"โลกมองไทย" หลังเลือกตั้งยังติดหล่มความขัดแย้ง 'ประยุทธ์' แต้มต่อนั่งนายกฯ

26 มี.ค. 2562 | 09:20 น.

การเลือกตั้งของไทยในสายตานักวิเคราะห์และสื่อจากต่างประเทศนั้น ... เป็นวังวนแห่งความวุ่นวาย ซึ่งเค้าลางความขัดแย้งเริ่มหนักขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง และขณะนี้ แม้การหย่อนบัตรลงคะแนน เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 จะผ่านพ้นไป แต่การประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการก็ถูกเลื่อนหลายครั้งจนน่าสงสัย สื่อต่างชาติหลายค่ายมองว่า รัฐบาลทหารพยายามปูทางไว้หลายมาตรการเพื่อที่จะสืบทอดอำนาจต่อไป และนั่นหมายถึง การสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตจากพรรคพลังประชารัฐ เป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลผสมที่มาจากการเลือกตั้ง แต่หนทางไม่ง่ายดายอย่างที่คิด เพราะท่ามกลางความไม่โปร่งใสหลาย ๆ อย่างเกี่ยวกับการเลือกตั้ง รวมทั้งการเรียกร้องให้ กกต. หรือ คณะกรรมการการเลือกตั้งลาออกทั้งคณะ สะท้อนให้เห็นถึงความ "ไม่ไว้วางใจ" ที่พร้อมจะนำไปสู่ความเดือดดาลที่รอวันปะทุ และความรู้สึกที่คุกรุ่นนี้ก็ได้รับการเติมเชื้อไฟให้ร้อนแรงจนยากที่จะจินตนาการหนทางที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะกลับขึ้นครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างราบรื่น สงบสุข และไร้ความรุนแรง


⁍ จับตาเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ

รายงานของ "บลูมเบิร์ก" สื่อเศรษฐกิจและการเมือง ชี้ว่า อาจจะดูว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีความได้เปรียบ เพราะมีกองหนุนเป็นวุฒิสมาชิก 250 เสียง ที่แต่งตั้งไว้ เพราะฉะนั้นว่ากันตามหลักการ หากพรรคพลังประชารัฐและพรรคการเมืองพันธมิตรรวบรวมเสียงในสภาผู้แทนราษฎรได้เพียง 126 ที่นั่ง (จากทั้งหมด 500 ที่นั่ง) ก็สามารถครองอำนาจการบริหารประเทศ แต่เรื่องนี้ไม่ง่าย ถ้าหากในสภาผู้แทนฯ พรรคฝ่ายค้าน นำโดย เพื่อไทยสามารถครองเสียงข้างมาก นั่นก็หมายความว่า สภาผู้แทนฯ ซึ่งมีสิทธิในการยื่นญัตติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี สามารถใช้กระบวนการนี้ในการโหวต พล.อ.ประยุทธ์ ออกจากตำแหน่งนายกฯ และหากเป็นเช่นนั้น ก็หมายถึงวังวนแห่งการจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ รวมทั้งความเป็นไปได้ที่จะมีการปฏิวัติรัฐประหารกันอีกครั้งเพื่อสยบความวุ่นวายที่เกิดขึ้น

 

"โลกมองไทย" หลังเลือกตั้งยังติดหล่มความขัดแย้ง 'ประยุทธ์' แต้มต่อนั่งนายกฯ

 

เดวิด สเตรคฟัส นักเขียนและผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์การเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ให้ความเห็นว่า กองทัพทำทุกอย่างไว้แล้วเพื่อปูทางสืบทอดอำนาจ รวมทั้งการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาเพื่อสลายความแข็งแกร่งของพรรคการเมืองทรงอิทธิพล อย่าง "เพื่อไทย" ที่มีความโยงใยกับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งปัจจุบันเป็นนักโทษหนีคดี ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่จะหยุดยั้งวิถีของทหาร นอกเสียจากว่าจะมีการต่อต้านคัดค้านอย่างชัดเจน นักวิเคราะห์ผู้นี้เชื่อว่า แม้พรรคสนับสนุนทหารจะแพ้การเลือกตั้ง แต่ทหารก็ยังมีเครื่องมืออีกหลายอย่างรวมทั้งวุฒิสภาที่จะนำมาใช้ในการสืบทอดอำนาจต่อไป


