อังกฤษ-อียูพร้อมเผชิญเบร็กซิทแบบไร้ข้อตกลง

02 เม.ย. 2562 | 09:20 น.

การที่สภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษมีมติไม่รับรองข้อตกลงการถอนตัวจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิท) ฉบับปรับปรุงใหม่ที่นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรี ไปเจรจาไว้กับคณะกรรมาธิการยุโรป เป็นครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2562 อีกทั้งยังมีมติควํ่าข้อเสนอ 8 ทางเลือกซึ่งรวมถึงการทำประชามติครั้งใหม่ถามใจคนอังกฤษอีกครั้งว่ายังต้องการเบร็กซิทหรือไม่ ส่งผลให้รัฐบาลอังกฤษเหลือทางเลือกที่สั้นและแคบลงทุกทีเกี่ยวกับการเดินหน้ากระบวนการแยกตัวจากสหภาพยุโรป หรือ อียู อย่างมีข้อตกลงรับรองซึ่งจะนำมาใช้เป็นกรอบแนวทางให้อังกฤษถอนตัวจากอียูได้อย่างมีขั้นตอน และคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์อันดีกับอียูโดยมีข้อตกลงเป็นหลักประกัน เวลานี้อังกฤษแทบไม่เหลือเวลาเพียงพอที่จะตั้งหลัก เพราะเส้นตายที่อียูยอมยืดหยุ่นให้แล้วนั้นได้ขยับจากวันที่ 29 มีนาคม เป็น 12 เมษายนที่กำลังจะมาถึง

ยังคงมีผู้ที่หวังว่ารัฐบาลอังกฤษและรัฐสภาจะสามารถคุยกันได้และมีทางเลือกใหม่มานำเสนอต่ออียูเพื่อขอเลื่อนเวลาการแยกตัวออกไปอีกระยะหนึ่ง แต่จากความล้มเหลวของนางเทเรซา เมย์ ในการยื่นข้อเสนอเบร็กซิทให้สภาพิจารณาซึ่งถูกโหวตควํ่าไม่เป็นท่ามา 3 ครั้งด้วยกัน ทำให้เริ่มมีความวิตกกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า สุดท้ายแล้วอังกฤษอาจจะต้องแยกตัวออกจากอียูในวันที่ 12 เมษายนนี้อย่าง ไร้ข้อตกลง หรือ no-deal Brexit ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง สิ่งที่นักวิเคราะห์พยากรณ์ว่าจะเกิดความ “โกลาหล” และบางคนบอกว่าจะเป็น “หายนะ” ทางเศรษฐกิจของอังกฤษและอียูนั้น มันจะมาในรูปแบบใด และผลกระทบจากเบร็กซิทแบบไร้ข้อตกลงคืออะไร เราจะมาหาคำตอบกัน

อังกฤษ-อียูพร้อมเผชิญเบร็กซิทแบบไร้ข้อตกลง

สำหรับผู้ที่สนับสนุนการแยกตัวออกจากอียูที่เป็นสายฮาร์ดคอร์ พวกเขามองว่า เบร็กซิทแบบไร้ข้อตกลงนั้นไม่ได้เป็นปัญหาอะไร และมันยังดีกว่าการถอนตัวแบบตัดบัวยังเหลือใย หรือ ซอฟต์เบร็กซิท (soft Brexit) ซึ่งแทบไม่ต่างอะไรกับการยังอยู่เป็นสมาชิกอียู แต่การแยกตัวแบบไร้ข้อตกลง (no-deal Brexit) ก็หมายถึงการที่อังกฤษจะต้องแยกตัวออกไปแบบไม่มีช่วงเวลาปรับตัวหรือช่วงเปลี่ยนผ่านที่มีระยะเวลา 21 เดือน การแยกตัวออกอย่างปุบปับนี้ หมายความว่า ทั้งภาคประชาชน ธุรกิจเอกชน และหน่วยงานภาครัฐของอังกฤษที่เคยอยู่ภายใต้กฎกติกาและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในฐานะสมาชิกอียู ก็จะต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน และอย่างน้อยในระยะแรกๆก็จะไม่มีความชัดเจนด้วยว่าอนาคตความสัมพันธ์ทั้งการค้าและการลงทุนกับอียูจะเป็นไปอย่างไร มีงานวิจัยระบุกรณีสมมติฐานที่เลวร้ายที่สุดว่า การแยกตัวออกจากอียูแบบไร้ข้อตกลงจะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของอังกฤษ (จีดีพี) หดหายไป 9.3% ราคาบ้านและที่ดินดิ่งลง 30% และค่าเงินปอนด์ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณปอนด์ละ 1.29 ดอลลาร์ ก็จะอ่อนลงมาที่ 1.10 ดอลลาร์

