สรท. ปรับเป้าส่งออกใหม่ คาดทั้งปีขยายตัว 3%

02 เม.ย. 2562 | 06:42 น.


สรท. ปรับประมาณการส่งออกทั้งปีใหม่ คาดทั้งปีขยายตัวอยู่ที่ 3% เตรียมเสนอข้อมูลให้รัฐบาลใหม่พิจารณา รับเอกชนห่วงนโยบายค่าแรง ต้องการให้พิจารณาอย่างรอบคอบ

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สรท. เปิดเผยว่า สรท. ได้มีการปรับประมาณการณ์ส่งออกปี 2562 ใหม่ จากเดิม สรท. ตั้งเป้าไว้ที่ 5% โดยเป้าหมายคาดว่า น่าจะขยายตัวทั้งปีที่ 3% พร้อมกันนี้ อาจจะพิจารณาอีกครั้งหลังไตรมาส 1 ภายใต้สมมุติฐานค่าเงินบาท 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และแนวโน้มภาพรวมเศรษฐกิจจากทั่วโลก ยังได้รับผลกระทบมาตรการกีดกันทางการค้า อย่างไรก็ดี หากการส่งออกทั้งปีจะขยายตัวได้ 5% การส่งออกจากเดือนที่เหลือตั้งแต่เดือน เม.ย. ต้องส่งออกเฉลี่ยอยู่ที่ 22,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และหากทั้งปีส่งออก 3% เฉลี่ยส่งออกเดือนที่เหลือต้องเฉลี่ยอยู่ที่ 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

 

สรท. ปรับเป้าส่งออกใหม่ คาดทั้งปีขยายตัว 3%

 

สำหรับปัจจัยบวกที่จะมีผลกระทบต่อการส่งออกไทยในภาพรวม เช่น การใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ในตลาดที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะ AFTA โตกว่า 13% ตามด้วย จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดีย ทั้งนี้ ทางสภาผู้ส่งออกฯ เตรียมที่จะยื่นหนังสือแสดงท่าทีสนับสนุนการเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ร่วมกับ European Shippers Council (ESC) ต่อด้วย DG-Trade สหภาพยุโรป สภาพสงครามการค้าเริ่มผ่อนคลายจากช่องว่างการขาดดุลการค้าล่าสุดของสหรัฐฯ ต่อจีนลดลง 6% และรัฐบาลสหรัฐฯ พร้อมขยายระยะเวลาการเจรจากับทางการจีนออกไปจนกว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงและจะมีการปรับปรุงนโยบายด้านการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม เช่น การเจรจา Brexit ยังไม่มีความชัดเจน ส่งผลต่อนักลงทุน ทั้งด้านหารเงิน และการผลิตเริ่มย้ายฐานออกจากอังกฤษ เนื่องจากกังวลต่อกฎระเบียบที่ยังตกลงกันไม่ได้ ตลาดส่งออกสำคัญของไทย เช่น จีน ที่เจอกำแพงภาษีจากสหรัฐฯ ทำให้ลดการนำเข้าวัตถุดิบ กึ่งวัตถุดิบ ที่ใช้จากไทยลดลง กดดันต่อภาพการส่งออก รวมถึงตลาดยุโรป ญี่ปุ่น เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว มาตรการขีดกันทางการค้า โดยสภาผู้ส่งออกฯ ที่ต้องการเสนอให้กับรัฐบาลชุดใหม่ที่ต้องการผลักดัน โดยขอให้รัฐบาลชุดใหม่สร้างเสถียรภาพทางการเมือง สนับสนุนการค้าระหว่างประเทศ การเจรจาการค้าภายใต้ข้อตกลงต่าง ๆ FTA RCEP และ CPTPP

ขณะที่ นโยบายการขึ้นค่าแรงที่เป็นนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองอาจจะมีผลทำให้โอกาสที่แรงงานเพื่อนบ้านหลั่งไหลเข้ามา ภาคเอกชนย้ายฐานการผลิต เพราะการขึ้นค่าแรงเป็นแรงกดดันให้กับผู้ประกอบการไม่สามารถปรับตัวได้ ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต ซึ่งจะมีผลต่อการปรับขึ้นราคาสินค้าและค่าบริการ และสำหรับอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และส่วนประกอบ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เป็นต้น โดย สรท. ต้องการให้รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาพิจารณาการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบค่อยเป็นค่อยไป และควรพิจารณาตามขีดความสามารถในการแข่งขันของแต่ละอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ การส่งออกเดือน ก.พ. 2562 มีมูลค่า 21,553 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 5.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 17,519 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 10.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีผลทำให้ไทยเกินดุลการค้า 4,034 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญ ทองคำ เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เหล็กและเหล็กกล้า ผัก ผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป ไก่สด แข่เย็นแช่แข็งและแปรรูป ที่ส่งออกขยายตัว ส่วนสินค้าส่งออกที่ลดลง เช่น ข้าว ยางพารา รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น

 

สรท. ปรับเป้าส่งออกใหม่ คาดทั้งปีขยายตัว 3%