"2 ขั้ว" ชิงนายกฯ เปิดศึกแย่งพรรคเล็ก

27 มี.ค. 2562 | 07:35 น.

ขณะที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยผลการนับคะแนนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แล้ว 93% นั้น "3 บ.ก.เครือเนชั่น" ซึ่งประกอบด้วย นายสมชาย มีเสน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Nation Group, นายวีระศักดิ์ พงศ์อักษร บรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนายบากบั่น บุญเลิศ บรรณาธิการอำนวยการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ร่วมกันวิเคราะห์ทิศทางการเมืองไทย โดยเฉพาะการจับมือจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลที่เริ่มมีความชัดเจนขึ้น

โดย "นายสมชาย" วิเคราะห์ข้อมูลตัวเลขผลการเลือกตั้งของ กกต. ระบุว่า จากตัวเลขพรรคการเมืองที่ปรากฏ สามารถแบ่งสูตรในการจัดตั้งรัฐบาลได้ ดังนี้


สูตรที่ 1 ขั้วพรรคพลังประชารัฐ ที่มีคะแนนมาเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ประมาณ 7.6 ล้านคะแนน ได้ที่นั่ง 117 ที่นั่ง จะจับมือกับพรรคภูมิใจไทยที่ได้ราว 51 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ 53 ที่นั่ง ชาติไทยพัฒนา 11 ที่นั่ง ชาติพัฒนา 3 ที่นั่ง รวมพลังประชาชาติไทย 5 ที่นั่ง พลังท้องถิ่นไท 3 ที่นั่ง รวมกันจะได้ประมาณ 243 ที่นั่ง

สูตรที่ 2 ขั้วพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีคะแนนรวมทั่วประเทศอยู่ที่ประมาณ 7.2 ล้านคะแนน ได้ 135 ที่นั่ง จับมือกับพรรคอนาคตใหม่ 80 ที่นั่ง เสรีรวมไทย 10 ที่นั่ง ประชาชาติ 6 ที่นั่ง เพื่อชาติ 5 ที่นั่ง ได้ ส.ส. รวมกันอยู่ที่ 235 ที่นั่ง โดยมีกลุ่มพรรคการเมืองขนาดกลางเป็นตัวแปรสำคัญ อาทิ พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 ที่นั่ง เพื่อนไทย 5 ที่นั่ง พลังชาติไทย 1 ที่นั่ง พลังปวงชนไทย 1 ที่นั่ง และรักษ์ผืนป่าประเทศไทย 1 ที่นั่ง ซึ่งรวมกันได้ 14 ที่นั่ง

"พรรคการเมืองกลุ่มนี้มีเสียงรวมกันอยู่ที่ 14 เสียงนี้ สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นขั้วพรรคเพื่อไทย หรือ ขั้วพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะเป็นพรรคใด หากสามารถเก็บได้หมด จะสร้างความได้เปรียบ มีโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาล" นายสมชาย ระบุ

 

"2 ขั้ว" ชิงนายกฯ เปิดศึกแย่งพรรคเล็ก

 

สำหรับพรรคเศรษฐกิจใหม่ของ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ นั้น ... นายสมชายประเมินเบื้องต้น เชื่อมั่นว่าจะมาจับมือร่วมทำงานกับทีมเศรษฐกิจของพลังประชารัฐ ที่มี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นแกนหลัก ได้ไม่ยาก ขณะที่ พรรคเพื่อนไทย ซึ่งเคยเป็นพรรคกลุ่มคนเสื้อแดง ประกาศไม่ร่วมกับกลุ่มพรรคเพื่อชาติของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ เป็นไปได้ที่จะหันไปจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ ขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรองกัน


⁍ "ปชป. - ภท." ตัวแปรสำคัญ

จุดโฟกัสที่น่าสนใจ นายสมชายทิ้งนํ้าหนักให้กับท่าทีของพรรคภูมิใจไทยมากที่สุด โดยระบุว่า เบื้องต้น มีรายงานว่า มีการติดต่อทาบทามให้ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยจากต่างแดน ยื่นเงื่อนไขจะยก "เก้าอี้นายกฯ" ให้

