"มิถุนายน" เห็นโฉม "นายกฯคนที่ 30 - ครม.ชุดใหม่"

24 มี.ค. 2562 | 13:55 น.

"24 มีนาคม" กาบัตรใบเดียวได้ถึง 3 คือ ได้ ส.ส.เขต ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค และได้นายกรัฐมนตรีใหม่ ที่จะมาฟอร์มคณะรัฐมนตรีชุดใหม่มาบริหารบ้านเมืองต่อไป

โดยหลัง "ปิดหีบ" ที่คราวนี้กำหนดเวลาไว้ที่ เวลา 17.00 น. แล้ว แม้การประกาศผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังอีกไกล เพราะมีขั้นตอนที่มีกรอบเวลาตามกฎหมายกำกับไว้ แต่การเมืองจะขับเคลื่อนต่อทันที


⁍ 51.4 ล้านเสียง ชี้ชะตา ปท.

การเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม สร้างปรากฏการณ์หลายอย่าง ทั้งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบจัดเลือกตั้งใหม่ เป็นการเลือกตั้งที่สำเร็จ (หากไม่มีเหตุแทรกซ้อน) ครั้งแรกในรอบ 8 ปี นับแต่การเลือกตั้งปี 2554 ในห้วงความขัดแย้งยืดเยื้อทางการเมือง เพื่อกลับสู่เส้นทางประชาธิปไตยอีกครั้ง

ทำให้เกิดความตื่นตัวอย่างกว้างขวาง ทั้งซีกพรรคการเมืองและนักการเมืองที่ลงสนามถึง 11,181 คน จาก 81 พรรคการ เมือง มีพรรคถูกยุบก่อนวันเลือกตั้ง มีผู้ยื่นขอใช้สิทธิล่วงหน้ากว่า 2 ล้านคน พรรคการเมืองออกนโยบายหาเสียงสู้กันสร้างทางเลือกให้ประชาชนที่ให้ความสนใจต่อเนื่อง คาดว่าจะมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งสูงกว่าทุกครั้ง โดยอาจสูงถึง 85%

การเลือกตั้ง วันที่ 24 มีนาคม 2562 ข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทย (ณ ก.พ. 2562) ระบุ มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศทั้งสิ้น 51,419,975 คน เป็นชาย 24,801,527 คน หญิง 26,618,448 คน

ทั้งนี้ กลุ่ม First Voter หรือ ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรก คือ กลุ่มอายุ 18-25 ปี มีจำนวน 7,339,772 คน เป็นที่หมายตาของหลายพรรค เพราะผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนดังกล่าว คำนวณแล้วจะได้ผู้แทน 80-100 คนทีเดียว ถึงกับมีนโยบายคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ หรือ ประกาศตัวเป็นพรรคของคนรุ่นใหม่

อย่างไรก็ตาม ความตื่นตัวไปใช้สิทธิเลือกตั้งคราวนี้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและทุกกลุ่มอายุ หากออกไปใช้สิทธิกันอย่างล้นหลาม อาจผ่าทางตันที่หลายฝ่ายหวั่นว่า การเมืองจะติดล็อก เพราะจากคะแนนพื้นฐานพรรคตัวเลข ส.ส. ที่ได้ไม่มีใครชนะขาด

ขณะที่ ต่างเสนอตัวเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาลและตั้งเงื่อนไขไม่ร่วมกับพรรคที่เหลือ พลังเงียบ หรือ กลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 51.4 ล้านคน จึงเป็นตัวแปร หากเทให้พรรคไหนเหมือนมอบสิทธิให้ได้จัดตั้งรัฐบาลและกำหนดตัว นายกฯคนใหม่เป็นการกำหนดเส้นทางเดินประเทศจากนี้ไป

 

"มิถุนายน" เห็นโฉม "นายกฯคนที่ 30 - ครม.ชุดใหม่"

 

⁍ 9 พ.ค. ประกาศผลเลือกตั้ง

หากแต่จากหีบเลือกตั้งไปถึงได้ตัว ส.ส. และนายกฯ นั้น หลังปิดหีบในเวลา 5 โมงเย็นของวันเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม และนับคะแนนหาผู้ชนะของแต่ละเขต ซึ่งคาดว่าจะรู้ผลใน 2-3 ชั่วโมงแล้วนั้น ได้เพียง "ว่าที่ ส.ส.เขต" จากผลการนับคะแนนเลือกตั้งของ 350 เขตเลือกตั้งเท่านั้น

คณะกรรมการการเลือกตั้งยังมีขั้นตอนในการติดตาม ตรวจสอบ รวมถึงรอฟังว่าจะมีใครร้องให้ตรวจสอบการเลือกตั้งที่จัดไปหรือไม่ หากพบเหตุทุจริตทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริต หรือ เที่ยงธรรม ต้องแจกใบแดงใบส้ม ลงโทษผู้กระทำผิด และจัดการเลือกตั้งใหม่ เขตไหนตรวจสอบแล้วเชื่อได้ว่า ผลการเลือกตั้งที่จัดไปในแต่ละเขตเป็นไปโดยเรียบร้อย โปร่งใส เป็นธรรม ก็จะประกาศ "ผลการเลือกตั้ง" เป็นการรับรอง ว่า ผ่านกระบวนการตามกติกสได้เป็น ส.ส. ระบบเขตเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ

ซึ่ง กกต. ต้องประกาศผลการเลือกตั้งให้ได้อย่างน้อย 95% ภายใน 60 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง เพื่อให้กระบวนการเรียกประชุมรัฐสภาเดินหน้าต่อได้ แต่ครั้งนี้ กกต. จะใช้เวลาประมาณ 45 วัน โดยจะประกาศผลการเลือกตั้งภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 เพื่อให้อยู่ในกรอบเวลา 150 วัน ที่ต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จตามรัฐธรรมนูญ

ภายในวันที่ 9 พฤษภาคม ได้ชื่อ ส.ส.เขตเลือกตั้ง 350 คน รวมทั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ อีก 150 คน ที่แต่ละพรรคจะได้ตามสัดส่วนจากคะแนนเสียงจากผู้สมัคร ส.ส.เขตของพรรคทั่วประเทศ


⁍ ได้รัฐสภาใหม่กลาง พ.ค.

ขั้นตอนถัดมา หลังจากประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อแล้ว ในกำหนด 3 วัน หรือ ภายในวันที่ 12 พฤษภาคม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะพิจารณา ส.ว. 50 คน จากบัญชี 200 คน คัดเลือกกันเองจากระดับอำเภอ จังหวัด ถึงระดับชาติ และอีก 194 คน จากบัญชี 400 รายชื่อ ที่คณะกรรมการสรรหาจัดทำมา รวมกับ ส.ว. โดยตำแหน่ง 6 คน จากผู้นำเหล่าทัพ รวมเป็น 250 คน เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่งตั้ง

เมื่อได้ ส.ว. 250 คนแล้ว ทำให้องค์ประกอบรัฐสภาครบถ้วน คือ มีทั้ง ส.ส. 500 คน และ ส.ว. 250 คน

ขณะเดียวกันใน 15 วัน หลังวันประกาศผลเลือกตั้ง (ภายใน 23 พฤษภาคม) จะเสด็จฯ เปิดประชุมรัฐสภา เพื่อวันรุ่งขึ้นที่ประชุมรัฐสภาจะได้โหวตเลือกประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา

 

"มิถุนายน" เห็นโฉม "นายกฯคนที่ 30 - ครม.ชุดใหม่"

 

⁍ ตั้ง "นายกฯ-ครม." มิ.ย.

เมื่อกลไกรัฐสภาครบองค์ประกอบก็พร้อมดำเนินกระบวนการหาตัวนายกฯ คนที่ 30 และการจัดคณะรัฐมนตรี เนื่องจากชื่อนายกฯ จะต้องมาจากการโหวตของที่ประชุมรัฐสภา เพื่อที่ประธานรัฐสภาจะเป็นผู้นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งนายกฯ

จากนั้นนายกฯ จะได้จัดทำและทูลเกล้าฯ รายชื่อคณะรัฐมนตรี เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย หลังจากนำ ครม. เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณตน และแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว รัฐบาลก็พร้อมบริหารงานแผ่นดินต่อไป

นายกฯ และ ครม. จะเป็นคนหน้าเดิมหรือใหม่ถอดด้าม เดือน มิ.ย. นี้ ได้เห็นอย่างเป็นทางการแน่ แต่ในความเคลื่อนไหวทางการเมืองเส้นทางจากหีบบัตรเลือกตั้งสู่เก้าอี้นายกฯ จะเริ่มทันทีหลังปิดหีบเลือกตั้ง

ทันทีที่เริ่มปรากฏผลการนับคะแนน ส.ส.เขตเลือกตั้ง คณิตศาสตร์การเมืองจะเริ่มทำงานทันที ในการที่แกนนำพรรคจะเคลื่อนไหวต่อสายจับขั้ว เพื่อกวาดคะแนนเสียงสนับสนุนพรรค หรือ ขั้วของตนเอง โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 376 เสียงขึ้นไป เพื่อให้เกินกึ่งของที่ประชุมรัฐสภา พรรคไหนทำได้ก่อนก็จะเริ่มเห็นภาพลาง ๆ นายกฯ และ ครม.ชุดใหม่

แต่ถ้าผลจำนวน ส.ส. ออกมาแล้ว 3 พรรคใหญ่ ติดล็อก ไม่มีใครลดเงื่อนไขไปร่วมจับมือกันได้ อาจเกิดการเมือง 2 จังหวะ คือ พลังประชารัฐหาพรรคอื่นมาร่วมสนับสนุนเพื่อให้ได้จำนวน ส.ส. 125 เสียงขึ้นไป ไปร่วมกับ ส.ว. 250 เสียง โหวตเลือกตัวนายกฯ ได้ก่อน เพื่อมีอำนาจต่อรองในการดึงพรรคอื่น ๆ ที่เหลือเข้ามาเป็นพรรคร่วมรัฐบาลในจังหวะถัดไปได้

เค้าลาง "นายกฯ" พอจะเริ่มเห็นและน่าจะเริ่มชัดขึ้นเรื่อย ๆ แล้วนับจากนี้ไป

รายงาน โดย ทีมข่าวการเมือง

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3455 ระหว่างวันที่ 24 - 27 มีนาคม 2562

 

"มิถุนายน" เห็นโฉม "นายกฯคนที่ 30 - ครม.ชุดใหม่"