‘ไบโอเดอร์มา’ท้าชนสินค้าก๊อบปี้

24 มี.ค. 2562 | 07:30 น.

“ไบโอเดอร์มา” ชี้กระแสสินค้าลอกเลียนแบบพ่นพิษกระทบภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของแบรนด์ ปรับทัพการตลาดสู่การสื่อสารเชิงดิจิทัล พร้อมนำระบบคิวอาร์โค้ดมาใช้สร้างความมั่นใจแก่ลูกค้า ก่อนส่งแบรนด์น้องใหม่ InstitutEsthederm จากฝรั่งเศส นำร่องทำตลาด 30 รายการช่วงปลายปี พร้อมวางเป้า เติบโตระยะยาว 20% ตลอด 5 ปี

ภญ.วัลภา รัตนชัยพิพัฒน์ ผู้อำนวยการ บริษัท นาโอส (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเวชสำอางดูแลผิวพรรณจากฝรั่งเศส แบรนด์ “ไบโอเดอร์มา” (BIODERMA) เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มสินค้าเพื่อสุขภาพและความงามในเมืองไทยยังคง มีการเติบโตที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหลักมาจากกลุ่มหญิงสาวที่นิยมดูแลผิวหน้าและภาพลักษณ์มากขึ้น ขณะที่การเข้ามาของสังคมผู้สูงวัยคืออีกหนึ่งเหตุผลที่ผลักดันให้ภาพรวมตลาดมีการเติบโตเป็นอย่างดี โดยพบว่าตลาดสกินแคร์ในช่องทางพรีเมียมมีการเติบโตที่ 10-20% ขณะที่ผลิตภัณฑ์ความงามสำหรับผู้สูงวัยมีการเติบโตที่ 15-20%

‘ไบโอเดอร์มา’ท้าชนสินค้าก๊อบปี้

ทั้งนี้เพื่อเป็นการรองรับการเติบโตดังกล่าวบริษัทได้เตรียมนำเข้าแบรนด์สกินแคร์ภายใต้แบรนด์ InstitutEsthederm จากประเทศฝรั่งเศสในช่วงปลายปีนี้ และมีระดับราคาตั้งแต่หลักพันบาทขึ้นไป ซึ่งจะเป็นการทดลองนำเข้าทำตลาดในช่วงแรก 30 รายการ ก่อนจะเปิดตัวอย่างเป็นทาง การในปี 2563 โดยจะโฟกัสการทำตลาดในช่องทางบิวตี้ สโตร์ และ เทรดิชันนัลเทรดเป็นหลัก เบื้องต้น อยู่ระหว่างการศึกษาตลาด และความต้องการของกลุ่มเป้าหมายก่อน

ขณะที่แผนการทำตลาดไบโอเดอร์มาในปีนี้จะให้ความสำคัญกับการทำตลาดเชิงรุก โดยเฉพาะในส่วนของดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งมากขึ้น เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะสังคมเมืองที่เข้าถึงเทคโนโลยีมากขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่กลุ่มลูกค้าของแบรนด์หลังจากประสบกับปัญหาสินค้าลอกเลียนแบบที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของแบรนด์เป็นอย่างมาก โดยบริษัทได้มีการนำโปรแกรมช่วยแยกผลิตภัณฑ์ในรูปแบบสติกเกอร์ ที่สามารถสแกน QR CODE เพื่อให้ลูกค้าแน่ใจว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ จะเป็นของจริง โดยได้มีการแปะสติกเกอร์ดังกล่าวในตัวสินค้าตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ซึ่งปีนี้จะเป็นปีของการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่กลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น

‘ไบโอเดอร์มา’ท้าชนสินค้าก๊อบปี้

พร้อมกันนี้ยังได้เปิดตัว “NAOS CLUB” ขึ้นมาเพื่อรองรับความต้องการพร้อมทั้งรวบรวมสินค้า และให้ความรู้ความเข้าใจอันดีแก่ลูกค้า เบื้องต้นขณะนี้มีลูกค้าเข้าสมัครแล้วกว่า 1 หมื่นราย และมีฐานลูกค้าเดิมเข้ามาใช้บริการกว่า 5 หมื่นราย นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาช่องทางจำหน่ายอี-คอมเมิร์ซของแบรนด์ขึ้นมา “Brand Shop” เพื่อสร้างการเข้าถึงไปยังกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น หลังจากที่ได้มีการจับมืิอมาร์เก็ตเพลสชั้นนำในการวางจำหน่ายแล้ว โดยปัจจุบันแบรนด์ BIODERMA มีวางจำหน่ายในช่องทางรีเทล,ร้านขายยาเป็นหลักที่ 60-70% รองลงมาได้แก่ บิวตี้ สโตร์ 30% และช่องทางสุขภาพอย่างโรง พยาบาล คลินิก ที่ 10% ซึ่งแน่นอนว่าการเข้ามาของอี-คอมเมิร์ซเป็นเพียงการเสริมแกร่งให้แก่แบรนด์ โดยในช่วง 2-3 ปีแรกจะยังเป็นการสร้างแบรนด์และความน่าเชื่อถือมากกว่าเรื่องของยอดขาย เนื่องจากพฤติกรรมของลูกค้าที่ซื้อผลิตภัณฑ์ความงามยังนิยมทดลอง และสัมผัสสินค้าจริงหน้าร้านมากกว่าสั่งซื้อทางออนไลน์

บริษัทมีแผนนำเข้าแบรนด์ใหม่ EtatPur มาทำตลาดใน 2 ปีนับจากนี้ ควบคู่กับการจับมือกับศูนย์วิจัย (Research Center) ในประเทศญี่ปุ่นเพื่อพัฒนาผลิต ภัณฑ์สำหรับเจาะกลุ่มคุณผู้ชายโดยเฉพาะขึ้นมาเพื่อคนในภูมิภาคเอเชีย

อย่างไรก็ตามบริษัทวางเป้าหมายการตลาดช่วง 5 ปีนับจากนี้ด้วยการมียอดขายเติบโตไม่ ตํ่ากว่าปีละ 20% ซึ่งถือเป็นเป้าหมายของบริษัทแม่ที่วางยุทธศาสตร์ ทั่วโลก ด้วยต้องการสร้างการเติบ โตและขนาดของธุรกิจให้เพิ่มเป็นเท่าตัว (Double Size) ทั้งนี้ไทยถือเป็นอีกหนึ่งประเทศสำคัญของบริษัทแม่ที่ให้ความสำคัญในการทำตลาด โดยพบว่าไทยมีศักยภาพการเติบโตและมีความสำคัญด้านการตลาดมาเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน ขณะที่ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีวางจำหน่ายแล้วในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก 

หน้า 32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3455 ระหว่างวันที่ 24 - 27 มีนาคม 2562

‘ไบโอเดอร์มา’ท้าชนสินค้าก๊อบปี้