'พาณิชย์' ติดตาม Brexit ใกล้ชิด ชี้! ระยะยาวต้องเตรียมตัว

26 มี.ค. 2562 | 05:01 น.

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ติดตามสถานการณ์ Brexit อย่างใกล้ชิด โดยพบว่า น่าจะส่งผลกระทบต่อไทยในวงจำกัด เนื่องจากไทยมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง เช่น อัตราเงินเฟ้อและการว่างงานที่ต่ำ การเกินบัญชีดุลสะพัดสูง ซึ่งจะทำให้รับมือกับความผันผวนภายนอกได้ดี

สำหรับผลกระทบต่อการส่งออกจากไทยไปสหราชอาณาจักร (UK) และสหภาพยุโรป (EU) ยังไม่เห็นผลที่ชัดเจน โดยการส่งออกไป UK และ EU หดตัวในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2562 แต่เป็นเพราะปัจจัยรายสินค้ามากกว่า Brexit เช่น รถยนต์และส่วนประกอบที่ส่งออกไปยุโรปลดลง เนื่องจากค่ายรถยนต์ย้ายฐานไปผลิตในยุโรปมากขึ้น และคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นการหดตัวตามวัฏจักรของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์

"ประเด็นที่ สนค. ให้ความสำคัญในการติดตาม คือ หากการเจรจาระหว่างอังกฤษและอียูยังยืดเยื้อออกไปนาน ๆ จะส่งผลกระทบต่อการใช้มาตรการต่าง ๆ ที่สินค้าไทยต้องปฏิบัติตามหรือไม่ อย่างไร เช่น โควตานำเข้าสินค้าเกษตรที่อังกฤษนำเข้าอยู่ภายใต้ปริมาณที่ไทยตกลงกับอียู (โควตาภาษี หรือ Tariff Quota) และอัตราภาษีศุลกากรจะใช้อัตราภายใน/นอกโควตาต่อไปหรือไม่ รวมทั้งสินค้าไทยที่ขึ้นท่าในอียูก่อนไปอังกฤษจะได้รับผลกระทบหรือไม่ เสียภาษีอย่างไร"

 

'พาณิชย์' ติดตาม Brexit ใกล้ชิด ชี้! ระยะยาวต้องเตรียมตัว

 

ทั้งนี้ จากข้อมูลบริษัทนำเข้ารายใหญ่ของอังกฤษ ว่า รัฐบาลอังกฤษได้เข้ามาช่วยดูแลไม่ให้การค้าระหว่างประเทศกับประเทศใด ๆ ได้รับผลกระทบในระยะสั้น โดยได้เตรียมแผนรับมือสำหรับสินค้าที่อังกฤษนำเข้าผ่านท่าในอียู เพื่อป้องกันปัญหาการสับสนที่พรมแดน หากเกิดกรณี Hard Brexit หรือ No Deal Brexit สำหรับโควตาสินค้าเกษตรและอัตราภาษีใน/นอกโควตา รัฐบาลอังกฤษจะยังคงใช้ปริมาณและอัตราเดิมเหมือนกับที่อยู่ภายใต้อียูไปก่อน จนกว่าจะมีข้อตกลงกับอียู โดยหลังจาก Brexit มีความชัดเจนขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลอังกฤษจะจัดทำแผนปรับตัวอย่างน้อยสำหรับ 2 ปีข้างหน้า ร่วมกับภาคเอกชนต่อไป ดังนั้น คาดว่า ในระยะสั้น การส่งออกไทยไปอังกฤษจะยังไม่มีผลกระทบที่รุนแรงมาก แต่ระยะยาว ไทยอาจจะต้องเร่งเตรียมตัวเจรจา FTA กับทั้งอังกฤษและอียู เพื่อให้มาตรการต่าง ๆ มีความชัดเจนและเป็นประโยชน์กับภาคเอกชนไทยมากที่สุด

