ไฟเขียวธปท.ลงทุนหุ้น ‘วิรไท’ เล็งทยอยใส่เงินไม่เกิน 3-4% ปิดเสี่ยงรับตลาดผวน

25 มี.ค. 2559 | 01:00 น.
แบงก์ชาติเดินหน้าขยายการลงทุนในหุ้น รับมือภาวะตลาดโลกผันผวน-ปิดความเสี่ยง หลังครม.ไฟเขียวอนุมัติ เหลือรอกฤษฎีกา/สนช.รับร่าง คาดเบื้องต้นลงทุนไม่เกิน 3-4% จากทุนสำรอง 1.10 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ยันพิจารณารอบคอบก่อนลงทุน ลั่น 5 ปีอยากเห็นแบงก์ไทยสยายปีกในภูมิภาค

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการแก้กฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย ปี 2551 ในการขยายขอบเขตการลงทุนของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ให้สามารถลงทุนในตราสารทุน หรือหุ้นได้ จากเดิมที่กำหนดให้ลงทุนเฉพาะตราสารหนี้ พันธบัตร สกุลเงินตราต่างประเทศ และทองคำ

อย่างไรก็ตามการแก้ไขพ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นการแก้ไขเฉพาะในส่วนของ พ.ร.บ.ธปท.ที่เป็นในส่วนกิจการธนาคารเท่านั้น ไม่ได้เป็นการแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.เงินตราอย่างใด และเป็นขยายขอบเขตการลงทุนให้มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับตลาดโลกและตลาดตราสารหนี้ สกุลเงินต่างๆ ที่มีแนวโน้มผันผวนเพิ่มมากขึ้นและสูงขึ้น

"การขยายการลงทุนไปสู่ตราสารทุน จึงเป็นช่องทางการบริหารความเสี่ยงและการกระจายความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมือนที่ต่างประเทศใช้กัน อาทิ ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ และนอร์เวย์ เป็นต้น โดยหลักการสำคัญจะกระจายความเสี่ยงในผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และยังคงวัตถุประสงค์เน้นการลงทุนที่มีสภาพคล่องเป็นหลักเพื่อพร้อมที่จะนำมาใช้ได้ตลอดเวลา"

ผู้ว่าการธปท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะที่สัดส่วนการลงทุนในหุ้นในช่วงแรก คาดว่าจะทยอยการลงทุนในระดับไม่เกิน 3-4% ของทุนสำรองเฉพาะในส่วนกิจการธนาคารที่มีอยู่ปัจจุบัน 1.10 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากปัจจุบันเงินทุนสำรองระหว่างประเทศทั้งหมดมีอยู่ 1.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งต้องพิจารณาตามภาวะอาจจะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปภายใต้การบริหารความเสี่ยง และการบริหารสภาพคล่องระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ หลังจากครม.อนุมัติจะต้องผ่านขั้นตอนความเห็นชอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกา, สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และจากนั้นจึงนำข้อกฎหมายที่ผ่านจากการเห็นชอบในข้างต้น เข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมการธปท.เพื่อเห็นชอบ และกำหนดกรอบการลงทุนในตราสารประเภทต่างๆ ภายใต้การดูแลความเสี่ยงอย่างรอบด้าน ก่อนที่จะมีการนำทุนสำรองไปลงทุนในหุ้น ทั้งนี้ ยืนยันว่าการลงทุนทั้งหมดไม่ได้ต้องการ จัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อความมั่งคั่งแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดีการขยายขอบเขตการลงทุนดังกล่าว เน้นการกระจายความเสี่ยงและปิดความเสี่ยง เพราะที่ผ่านมาจะเห็นว่าความเสี่ยงส่วนใหญ่จะอยู่ในสกุลเงินตราต่างประเทศไม่ใช่พันธบัตร หากเรามีหุ้นผสมอยู่ด้วยเล็กน้อยจะช่วยลดความเสี่ยงได้ เพราะโดยธรรมชาติสกุลเงินต่างประเทศจะมีความผันผวนประมาณ 10% ต่อปี ซึ่งผันผวนกว่าพันธบัตร และการลงทุนในหุ้นจะช่วยลดการกระจุกตัวความเสี่ยงของค่าเงิน

ส่วนรายได้ลักษณะของหุ้นให้ผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตร แต่จะเห็นว่าเราไม่ได้ลงทุนเยอะ จึงไม่ได้ช่วยเรื่องรายได้แต่ช่วยเรื่องลดความเสี่ยง หรือการจัดพอร์ตอาจจะต้องดูภาพรวม เช่น บางปีผลตอบแทนอาจจะได้ 10% แต่ผลตอบแทนในพันธบัตรอาจจะติดลบ ซึ่งขึ้นอยู่กับช่วงจังหวะและเวลา"

นอกจากนี้ ครม.ได้รับความเห็นชอบแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 3 ตั้งแต่ปี 2559-2563 ภายใต้แนวคิด "แข่งได้ เข้าถึง เชื่อมโยง ยั่งยืน" โดยธปท.วางเป้าไว้ภายใน 5 ปี จะต้องมีสถาบันการเงินของไทย 1 แห่ง สามารถยกระดับเป็นธนาคารที่มีบทบาทสำคัญและสามารถแข่งขันได้ในระดับภูมิภาค และรองรับการเติบโตของลูกค้า ส่วนการจะก้าวไปถึงจุดนั้น อาจจะต้องขึ้นอยู่กับโมเดลธุรกิจของธนาคาร (Business Modal) ส่วนจะขยายในรูปแบบเพิ่มทุน หรือการควบรวมกิจการ (M&A) นั้น ธปท.เชื่อว่าทุกธนาคารจะก้าวด้วยความระมัดระวัง โดยที่ธปท.จะต้องไม่เป็นอุปสรรคในเรื่องของกฎกติกามากนัก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,142 วันที่ 24 - 26 มีนาคม พ.ศ. 2559