ทั้งนี้ ปรากฎการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 2518 ในสมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เวลานั้น แม้ว่าจะได้ ส.ส. เพียง 18 ที่นั่ง แต่ก็ได้นั่งเก้าอี้นายกฯ มาแล้ว แต่ข้อต่อรองลักษณะนี้ใช้ไม่ได้กับขั้วพรรคพลังประชารัฐ เพราะครั้งนี้ไม่ง่าย เนื่องจากถ้ามาอยู่ฝั่งพรรคพลังประชารัฐจะต้องได้รับการสนับสนุนจาก 250 ส.ว. ที่ต้องลงมติให้ได้ 376 เสียงด้วย จึงจะได้เป็น "นายกรัฐมนตรี" ดังนั้น โอกาสที่พรรคภูมิใจไทยจะจับขั้วกับพลังประชารัฐโดยมีเก้าอี้นายกฯ เป็นเงื่อนไข จึงยากกว่าการจับมือกับพรรคเพื่อไทย

 

อย่างไรก็ดี สำหรับพรรคพลังประชารัฐนั้น ยังมีตัวเลือกอื่นที่น่าสนใจอีก นั่นก็คือ พรรคประชาธิปัตย์ ที่วันนี้ไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีที่สุดต้องจับมือจับขั้วเป็นรัฐบาล ด้วย 3 เหตุผล คือ ประชาธิปัตย์ประกาศชัดเจนแล้ว ว่า จะไม่จับมือกับพรรคเพื่อไทย ในขณะที่ ไม่ได้ปิดประตูเปิดรับพรรคพลังประชารัฐ

"แม้ว่าก่อนหน้านี้ นายอภิสิทธิ์จะบอกว่า ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ไม่ได้บอกว่าจะไม่ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ นอกจากนี้ สถานการณ์วันนี้ พรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น เนื่องจากนายอภิสิทธิ์ได้ประกาศลาออก เท่ากับได้ปลดล็อกเรื่องนี้แล้ว" นายสมชาย ตั้งข้อสังเกต

 

"2 ขั้ว" ชิงนายกฯ เปิดศึกแย่งพรรคเล็ก

 

ประการที่ 2 พรรคประชาธิปัตย์จะตอบรับการจับมือครั้งนี้ เพราะนอกจากจะต้อง "เลียแผล" ตัวเองแล้ว ต้องกลับมาฟื้นฟูตัวเองด้วยการสร้างผลงาน ซึ่งหากยังเป็นฝ่ายค้านก็ไม่มีกำลังที่จะฟื้นกลับมาได้ ทางเลือกเดียว คือ ต้องจับมือเป็นรัฐบาลเพื่อสร้างสรรค์นโยบาย ทำผลงาน ลบคำสบประมาทที่ว่า "พรรคประชาธิปัตย์" ทำอะไรไม่เป็น หากเป็นฝ่ายค้านก็จะอยู่ในลักษณะ "ดีแต่พูด"

ถ้าขั้วรัฐบาลออกมาในลักษณะนี้ หมายความว่า สามารถโหวตตัวนายกฯ แน่นอน หลังจากนั้นค่อยมาช็อปปิ้งพรรคเล็กพรรคน้อยเพื่อแก้ปัญหาเรื่องของจำนวนเสียงที่ต้องรวมกันให้ได้เกิน 270 เสียง เพื่อให้สามารถบริหารรัฐบาลได้ไม่สะดุด สามารถโหวตผ่านร่างกฎหมายต่าง ๆ ได้

 

⁍ ห่วงเสถียรภาพรัฐบาลใหม่

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) หนึ่งในตัวแปรพรรค การเมืองในการจัดตั้งรัฐบาล กล่าวยอมรับว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ได้สร้างความเซอร์ไพรส์ให้อย่างมาก เรียกได้ว่า หักปากกาเซียนของทุกสำนัก ทุกพรรคโดนกันถ้วนหน้า สำหรับพรรคการเมืองใหม่ได้เก้าอี้ ส.ส. มาอย่างไม่คาดคิด ส่วนพรรคการเมืองเก่าก็สูญเสียที่นั่งอย่างไม่คาดคิด บางพรรคก็ไม่คาดคิดว่าจะได้จำนวนที่นั่ง ส.ส. มากอย่างที่ตั้งเป้า

"ผมถือว่า เซอร์ไพรส์มาก ๆ การเลือกตั้งครั้งนี้ มากับกระแสการปฏิรูปการเมือง จังหวะของรัฐธรรมนูญ เทคโนโลยี คนรุ่นใหม่ ทำให้ได้คำตอบเช่นนี้ ซึ่งก็คิดกันไว้แล้วว่าจะต้องพลิกล็อกกันในลักษณะนี้เกิดขึ้นได้ สำหรับผมเซอร์ไพรส์ 2 เรื่อง คือ กรณีที่มีพรรคการเมืองใหม่ ๆ ได้คะแนนเสียงมาก อีกประการ คือ พรรคเก่าแก่สูญเสียที่นั่งที่สำคัญไปอย่างมาก สำหรับผมเองยังหายไปตั้งเยอะ ทั้ง ส.ส.เขตและปาร์ตี้ลิสต์ เรียกได้ว่า เซอร์ไพรส์กันหมด"