ในส่วนของการค้านั้น อังกฤษจะหันกลับไปเข้าระบบขององค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) และมีอิสระในการเจรจาทำข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าต่างๆ แต่การที่ไม่ต้องผูกพันกับกฎกติกาเงื่อนไขของอียูแล้ว ก็หมายความว่าสินค้าจากอังกฤษที่จะเข้าสู่ตลาดอียูต้องพบกับอัตราภาษีศุลกากร และในทางกลับกันสินค้านำเข้าจากอียูก็จะมีกำแพงภาษีซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ที่อังกฤษนำเข้าจากอียูมีราคาสูงขึ้น สินค้าผลิตจากอังกฤษที่เคยเข้าตลาดอียูอาจจะพบกับภาวะชะงักงัน เนื่องจากต้องจัดทำใบรับรองใหม่และอาจมีเอกสารอื่นๆที่ต้องแสดงเพิ่มมากขึ้น ฐานการผลิตในอังกฤษที่เคยได้รับความสะดวกสบายจากระบบโลจิสติกส์ และห่วงโซ่การผลิตที่เป็นหนึ่งเดียวกันของอียู อาจพบกับความล่าช้าและมีขั้นตอนมากขึ้นในการนำเข้าชิ้นส่วนหรือวัตถุดิบมาประกอบ ซึ่งนั่นจะทำให้ผู้ผลิตบางราย ย้ายฐานผลิตออกจากอังกฤษเพื่อหลีกเลี่ยงความล่าช้าและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในห่วงโซ่ดังกล่าว งานวิจัยของ สถาบัน Economic & Social Research Institute ชี้ว่า ประเทศในอียูจะได้รับผลกระทบแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับว่าใครมีการค้ากับอังกฤษมากก็จะกระทบมาก เช่น ไอร์แลนด์ส่งออกสินค้า 14% ของทั้งหมดมายังอังกฤษ เยอรมนีส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมจำนวนมากมาอังกฤษเช่นกัน เช่น รถยนต์ยอดส่งออกมาอังกฤษอยู่ที่เกือบ 8 แสนคัน/ปี โดยภาพรวมนักวิเคราะห์มองว่าเบร็กซิทจะทำให้ปริมาณการค้าในอียูลดลง

อังกฤษ-อียูพร้อมเผชิญเบร็กซิทแบบไร้ข้อตกลง

ในแง่การเดินทางข้ามประเทศระหว่างคนอังกฤษและคนของประเทศสมาชิกอียู จะต้องใช้เอกสารและมีขั้นตอนที่ต้องใช้เวลามากขึ้น อนาคตของคนอังกฤษที่ทำงานอยู่ในประเทศสมาชิกอียูปัจจุบันมีราว 1.3 ล้านคน ส่วนคนอียูทำงานอยู่ในอังกฤษก็มีประมาณ 3.7 ล้านคน กฎเกณฑ์การเข้าเมืองและการได้รับอนุญาตให้ทำงานของบุคคลเหล่านี้จะต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงและขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจน

ในส่วนของเงินอุดหนุนที่อังกฤษเคยได้รับจากอียูนั้นก็เป็นอันต้องหมดสิทธิ์ไป เช่นเงินอุดหนุนเกษตรกรในนโยบายร่วมอียูปีละ 3,000 ล้านปอนด์ แต่ขณะเดียวกันอังกฤษก็ไม่ต้องส่งเงินสมทบงบประมาณรายปีปีละ 13,000 ล้านปอนด์ให้กับอียูอีก อย่างไรก็ตาม ในข้อตกลงที่ผู้นำอังกฤษได้เจรจาไว้กับอียูนั้น อังกฤษจะต้องจ่ายเงินราว 39,000 ล้านปอนด์สำหรับการถอนตัวจากสมาชิกภาพอียูหรือที่เรียกกันว่า divorce bill ด้วย 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3458 ระหว่างวันที่ 4-6 เมษายน 2562

อังกฤษ-อียูพร้อมเผชิญเบร็กซิทแบบไร้ข้อตกลง