ทั้งนี้ สำหรับสินค้าทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ภายใต้ระบบโควตาภาษี สินค้าไทยจะเสียภาษีศุลกากรในอัตรา MFN ภายใต้ข้อผูกพันใน WTO เนื่องจากไทยกับอียูและอังกฤษ ยังไม่มี FTA ระหว่างกัน ทั้งนี้ การส่งออกไทยไปสหราชอาณาจักร มีสัดส่วน 1.6% ของการส่งออกรวมของไทย ขยายตัว 5.98% ในปี 2560 และหดตัวเล็กน้อยที่ 0.45% ในปี 2561 ส่วนการส่งออกไปตลาดสหภาพยุโรป (ไม่รวม UK) คิดเป็น 8.3% ของการส่งออกรวมของไทย ขยายตัว 8.36% ในปี 2560 ขณะที่ ในปี 2561 ชะลอตัวเล็กน้อย แต่ยังขยายตัวได้อยู่ที่ 6.31% สหราชอาณาจักรนับเป็นตลาดส่งออกอันดับ 3 ของไทยในสหภาพยุโรป รองจากเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ แต่เนเธอร์แลนด์เป็นเมืองท่าจึงมีตัวเลขนำเข้าสูง ส่วนอังกฤษเป็นตลาดที่บริโภคสินค้าไทยจริง จึงเป็นตลาดที่มีความสำคัญมากแห่งหนึ่ง

สำหรับแนวทางการรับมือของกระทรวงพาณิชย์นั้น นอกจากติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดแล้ว ไทยควรเตรียมการเจรจาพันธกรณีและแนวทางการจัดสรรโควตาภาษี ที่ UK และ EU จะใช้หลัง Brexit เพื่อรักษาผลประโยชน์ทางการค้าของไทยไว้ให้ได้มากที่สุด นอกเหนือจากการเจรจาประเด็นการค้าอื่น ๆ เช่น เจาะตลาด Niche Market เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มสัตว์เลี้ยง กลุ่มรักสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมธุรกิจบริการศักยภาพ ได้แก่ Well Being, Digital Content, Logistics สร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการท้องถิ่น เชื่อมโยงสู่ตลาดต่างประเทศ เป็นต้น รวมไปถึงการสร้างโอกาสการค้าการลงทุนในระยะกลาง-ยาว ไทยควรมุ่งเน้นการพัฒนาหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ ควบคู่กับการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับ UK และ EU โดยเฉพาะใช้ประโยชน์จากการที่ UK จะสามารถกำหนดนโยบายและเจรจาการค้ากับประเทศที่ 3 ได้ด้วยตนเอง ซึ่งการเจรจา FTA Thai-EU มีแนวโน้มดีขึ้น โดยรัฐบาลไทยและคณะกรรมาธิการยุโรป รวมถึงภาคเอกชนของทั้ง 2 ฝ่าย ต่างมีท่าทีสนับสนุนให้รื้อฟื้นการเจรจา FTA Thai-EU ภายหลังการเลือกตั้งของไทย

นอกจากนี้ ไทยยังสามารถใช้ประโยชน์จากการหาพันธมิตรใหม่ ทางการค้าของ UK ในการเจรจา FTA ทวิภาคี Thai-UK ซึ่งน่าจะคล่องตัวและมีความคืบหน้าเร็วกว่าการเจรจากับ EU ซึ่งต้องอาศัยความเห็นชอบจากหลายประเทศ ทั้งนี้ การหาพันธมิตรของ UK ในช่วงแรกจะเน้นการจัดทำ FTA กับประเทศที่มีความตกลงกับ EU อยู่แล้ว เช่น แคนาดา ตามด้วยประเทศศักยภาพที่ EU กำลังเจรจา FTA อยู่ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์

"Brexit ยังเป็นโอกาสอันดีในการดึงดูดนักลงทุน EU และ UK ให้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานภาคการผลิตและการบริการของไทยในสาขาที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (High Value-Added) และ EU มีความเชี่ยวชาญ อาทิ ยานยนต์สมัยใหม่ การบินและโลจิสติกส์ นวัตกรรมด้านเกษตรและอาหาร ดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม เป็นต้น ซึ่งสิ่งที่นักลงทุนไทยควรใช้ประโยชน์จาก Brexit ในการหาลู่ทางการค้าลงทุน หรือ กระจายฐานลูกค้าใน EU และ UK เพิ่มขึ้น รวมทั้งเตรียมเครื่องมือในการประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนในภาวะที่ค่าเงินมีความผันผวนสูง เพื่อรักษารายได้ในรูปเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

 

'พาณิชย์' ติดตาม Brexit ใกล้ชิด ชี้! ระยะยาวต้องเตรียมตัว