"อุตฯพลาสติก" แสนล้านระส่ำ! กระแสต้านแรง - ผู้ผลิต 3 พันราย ดิ้นปรับตัว

29 มี.ค. 2562 | 06:05 น.


อุตสาหกรรมพลาสติกแสนล้านระสํ่า! กระแสแอนตี้ขยะพลาสติกลามกระทบ ผู้ประกอบการกว่า 3,000 ราย เร่งปรับตัวเพื่ออยู่รอด ทั้งใช้วัสดุทดแทนผลิตและหาตลาดกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ผนึกรัฐหนุนผู้บริโภคคัดแยกขยะสร้างรายได้เพิ่ม

กรมควบคุมมลพิษรายงานสถานการณ์ขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ปี 2561 ประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยเกิดขึ้นประมาณ 27.8 ล้านตัน ซึ่งแม้ว่าการจัดการขยะมูลฝอยปีที่ผ่านมามีแนวโน้มดีขึ้น จากขยะมูลฝอยที่ถูกคัดแยก ณ ต้นทาง และนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่กว่า 9.5 ล้านตัน แต่อีกด้านหนึ่งกระแสต่อต้านขยะพลาสติกที่ย่อยสลายยากเป็นต้นเหตุให้เต่าทะเลและปลาวาฬ รวมถึงสัตว์อื่น ๆ ตาย จากการกินขยะพลาสติกเข้าไป ได้สร้างกระแสต่อต้านพลาสติกในหมู่นักอนุรักษ์ไปทั่วโลก กระทบถึงผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพลาสติกที่ได้รับผลกระทบและต้องเร่งปรับตัว

นายสุรศักดิ์ เหลืองอร่ามศรี รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" โดยยอมรับว่า กระแสที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกของกลุ่ม 160 ราย รวมถึงทั่วประเทศรวมกว่า 3,000 ราย ต้องเร่งปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ส่วนหนึ่งมีแผนร่วมมือกับภาครัฐ (PPP) ในการรณรงค์ให้ประชาชนคัดแยกขยะภายในบ้าน ซึ่งได้ดำเนินการแล้วที่ จ.ระยอง และกำลังเริ่มโครงการที่คลองเตย ซึ่งการคัดแยกขยะและสามารถนำไปขายได้จะทำให้แต่ละครอบครัวมีรายได้เพิ่ม ขณะที่ พอมีการคัดแยกขยะก็จะมีมูลค่า จะเกิดผู้ประกอบการที่นำขยะไปรีไซเคิลรายใหม่เพิ่มขึ้น และจะแข่งกันให้ราคาสูงขึ้นตามกลไกตลาด จากปัจจุบันมีผู้ประกอบการผูกขาดไม่กี่รายและเป็นคนกำหนดราคา

 

"อุตฯพลาสติก" แสนล้านระส่ำ! กระแสต้านแรง - ผู้ผลิต 3 พันราย ดิ้นปรับตัว


"อีกโมเดลหนึ่งที่ เราคุยกัน คือ การเก็บเงินค่าถุงพลาสติกจากผู้บริโภคที่เข้าไปใช้บริการในร้านสะดวกซื้อ หรือ โมเดิร์นเทรด เช่น ถ้าต้องการถุงต้องจ่าย 1 บาท ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเลือกเอาถุงไซซ์ใหญ่สุดเพื่อใส่ของและสามารถเอาไปเก็บและแยกขยะต่อได้ จากปัจจุบัน ในไทยทั้งระบบมีการใช้ถุงก๊อบแก๊บมากกว่าหมื่นล้านใบต่อปี ซึ่งเงินที่ทางห้างเก็บส่วนหนึ่งให้เอามาใส่กองทุนเพื่อให้ความรู้คนเรื่องคัดแยกขยะต่อไป"

สำหรับทิศทางการปรับตัวของผู้ประกอบการโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกเวลานี้ เช่น การเพิ่มมูลค่าของเสียจากการผลิต เช่น ในส่วนของ บริษัท ทานตะวันอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) ที่ตนเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการได้มีการคัดแยกขยะจากวัตถุดิบ หรือ วัสดุในการผลิตไว้เป็นหมวดหมู่ เช่น เศษกระดาษ เศษผ้า และอื่น ๆ ซึ่งขยะเหล่านี้แต่ละปีขายได้เป็นแสนบาท

 

"อุตฯพลาสติก" แสนล้านระส่ำ! กระแสต้านแรง - ผู้ผลิต 3 พันราย ดิ้นปรับตัว

 

นอกจากนี้ มีการนำเครื่องจักรอัตโนมัติ รวมถึงแขนกลต่าง ๆ มาใช้ในไลน์ผลิตทดแทนแรงงาน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการสูญเสีย, การใช้วัสดุอื่นทดแทนพลาสติก เช่น ไบโอพลาสติกจากข้าวโพด  มันสำปะหลัง ในการผลิตสินค้า ซึ่งในส่วนของบริษัทประสบความสำเร็จในการผลิตหลอดที่ย่อยสลายได้จากไบโอพลาสติก คาดในส่วนนี้จะทำรายได้ให้บริษัทกว่า 100 ล้านบาทในปีนี้

"อุตสาหกรรมพลาสติกไทยผลิตได้ครบวงจร ปีที่ผ่านมา ไทยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกกว่า 1.3 แสนล้านบาท ขณะที่ มูลค่าตลาดในประเทศก็เป็นแสนล้าน และคาดว่าใหญ่กว่าตลาดส่งออก แต่ไม่มีใครรวบรวมตัวเลขและไทยยังมีการส่งออกเม็ดพลาสติกปีที่ผ่านมาอีกกว่า 3.3 แสนล้านบาท จะเห็นได้ว่า เราติด 1 ใน 10 อุตสาหกรรม ที่มีส่วนสำคัญต่อจีดีพีประเทศ เวลานี้ผู้ประกอบการได้เร่งปรับตัวเองให้เข้ากับเทรนด์โลก"


หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,456 วันที่ 28-30 มีนาคม 2562

 

"อุตฯพลาสติก" แสนล้านระส่ำ! กระแสต้านแรง - ผู้ผลิต 3 พันราย ดิ้นปรับตัว