อยู่บนภู : พรรคที่ 1 ไม่เสมอไปที่ได้ตั้งรัฐบาล อย่าอ้างหลักการผิดๆ

22 มี.ค. 2562 | 10:56 น.

อยู่บนภู : พรรคที่ 1 ไม่เสมอไปที่ได้ตั้งรัฐบาล อย่าอ้างหลักการผิดๆ

ไม่มีหลักการประชาธิปไตยหรือตำราเล่มไหนบอกไว้ว่าให้พรรคที่ได้จำนวนมากสุดจัดตั้งรัฐบาลก่อน

การเลือกตั้งใหญ่ 24 มีนาคม 2562 เป็นการเลือกตั้งในรอบ 8 ปี ก่อนเข้าสู่การเลือกตั้งจึงมีความคึกคักเป็นอย่างยิ่ง แต่มักจะเป็นความคึกคักในบรรดานักการเมืองเสียมากกว่า ในการงัดกลยุทธ์แย่งชิงที่นั่ง ส.ส.เพื่อก้าวสู่อำนาจอย่างเมามันและไม่มีการลดราวาศอก

อ้างหลักการประชาธิปไตยพรํ่าเพรื่อ สุดแท้แต่ตีความเข้าข้างตัวเอง บ้างก็พูดดักคอเพื่อตีกันล่วงหน้าไม่ให้ขั้วการเมืองตรงข้ามตั้งรัฐบาล

แน่นอนว่าในการเลือกตั้งรอบนี้ โดยกรอบของรัฐธรรมนูญที่ร่างออกมานั้น ให้ทุกคะแนนมีค่า ในระบบการคิดคะแนนแบบจัดสรรปันส่วนผสม โดยส.ส.เขต 350 ที่นั่งและปาร์ตี้ลิสต์ 125 ที่นั่ง (คิดจากคะแนนรวมที่ได้ทั้งประเทศก่อนมาหารเฉลี่ยได้จำนวนส.ส.ที่พึงมี) จึงจะไม่มีพรรคใดพรรคหนึ่งได้ที่นั่งส.ส.เกินกึ่งหนึ่ง (251 คน) ของสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 500 คน

เมื่อไม่มีพรรคใดได้ที่นั่งเด็ดขาด จึงต้องนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลผสม ซึ่งคะเนกันว่าจะได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพต้องมีเสียงส.ส.สนับสนุนรัฐบาล 270-280 เสียง พวกส.ส.จะได้เข้าห้องนํ้ากันได้ ในระหว่างการประชุมและมีการโหวตนับองค์ประชุมในระหว่างนั้น

เมื่อไม่มีที่นั่งเด็ดขาด จึงต้องจับคู่ จับขั้วทางการเมืองและสร้างกระแสเพื่อสร้างความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล โดยเฉพาะการอ้างหลักการประชาธิปไตยว่าต้องให้สิทธิพรรคที่ได้รับเลือกส.ส.มาเป็นอันดับ 1 ได้จัดตั้งรัฐบาลก่อน
อยู่บนภู : พรรคที่ 1 ไม่เสมอไปที่ได้ตั้งรัฐบาล อย่าอ้างหลักการผิดๆ
อยู่บนภู : พรรคที่ 1 ไม่เสมอไปที่ได้ตั้งรัฐบาล อย่าอ้างหลักการผิดๆ


อันที่จริงไม่มีหลักการประชาธิปไตยหรือตำราเล่มไหนบอกไว้ว่าให้พรรคที่ได้จำนวนมากสุดจัดตั้งรัฐบาลก่อน การจัดตั้งรัฐบาลขึ้นอยู่กับผู้ที่รวบรวมเสียงข้างมากได้มากกว่าในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะต้องยึดจากเสียงหรือมือโหวตของส.ส.ซึ่งเป็นเจตจำนงของประชาชนในการโหวตเลือกนายกฯและนำไปสู่การตั้งรัฐบาล

เที่ยวนี้รัฐธรรมนูญกำหนดให้ สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโหวตนายกรัฐมนตรีด้วย ซึ่งการเรียกร้องให้ส.ว.ฟังเสียงประชาชนในการโหวตเลือกนายกฯ จะเป็นหลักการที่ฟังดูตรง เข้าท่ามากกว่าหลักที่ปั่นกระแสให้พรรคได้ที่นั่งมากได้สิทธิตั้งรัฐบาลก่อน ถ้าหากเราคิดถึงและเคารพเจตจำนงของประชาชนอย่างที่นักวิชาการหรือนักการเมืองหลายคนออกมาพรํ่าเตือน

ไปดูกรณีผู้ที่ได้เสียงน้อยแต่สามารถรวบรวมเป็นเสียงข้างมากขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เมื่อปี 2518 ในการเลือกตั้งครั้งนั้น ไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากเกินครึ่งหนึ่งคือ 135 เสียง โดยพรรคประชาธิปัตย์มาอันดับ 1 ที่ 72 เสียง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้ดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยเพียงเมื่อแถลงนโยบายต่อรัฐสภาได้รับความเห็นชอบ 111 คะแนน และไม่เห็นชอบ 152 คะแนน ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ต้องลาออกจากนายกรัฐมนตรีในระยะเวลาไม่กี่วัน

หลังจากนั้นม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคมที่มีเสียงเพียง 18 เสียงและเป็นพรรคที่ได้เสียงอันดับท้ายได้เป็นแกนนำรวบรวมเสียงส.ส.จัดตั้งรัฐบาลผสม 8 พรรคการเมือง ได้รับเสียงสนับสนุนเกินครึ่งของสภา 135 เสียงเป็นนายกรัฐมนตรี

ระยะเวลาใกล้ๆ ไม่กี่สมัยที่ผ่านมาเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2539 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ พรรคความหวังใหม่กับนายชวน หลีกภัย พรรคประชาธิปัตย์ ระหว่างการนับคะแนนจำนวนที่นั่งส.ส.สูสีเท่ากัน แต่เกิดเหตุไฟดับระหว่างการนับคะแนนในพื้นที่จ.ปทุมธานี เสียงของพรรคความหวังใหม่ จึงพลิกกลับมาชนะแค่เส้นยาแดงด้วยจำนวน 125 ต่อ 123 ที่นั่ง แต่ด้วยความเป็นสุภาพบุรุษของนายชวน จึงเปิดโอกาสให้พล.อ.ชวลิต รวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล

ทั้ง 2 กรณีคงพอแลเห็นว่าไม่ใช่ว่าพรรคที่ 1 จะได้ความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลและการอ้างเช่นนั้นหาใช่เรื่องหลักการประชาธิปไตยแต่อย่างใด ถ้าเป็นประชาธิปไตยจริงต้องเคารพเสียงส.ส.ที่เป็นเสียงของผู้แทนประชาชนมากกว่า


| คอลัมน์ : อยู่บนภู
| โดย : 
กระบี่เดียวดาย
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3455 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 24-27 มี.ค.2562
อยู่บนภู : พรรคที่ 1 ไม่เสมอไปที่ได้ตั้งรัฐบาล อย่าอ้างหลักการผิดๆ