2 ปี "อีอีซี" ผนึกกำลังทุกภาคส่วน "เชื่อมโลก"

22 มี.ค. 2562 | 05:22 น.

'คณิศ' เผย การดำเนินงานขับเคลื่อนอีอีซี 2 ปี ส่งผลต่อจีดีพีประเทศขยายตัว 4% เกิดผลให้เอกชนลงทุนปีละ 3 แสนล้าน ยัน! โครงสร้างพื้นฐาน 5 โครงการ เสนอ ครม. เห็นชอบได้ภายใน เม.ย. นี้ ชี้! รัฐได้ผลตอบแทน 4.5 แสนล้านบาท มีรายได้เข้าสู่คลังไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยถึงการดำเนินงานขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ในช่วง 2 ปี (2560-2561) ที่ผ่านมา ว่า ภายใต้การบริหารงานรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่มาปฏิรูปการทำงาน การดำเนินชีวิตของทุกองค์กร และของคนไทยทั้งประเทศ โดยมีพื้นที่อีอีซี (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง) เป็นเป้าหมายแรกที่จะใช้ขับเคลื่อน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาประเทศในอนาคต

 

นายคณิศ แสงสุพรรณ

 

ทั้งนี้ นับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2560 เป็นต้นมา รัฐบาลได้ใช้ ม.44 ในการขับเคลื่อนอีอีซีโครงการต่าง ๆ ตลอดจนผลักดันให้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2561 ส่งผลให้การขับเคลื่อนอีอีซีเป็นไปอย่างรูปธรรม เช่น การวางผังการใช้พื้นที่ การร่วมทุนรัฐบาล-เอกชนในโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาโครงสร้างสังคม และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะการขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ 5 โครงการ รวมมูลค่าประมาณ 650,000 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก, โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา หรือ เอ็มอาร์โอ, โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุต ระยะที่ 3 สามารถดำเนินงานได้ตามขั้น แม้บางโครงการจะล่าช้าไปบ้าง แต่ยังยืนว่า โครงการทั้งหมดนี้จะพิจารณาได้ผู้ชนะประมูลในเร็ว ๆ นี้ และคาดว่าจะนำสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีได้ภายในเดือน เม.ย. นี้ เพื่อนำไปสู่การลงนามกับเอกชนต่อไป

 

2 ปี "อีอีซี" ผนึกกำลังทุกภาคส่วน "เชื่อมโลก"

 

จากการดำเนินงานดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสำคัญของเอเชีย โดยรัฐดึงการลงทุนจากเอกชนประมาณ 450,000 ล้านบาท และรัฐลงทุน 200,000 ล้านบาท แต่รัฐจะได้ผลตอบแทนจากโครงการเหล่านี้ ประมาณ 450,000 ล้านบาท คือ สุทธิแล้วรัฐบาลไม่ต้องใช้งบประมาณมาลงทุน และยังได้รายได้เข้าสู่คลังไปพัฒนาประเทศในด้านอื่น ๆ อีกไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ การขับเคลื่อนของอีอีซีผ่านการลงทุนในกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย มีผลดีกว่าเป้าหมายที่วางไว้ เห็นได้ชัดจากมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนที่เพิ่มขึ้นกว่า 200% ซึ่งส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยมีการขยายตัว GDP เพิ่มขึ้นจาก 3.3% ในปี 2559 เป็นประมาณ 4.2% ในปี 2561 และการลงทุนเอกชนขยายตัวเป็นบวก 3 ปีติดต่อกัน ขณะที่ ปีนี้คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวอยู่ที่ 4%

 

2 ปี "อีอีซี" ผนึกกำลังทุกภาคส่วน "เชื่อมโลก"

 

ดังนั้น จะเห็นรูปธรรมของการลงทุนจริงเกิดขึ้นในปีนี้ประมาณ 3 แสนล้านบาท เป็นในส่วนของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 1 แสนล้านบาท การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 1 แสนล้านบาท และการลงทุนพัฒนาพื้นที่เชิงท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การพัฒนาเมือง เป็นต้น เกิดการสร้างงานใหม่ไม่น้อยกว่า 1 แสนอัตราต่อปี ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2% และลดการเหลื่อมล้ำระหว่างคนกรุงเทพฯ และประชาชนในอีอีซี ที่สำคัญ คือ เป็นการปรับโครงสร้างประเทศไทยสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่ใช้เทคโนโลยีมาช่วยการสร้างรายได้และการดำรงชีวิตของประชาชนทุกคน