⁍ วังวนการเลือกตั้งและรัฐประหาร

บทวิเคราะห์ที่แสดงทรรศนะเป็นไปในทิศทางเดียวกับ "เดวิด สเตรคฟัส" นั้น ยังพบเห็นได้ในสื่ออื่น ๆ ของโลกตะวันตก เช่น บีบีซี ซีเอ็นเอ็น หรือแม้กระทั่งสื่อใหญ่ของตะวันออกกลาง อย่าง "อัลจาซีรา" บทความที่เขียนโดย นายทักษิณ ชินวัตร ตีพิมพ์ในเว็บไซต์เดอะนิวยอร์กไทม์ส เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ในหัวข้อ "การเลือกตั้งในประเทศไทยถูกชักใย" ยิ่งช่วยตอกยํ้าว่า การยื้อยุดช่วงชิงอำนาจการบริหารประเทศจะไม่จบลงง่าย ๆ และไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นเช่นไร ความเคลือบแคลงสงสัย ไม่ไว้วางใจ ก็จะยังคงมีอยู่ในสังคมไทยต่อไป

ส่วนหนึ่งของ บทความ US and Soros Stab at Thai Elections (สหรัฐฯ และโซรอสกระซวกการเลือกตั้งไทย) ของ โทนี่ คาร์ตาลุชชี นักวิจัยและนักเขียนด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งประจำอยู่ในประเทศไทย เผยแพร่บนเว็บไซต์ m.journal-neo.org ให้มุมมองแนวโน้มสถานการณ์หลังเลือกตั้งไม่แตกต่างกันว่า ไทยยังจะต้องเผชิญวิบากกรรมอันเป็นผลพวงของความขัดแย้งต่อไป

แต่แง่มุมที่เขามองต่างไปจากสื่อกระแสหลัก ก็คือ เขามองว่า ผู้ที่พยายามแทรกแซงการเลือกตั้งของไทยนั้น คือ มหาอำนาจในโลกตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกา และพ่อมดการเงินอย่าง "จอร์จ โซรอส" ที่ใช้เครื่องมืออย่างมูลนิธิ องค์กรเอกชนไม่แสวงผลกำไร และกองทุนสนับสนุนกิจกรรมเคลื่อนไหวต่าง ๆ ชักใยและตักตวงประโยชน์จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

"ไม่ว่าความพยายามของประเทศตะวันตกที่ต้องการเข้ามาแทรกแซงและเปลี่ยนขั้วอำนาจในไทยจะประสบความสำเร็จหรือไม่ วิกฤติการเมืองในประเทศไทยก็มีแนวโน้มจะดำเนินต่อไป ซึ่งอาจจะหมายถึงการมีชุมนุมประท้วงเกิดขึ้นอีก รวมทั้งการใช้กำลังปราบปรามการชุมนุม การใช้ความรุนแรงแบ่งแยกเหลือง-แดงที่จะนำไปสู่จลาจล และสุดท้าย กองทัพ หรือ กระบวนการยุติธรรม ก็อาจต้องเข้ามาแทรกอีกครั้ง" เป็นส่วนหนึ่งของการพยากรณ์และมุมมองที่ต่างชาติมองการเมืองไทย หลังการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์นี้


หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3456 ระหว่างวันที่ 28 - 30 มีนาคม 2562

 

"โลกมองไทย" หลังเลือกตั้งยังติดหล่มความขัดแย้ง 'ประยุทธ์' แต้มต่อนั่งนายกฯ