 

"2 ขั้ว" ชิงนายกฯ เปิดศึกแย่งพรรคเล็ก

 

ทั้งนี้ จากตัวเลขที่เริ่มปรากฏให้เห็นนั้น นายสุวัจน์ แสดงความกังวลว่า อาจส่งผลต่อเสถียรภาพของการจัดตั้งรัฐบาลได้

"จากตัวเลขทำให้ต้องคิดว่า การจัดตั้งรัฐบาลจะราบรื่นหรือไม่ เพราะตัวเลขที่เห็นกํ้ากึ่ง ทั้งนี้ มองว่า ก็ขึ้นอยู่กับพรรคการเมือง ว่า จะเปิดอกคุยกันมากน้อยเพียงใด แต่จากตัวเลขที่ออกมานั้น เมื่อแบ่งขั้วกันแล้ว เริ่มเห็นว่าต่างก็ใกล้เส้นชัยกันทั้งคู่ กรณีถ้าเอา 250 เสียง เป็นเส้นชัย ต่างใกล้เส้นชัยด้วยกันทั้งคู่ ไม่ทิ้งห่างกันมาก ทั้งนี้ เห็นว่า สำหรับกระบวนการเรื่องตัวนายกฯ จะไม่มีปัญหา ไม่ใช่ประเด็นที่น่ากังวล เพราะเชื่อว่า ด้วยเสียง 250 เสียง จะทำให้สามารถดำเนินกระบวนการได้ตัวนายกฯ ได้

"ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอยู่ในขั้นของการจัดตั้งรัฐบาลที่ต้องได้เสียงมากกว่า 250 เสียง อย่างไรก็ดี มีแนวโน้มเช่นกันว่า สำหรับพรรคเล็กอาจยื่นข้อเสนออ้างว่า ขอดูตัวนายกฯ ก่อนแล้วค่อยพิจารณาเข้าร่วมกับขั้วการเมือง ว่า จะเข้ากับพรรคใด อย่างไรก็ดี เชื่อมั่นว่า สำหรับพรรคการเมืองนั้น ถ้ามีพื้นที่ มีคะแนนให้เล่น จับมือกันได้ที่ 300 ที่นั่ง จะดีกับประเทศ ดีกับรัฐบาล ดีกับความเชื่อมั่นกับต่างประเทศจะดีมาก"

ตรงกันข้าม ถ้าสถานการณ์การเมืองเปลี่ยนบังคับให้ตัวเลขอยู่ที่ 250 ที่นั่ง ดังนั้น ถ้าทุกพรรคต่างล็อกประตูแน่นก็จะลำบาก จากประสบการณ์จะเป็นปัญหา เช่น ไม่สามารถเปิดประชุมสภาได้ เพราะองค์ประชุมไม่ครบ ซึ่งแต่ละคนก็จะมีหน้าที่รับผิดชอบ เป็นกรรมาธิการในแต่ละชุดบ้าง รวมถึงต้องลงพื้นที่ดูแลประชาชน เป็นต้น

"อยากให้การเมืองคุยกัน เพื่อไม่ไปถึงจุดนั้น พรรคการเมืองเห็นแล้วว่า ถ้าเราเดินไปเช่นนั้นแล้วจะเกิดปัญหา รัฐบาลไม่สะดวกที่จะทำงาน รัฐบาลขาดความมั่นใจ ขาดเสถียรภาพ ต่างประเทศไม่มั่นใจ เศรษฐกิจจะแย่ ประชาชนผิดหวังเลือกตั้งมาแล้ว ทุกอย่างก็ยังไม่ดีขึ้น เพราะรัฐบาลบริหารงานไม่ได้ ดังนั้น นักการเมือง พรรคการเมือง คลายล็อกกันได้หรือไม่ อย่างน้อยเราเลือกตั้งกันมาแล้ว ตอนนี้การเมืองต้องมาช่วยกันคิดว่าจะคลายล็อก หรือ ทำอะไรที่เป็นทางออกให้กับประเทศชาติ ให้รัฐบาลมีเสถียรภาพเพื่อที่จะไปทำงานให้กับพี่น้องประชาชนได้" นายสุวัจน์ ระบุ



| รายงาน โดย ทีมข่าวการเมือง

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3456 ระหว่างวันที่ 28 - 30 มีนาคม 2562

 

"2 ขั้ว" ชิงนายกฯ เปิดศึกแย่งพรรคเล็ก