"สรุปได้ว่า ใน 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลสามารถใช้อีอีซีสร้างฐานการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อเปิดประตูเศรษฐกิจ และระดมการลงทุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสูงเพื่อสร้างกำลังผลักดันประเทศ ขณะนี้ ทิศทางไทยแลนด์ 4.0 มีความมั่นคง พร้อมที่จะนำคนไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง มีรายได้ที่ยั่งยืน มีความอยู่ดีกินดีรายได้ที่สูงขึ้น และที่สำคัญ คือ ทำให้ประเทศไทยกลับมาเป็นศูนย์กลางสำคัญของเอเชียอีกครั้งหนึ่ง"

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ความสำเร็จของอีอีซีเกิดจากปัจจัยสำคัญ คือ "รัฐบาลกำกับดูแลอย่างเข้มข้นและสนับสนุนอย่างเข้มแข็ง" รวมทั้งสร้างกลไกให้อีอีซีได้รับความร่วมมือจากกระทรวงต่าง ๆ จากภาคเอกชนจากในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งหากขาดการทำงานที่เข้มแข็งของรัฐบาล งานที่ค่อนข้างซับซ้อนแบบอีอีซีคงไม่สามารถสำเร็จลงได้

 

2 ปี "อีอีซี" ผนึกกำลังทุกภาคส่วน "เชื่อมโลก"

 

นายคณิศ กล่าวอีกว่า ส่วนการดำเนินงานในปี 2562 นั้น ถือเป็นการทำงานเข้าสู่ระยะ 3 ที่มีภารกิจการเดินเข้าสู่เป้าหมายที่วางไว้ ที่จะต้องเร่งดำเนินการ 5 เรื่อง ได้แก่ ยืนยันให้ 5 โครงสร้างพื้นฐานหลักสำคัญ ได้ผู้ลงทุนในเดือน เม.ย. 2562 เพื่อให้เกิดการลงทุน 650,000 ล้านบาท ใน 5 ปีข้างหน้า เร่งรัดการลงทุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย 500,000 ล้านบาท ใน 5 ปี ซึ่งจะสร้างงานใหม่ รายได้ดี ไม่น้อยกว่า 450,000 ตำแหน่ง ให้กับเยาวชนไทย รวมทั้งเพิ่มการลงทุนเพื่อยกระดับความสามารถดูแลประเทศด้วยการลงทุนในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและการศึกษา

ประสานการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล พัฒนาธุรกิจด้าน IoT และ Start-Up สานต่อการใช้การค้าอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกร เทคโนโลยี และการท่องเที่ยวคุณภาพ เดินหน้ายกระดับพื้นฐานด้านการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยเฉพาะผังการใช้ที่ดิน การศึกษา งานวิจัยและเทคโนโลยี สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม (อากาศ น้ำ ของเสีย) ปัจจัยพื้นฐาน น้ำ พลังงาน

จัดวางแนวทางการพัฒนาพื้นที่พิเศษที่เป็นเขตเทคโนโลยีและเมืองอัจฉริยะ เช่น ประสานงานให้ EECi และ EECd เป็นไปตามแผนวางแนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่แหลมฉบังและเกาะสำคัญ (เกาะสีชัง เกาะช้าง เกาะเสม็ด) และสร้างระบบการกำกับดูแลการพัฒนาของมหานครการบินภาคภาคตะวันออก เป็นต้น รวมทั้งการสร้างประโยชน์ให้ถึงประชาชนและทำความเข้าใจกับชุมชนและประชาชนให้เกิดความความรู้และความร่วมมือที่จะทำงานร่วมกันเพื่อส่วนรวม

 

2 ปี "อีอีซี" ผนึกกำลังทุกภาคส่วน "เชื่อมโลก"