ฉีดงบประคองเศรษฐกิจ! 'สมคิด' หวั่นจีดีพีต่ำเป้า - ชงการบ้านรัฐบาลใหม่

01 เม.ย. 2562 | 01:59 น.

มาคุยกับฐาน ทันทุกข่าวสาร แค่เพิ่มเราเป็นเพื่อน คลิกเลย!!!!! LINE : @THANSETTAKIJ 
ฉีดงบประคองเศรษฐกิจ! 'สมคิด' หวั่นจีดีพีต่ำเป้า - ชงการบ้านรัฐบาลใหม่

'สมคิด' สั่งคลัง-สำนักงบฯ หาเงินประคองเศรษฐกิจช่วงรอยต่อรัฐบาล หลังประเมินไตรมาส 2 ซึม หวั่น! กระทบทั้งปีโตตํ่ากว่าเป้า ด้าน สภาพัฒน์เตรียมเสนอสถานะประเทศทุกมิติในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แนวโน้ม 5 ปีข้างหน้า ให้รัฐบาลชุดใหม่จัดทำนโยบาย

ภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วง 2 เดือนแรก แม้ว่ายังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ตัวเลขเศรษฐกิจในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา เริ่มมีสัญญาณการชะลอตัวในบางด้าน เช่น การลงทุนภาคเอกชนในหมวดก่อสร้าง

ขณะที่ การส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องจักรหลักทางเศรษฐกิจก็หดตัว ด้านภาคการท่องเที่ยวก็ยังทรงตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน ประกอบกับการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศต้องใช้เวลาอีกประมาณ 3 เดือน จึงอาจมีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จึงได้สั่งการให้กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณไปพิจารณา ว่า จะสามารถดึงงบประมาณส่วนไหนมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงกลางปี


"ตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสแรกยังขยายตัวได้ดี ไม่มีปัญหา แต่ไตรมาส 2 จะมีปัญหา แม้ว่าจะมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจช่วงสงกรานต์มาช่วย แต่หลังจากนั้นเศรษฐกิจจะแผ่วลง จึงสั่งการให้ทั้ง 2 หน่วยงาน เร่งหามาตรการมากระตุ้นเพิ่มเติม" นายสมคิด เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"


⁍ สศค. เร่งประเมินผลกระทบ

ด้าน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้สั่งการไปยังฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจ ว่า ตัวเลขเศรษฐกิจ เดือน ก.พ. ที่ส่งสัญญาณชะลอตัว ว่า มาจากอะไร ทั้งการลงทุนภาคเอกชน การบริโภค และการส่งออก เพื่อเตรียมมาตรการในการดูแลในภาคส่วนนั้น ๆ เสนอต่อรัฐบาลใหม่ โดยจะเรียงลำดับความสำคัญให้เห็นว่า หากจะกระตุ้นจะเริ่มที่ภาคใดก่อน และดูว่าจะใช้เงินในส่วนไหนได้บ้าง

จากการประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ก.พ. 2562 ของ สศค. พบว่า มีสัญญาณทรงตัว โดยการบริโภคภาคเอกชนสะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บได้ปรับตัวลดลงเล็กน้อย ในขณะที่ ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งยังขยายตัวได้ดี สำหรับการลงทุนภาคเอกชนที่สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์และภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง แต่ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์และเหล็กกลับลดลงเล็กน้อย

ด้าน อุปทาน จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวชะลอลงตามนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมชะลอตัวเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ดัชนีผลผลิตเกษตรและรายได้เกษตรกรยังขยายตัวต่อเนื่องตามราคาสินค้าเกษตรกลับมาขยายตัวเป็นบวกในรอบ 22 เดือน ประกอบกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวสูงสุดในรอบ 73 เดือน ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในและภายนอกประเทศอยู่ในเกณฑ์ที่มั่นคง



⁍ งบสำรองจ่ายเหลือ 1 แสนล้าน

"ตอนนี้เริ่มเห็นชัดเจนแล้วว่า ตัวเลขเศรษฐกิจ 2 เดือนที่ออกมา จีดีพีจะไม่โตไปตามเป้าหมาย เพราะเริ่มเห็นการชะลอ ทั้งการส่งออก การบริโภค การลงทุน แต่ขอรอดูตัวเลขที่ชัดเจนในเดือน มี.ค. อีกครั้ง เพื่อจะได้รู้ว่าจะใส่เงินเข้าไปเท่าไหร่ เบื้องต้น จากการประเมินขณะนี้ มีงบประมาณสำรองจ่ายที่ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจดำเนินการแทนรัฐบาลไปก่อน แล้วรัฐบาลตั้งงบชดใช้ให้ในภายหลัง ตามมาตรา 27 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง กำหนดให้ใช้ได้ไม่เกิน 30% งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ยังมีวงเงินเหลืออยู่ประมาณ 1 แสนล้านบาท" แหล่งข่าว กล่าว

ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้าย เดือน ก.พ. ขาดดุลสุทธิจากด้านสินทรัพย์ตามการลงทุนโดยตรงของนักลงทุนไทยในต่างประเทศ (TDI) จำนวน 1,245 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเฉพาะภาคธุรกิจ 3 อันดับ ประกอบด้วย 1.การผลิตเคมีภัณฑ์ขั้นพื้นฐาน ปุ๋ยเคมีและสารประกอบไนโตรเจน, พลาสติกและยางสังเคราะห์ขั้นต้น 2.การผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมสำหรับรถยนต์ และ 3.การผลิตยานยนต์ ด้านหนี้สินเป็นการไหลเข้าสุทธิจากการกู้ยืมระยะสั้นของสถาบันการเงินที่รับฝากเงิน เพื่อปรับฐานะเงินตราต่างประเทศตามการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้นของผู้ส่งออกสินค้า และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในธุรกิจสถาบันการเงินที่รับฝากเงินจากสิงคโปร์และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จากฮ่องกง

