โลกมองเลือกตั้งไทย "พายเรือในอ่าง"

24 มี.ค. 2562 | 13:48 น.

บทความจากเว็บไซต์สภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (www.cfr.org) หรือ Council on Foreign Relations (CFR) ซึ่งเป็นองค์กรทรงอิทธิพลในระดับโลก สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา ได้วิเคราะห์สถานการณ์หลังการเลือกตั้งของไทยไว้ว่า ยิ่งการเลือกตั้งใกล้เข้ามา ก็ดูไม่มีทีท่าว่าความตึงเครียดทางการเมืองของไทยจะคลี่คลายลงได้ ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นอย่างไร ในทางตรงกันข้าม ดูเหมือนประเทศไทยจะถูกกำหนดชะตาให้ต้องพบกับความไร้เสถียรภาพทางการเมืองต่อไป และความไร้เสถียรภาพที่ว่านี้ก็อาจจะมาในหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นอย่างไร

ซึ่งสมมติฐานแรก ก็คือ 1) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตพรรคพลังประชารัฐ ได้กลับมาเป็นผู้นำรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง และเป็นฝ่ายรวบรวมแนวร่วมในสภาผู้แทนราษฎรมาจัดตั้งรัฐบาลผสม ผนวกกับการสนับสนุนจากวุฒิสภา ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยฝ่ายทหารเอาไว้แล้ว

สมมติฐานนี้มีความเป็นไปได้มาก เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการเสียงจากสภาผู้แทนฯ เพียง 126 เสียง ก็เป็นนายกฯ ได้แล้ว เนื่องจากเสียงสนับสนุนจากวุฒิสภาจะเทมาทางนี้อยู่แล้ว และเพื่อเพิ่มความมั่นใจมากขึ้น ว่า จะได้รับชัยชนะ พล.อ.ประยุทธ์ เดินสายในต่างจังหวัดด้วยภาพลักษณ์ที่นุ่มนวลมากขึ้น แตกต่างไปจากภาพผู้นำขี้หงุดหงิดและดุดันที่ผู้คนคุ้นตา แต่กระนั้น ก็ยังไม่มีอะไรให้แน่นอนใจได้ ว่า กลยุทธ์ดังกล่าวจะได้ผลและพรรคพลังประชารัฐจะได้เสียงสนับสนุนที่เพียงพอจัดตั้งรัฐบาล อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเมื่อผนวกเข้ากับพรรคแนวร่วมอื่น ๆ ในสภาผู้แทนฯ พลังประชารัฐจะสามารถกวาดเสียงสนับสนุนได้มากพอจัดตั้งรัฐบาลและดัน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

แต่ถามว่า เมื่อกลับมาเป็นนายกฯ ในรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้ง เขาจะบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ นักวิเคราะห์ของ CFR ไม่มั่นใจนัก เนื่องจาก 5 ปีที่ผ่านมา ในฐานะนายกฯ เขาเป็นผู้นำที่ไม่มีความอดกลั้น เมื่อมีผู้วิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความไม่เห็นด้วย อีกทั้งยังไม่มีแนวคิดเกี่ยวกับการลดปัญหาความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่าง ๆ มากนัก นอกจากนี้ ในช่วง 5 ปีที่เขาเป็นผู้นำรัฐบาล ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานน้อยมาก หรือแม้แต่การแก้ไขปัญหาในระบบการศึกษาของไทย การแก้ไขปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือแม้กระทั่งการแก้ไขปัญหาความแตกแยกทางการเมือง ก็มีความคืบหน้าเพียงน้อยนิด เชื่อว่าหากได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป เขาจะต้องปรับเปลี่ยนสไตล์การทำงานให้เปิดกว้างและเป็นอิสระมากขึ้น ต้องทำงานร่วมกับพรรคฝ่ายค้าน และสื่อมวลชนต้องได้รับอิสระเสรีมากขึ้น ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นในเชิงคัดค้านได้ ท่ามกลางบริบทเช่นนี้ จึงไม่เชื่อว่า เขาจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าตอนเป็นผู้นำในรัฐบาลทหาร
 

สมมติฐานที่ 2 คือ พรรคที่มีแนวคิดต่อต้านทหารสามารถรวมตัวจัดตั้งรัฐบาลผสม นั่นหมายถึงการได้คะแนนเสียง 376 ที่นั่งจากทั้งหมด 500 ที่นั่งในสภาผู้แทนฯ และสามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี แม้ว่าจะดูเป็นไปได้ยากกว่าสมมติฐานแรก จากแรงกดดันหลายทางก่อนการเลือกตั้งและอีกหลายอุปสรรคทางรัฐธรรมนูญ แต่ความเป็นไปได้ก็ยังมีอยู่ โดยคาดว่า พรรคเพื่อไทย อนาคตใหม่ และแม้แต่ประชาธิปัตย์ ที่ยังไม่ได้ปฏิเสธการเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสมเสียทีเดียว ก็อาจเป็นฝ่ายรวบรวมคะแนนเสียงได้มากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลและเลือกนายกรัฐมนตรี แต่หลังจากจัดตั้งรัฐบาลไปแล้ว ก็อาจจะต้องพบเจอกับอุปสรรคที่เป็นด่านโหดหินทางการเมือง เนื่องจากกองทัพยังมีอำนาจอยู่จะไม่ปล่อยให้รัฐบาลผสมที่ต่อต้านทหารเถลิงอำนาจ แต่ฝ่ายรัฐบาลเองก็เป็นไปได้ที่จะพยายามเข้ามาปฏิรูปกองทัพ ตัดทอนงบกลาโหม และเข้ามาควบคุมกองทัพมากขึ้น กกต. อาจเข้ามาตรวจสอบและให้ใบแดงฝ่ายต่อต้านทหารและให้จัดเลือกตั้งใหม่ในหน่วยนั้น ๆ เพื่อทำให้อำนาจของฝ่ายต่อต้านทหารในสภาผู้แทนฯ อ่อนแรงลง

บทวิเคราะห์ของ CFR เชื่อว่า มีความเป็นไปได้ที่พรรคอนาคตใหม่จะถูกสั่งยุบและประชาธิปัตย์อาจถูกหักแขนให้มาเข้าฝั่งพลังประชารัฐ หากเป็นเช่นนี้ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองก็จะกลับมาอีกครั้ง ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งที่สนับสนุนฝ่ายไม่เอาทหารจะโกรธแค้น และนี่ก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะทำให้รู้สึกมีความหวังในทางบวกหลังการเลือกตั้งครั้งนี้

 

……………….

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,455 วันที่ 24 - 27 มี.ค. 2562 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
'มิถุนายน' เห็นโฉมนายกฯ คนที่ 30 - ครม.ชุดใหม่
นับแล้ว 89% พปชร. 7 ล้านคะแนน แซงเพื่อไทย ที่ได้ 6 ล้าน ปชป. ร่วงอันดับ 5 แพ้อนาคตใหม่-ภูมิใจไทย

 

โลกมองเลือกตั้งไทย "พายเรือในอ่าง"