ดีเดย์‘บ้านประชารัฐ’23 มี.ค.

26 มี.ค. 2559 | 02:00 น.
3แบงก์รัฐพรึบ! 23มี.ค.พร้อมรับคำขอกู้ทุกสาขา "ชาติชาย"คาด NPLเพิ่ม 1-2% ขณะที่ " ธอส." ชี้ค่าเฉลี่ยดอกเบี้ย 6 ปีแรกถูกกว่าดอกเบี้ยในตลาด วงเงินกู้ซื้อ/สร้างบ้านไม่เกิน 1.5ล้านบาท กรณีซ่อม/ต่อเติม 5 แสนบาท

[caption id="attachment_40281" align="aligncenter" width="700"] มาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจ[/caption]

ตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบกรอบดำเนินโครงการบ้านประชารัฐ สำหรับผู้มีรายได้น้อยทั้งผู้มีรายได้ประจำ/ไม่แน่นอน อาชีพอิสระไม่เคยมีที่อยู่อาศัยทุกประเภท ราคาไม่เกิน 1.5 หมื่นบาททั่วประเทศทั้งสร้างใหม่บนที่ดินของตนเอง โครงการของเอกชน-หรือก่อสร้างบนที่ดินของรัฐ สร้างเสร็จพร้อมอยู่ และทรัพย์สินรอการขาย(เอ็นพีเอ)ของสถาบันการเงิน บริษัทบริหารสินทรัพย์และกรมบังคับคดี รวมถึงการซ่อมแซมหรือต่อเติมในวงเงินไม่เกิน 5 แสนบาทต่อรายนั้น

นายชาติชาย พยุหนาวิชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน คาดการณ์ว่าจะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือนเพื่อประเมินความต้องการขอรับสินเชื่อบ้านอัตราดอกเบี้ยต่ำดังกล่าว โดยกลุ่มที่กู้ไปต่อเติมหรือซ่อมแซมวงเงินสูงสุดไม่เกิน 5 แสนบาทต่อรายนั้นน่าจะสามารถอนุมัติสินเชื่อได้ก่อนโครงการสำหรับซื้อบ้านหลังแรก หรือเพื่อก่อสร้างบ้านบนที่ดิน โดยจะพิจารณาใครยื่นก่อนเข้าคุณสมบัติจะอนุมัติก่อน โดยคาดว่าโอกาสที่จะเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ประมาณ 1-2%เป็นอัตราควบคุมได้ ขณะที่การปล่อยกู้ที่อยู่อาศัยปัจจุบันมีเอ็นพีแอล 2% ทั้งนี้ สัดส่วนภาระผ่อนชำระหนี้รวมต่อรายได้สุทธิรวม (DTI) ต้องไม่เกิน 50% กำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่เป็นขั้นบันไดในช่วง 6 ปีแรก ระยะเวลาผ่อนสูงสุด 30 ปี

นายฉัตรชัย ศิริไล รองกรรมการผู้จัดการ ธอส. กล่าวว่า การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อรายย่อยนั้น กรณีเอกสารครบถ้วนจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 5วัน ส่วนเอ็นพีแอลน่าจะเพิ่มประมาณ 2.5% ซึ่งใกล้เคียงค่าเฉลี่ยของธอส. สำหรับสินเชื่อผู้พัฒนาโครงการคงต้องใช้เวลากว่า 6เดือนในการประเมินสถานการรณ์หลังจากนี้ ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยเทียบกับตลาดนั้น 3 ปีแรกอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยจะต่ำกว่า 2% ขณะที่ 6ปีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 3.16% กรณียื่นกู้ตั้งแต่ 7แสนบาทถึง 1.5 ล้านบาทในระยะ 6ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 4% ขณะที่หากเทียบอัตราดอกเบี้ยในตลาด ช่วงระยะ 6 ปีอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 5.66% จึงช่วยลดภาระจากการผ่อนระยะยาวรวมถึงเพิ่มความสามารถในการมีบ้าน

"ถามว่าวงเงินเพียงพอหรือนั้น หากมีความต้องการสินเชื่อสำหรับรายย่อยสูงเกิน 2 หมื่นล้านบาทแล้ว จะมีการนำเสนอเข้าบอร์ดบริหารเพื่อพิจารณาอนุมัติวงเงินเพิ่มเติมซึ่งมติครม. ให้อำนาจบอร์ดของธนาคารสามารถอนุมัติขยายกรอบวงเงินเพิ่มเติมได้"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,142 วันที่ 24 - 26 มีนาคม พ.ศ. 2559