรัฐบาลเป็นหลัก ดังนั้น อปท. จึงควรเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ในส่วนที่ อปท. เก็บเอง เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากรัฐบาลลง นอกจากนี้ ควรผลักดันให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและกรมบัญชีกลางมีการจัดทําและเชื่อมโยงฐานข้อมูลทางการคลังที่เกี่ยวข้องกับ อปท. เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้องและเป็นประโยชน์ในการดําเนินนโยบายที่เกี่ยวกับ อปท. ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภาคการเงิน ในปีงบประมาณ 2561 พบว่า ภาคการเงินยังมีความแข็งแกร่งและมีความเสี่ยงน้อยที่จะเป็นภาระต่องบประมาณ โดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินยังสามารถชําระหนี้ของกองทุนอย่างสม่ำเสมอ ในขณะที่ ระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีความแข็งแกร่ง ทําให้สถาบันคุ้มครองเงินฝากยังไม่มีความเสี่ยงที่จะต้องเข้าไปรับภาระในการจ่ายชดเชยให้แก่ผู้ฝากเงิน นอกจากนี้ ระบบธุรกิจประกันภัยยังมีระดับความเพียงพอของเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง ดังนั้น จึงยังไม่มีเหตุการณ์ที่จะมีแนวโน้มในการก่อให้เกิดความเสี่ยงทางการคลังของรัฐบาลที่มาจากภาคการเงินอย่างมีนัยสําคัญ