 


⁍ สศช. สรุปภาวะประเทศ

ด้าน นางปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองเลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า คณะกรรมการที่จัดทำรายงานสรุปสภาวะประเทศ ที่มีเลขา สศช. เป็นประธาน ผู้แทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงบประมาณ สภาความมั่นคงแห่งชาติ กรมบัญชีกลาง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นกรรมการ จะจัดทำรายงานสภาวะประเทศส่งมอบให้นายกรัฐมนตรีภายใน 1 เดือน หลังจากที่ประชุมสภาลงมติเลือกนายกฯ

รายงานฉบับนี้จะรายงานถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทุกมิติในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และแนวโน้ม 5 ปีข้างหน้า เพื่อให้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลใช้ในการประกอบการจัดทำนโยบาย เหมือนเอกสารอ้างอิงที่มีรายละเอียดเรื่องสถานะทางการเงิน ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมถึงบอกเรื่องความมั่นคงต่าง ๆ ด้วย ซึ่งจะเป็นลักษณะของตัวเลขที่บอกด้วย ว่า โอกาสในอนาคต เราน่าจะขยายตัวในศักยภาพอย่างไร ขณะที่ คณะกรรมการรวบรวมแผนงานการจัดทำโครงการที่มีเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นประธาน จะรวบรวมแผนงานโครงการและความคืบหน้าทั้งหมดของทุกหน่วยงาน เสนอนายกฯ และรัฐบาลใหม่เช่นกัน

นอกจากนี้ สศช. ยังเตรียมจัดทำรายงานการพัฒนาประเทศไทยในรอบ 5 ปี เจาะจงเรื่องในเชิงนโยบายที่เป็นไฮไลต์จุดเน้นที่สำคัญ เช่น ภาวะเศรษฐกิจภาพรวม รายสาขา จุดอ่อน สถานการณ์ที่อาจจะเป็นปัญหา รวมถึงข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายเศรษฐกิจ สถานการณ์ด้านสังคม สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมลํ้าเรื่องรายได้ การเข้าถึงที่ดินทำกิน การเป็นเจ้าของที่ดิน เรื่องทรัพย์สินเงินทอง รวมถึงบริการสาธารณสุข ประกันสังคม ไปจนถึงการพัฒนาทุนมนุษย์ การศึกษา ระบบตลาดแรงงาน

"ถ้ามองจากการเมือง เราจะเห็นว่า ทุกพรรคมุ่งไปเรื่องการศึกษา ซึ่งสภาพัฒน์เป็นฝ่ายเลขาฯ ของซูเปอร์บอร์ดการศึกษาด้วย และเชื่อว่า ทุกพรรคอยากจะเห็นข้อมูล คือ เรื่องของขีดความสามารถในการแข่งขันในเชิงอันดับที่เป็นจุดแข็ง สภาพความสามารถของธุรกิจอะไรเป็นจุดอ่อน รวมทั้งเอสเอ็มอี รวมไปถึงข้อมูลการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่กำลังเคลื่อน เช่น สมาร์ทซิตี้ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ให้รัฐบาลชุดใหม่เห็นภาพ"


ฉีดงบประคองเศรษฐกิจ! 'สมคิด' หวั่นจีดีพีต่ำเป้า - ชงการบ้านรัฐบาลใหม่
 

⁍ จัดความสำคัญของนโยบาย

ส่วนที่ 3 ที่ต้องรายงานรูปแบบกลไกของการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ สศช. เป็นฝ่ายเลขาฯ ในหลายคณะกรรมการให้รัฐบาลชุดใหม่ เห็นว่า กลไกในการขับเคลื่อนทั้งในและต่างประเทศมีอะไรบ้าง โดยการดำเนินนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่จะถูกกำหนดด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนที่มาจากการหาเสียงได้สัญญาว่าจะทำเรื่องอะไรบ้าง กับส่วนที่ถูกกำหนดไว้

"ทั้ง 2 ส่วนนี้ จะผสมผสานกันและจะเดินร่วมกันอย่างไร เพราะคนมักถามว่าจะมีความขัดแย้งกัน หรือ สอดคล้องกันหรือไม่ แต่โดยส่วนตัวคิดว่า ไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะปกตินโยบายที่มีการหาเสียง มีการลงวิธีปฏิบัติ เช่น ค่าแรง 400 บาท จะสอดคล้องกับในแผน 5 ปี ที่เราอยากจะเพิ่มรายได้ให้กับแรงงานขั้นตํ่าให้ได้ตามนโยบาย ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติ ส่วนเรื่องการจัดลำดับความสำคัญ ก็เป็นเรื่องของแต่ละรัฐบาลแต่ละชุด บางชุดเข้ามาบอกว่า ถ้าแก้ปัญหาความเหลื่อมลํ้าไม่จบ ไม่ทำให้ดีขึ้นเป็นอุปสรรค ก็อาจจะทุ่มเทมากหน่อย แต่บางรัฐบาลบอกว่า แต่เศรษฐกิจต้องไปได้ เพราะไม่มีเงิน ก็อาจจะทุ่มอีกเรื่อง แต่ถ้าดูจากหัวเรื่องมักหนีกันไม่ค่อยพ้น"


……………….

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,457 วันที่ 31 มี.ค. - 3 เม.ย. 2561 หน้า 01-02