‘ทราเวลโลก้า’ วางกรอบและดีเอ็นเอ สู่ทางรอดจากการถูก Disruptive

23 มี.ค. 2562 | 06:40 น.

หากจะบอกว่า “ทราเวลโลก้า” องค์กรสตาร์ตอัพสายพันธุ์อินโดนีเซีย ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2012 จนขณะนี้เติบใหญ่อย่างรวดเร็ว จากเดิมมีพื้นที่บริการเพียงแห่งเดียวที่อินโดนีเซีย ขยายไปใน 5 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ทั้งไทย เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และยังมีฮับด้านเทคโนโลยีที่อินเดีย และในปี 2560 ยังระดมทุนอีกกว่า 16,500 ล้านบาท หรือราว 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก Expedia, East Ventures, Hillhouse Capital, JD.com และ Sequoia Capital ความที่เป็นองค์กรของคนยุคใหม่ และการเติบโตที่รวดเร็ว ทำให้ทราเวลโลก้าเป็นองค์กรที่คนรุ่นใหม่หมายตา

“โสภณ สุรเชษฎไพศาล” ผู้อำนวยการสายงานปฏิบัติการบุคคล ทราเวลโลก้า ประเทศไทย บอกว่า ทราเวลโลก้าเปิดบริการในไทยปี 2560 เป็นประเทศที่ 2 ของภูมิภาคนี้ เริ่มต้นด้วยพนักงานเพียง 85 คน ปัจจุบันขยายเป็น 350 คน อายุพนักงานเฉลี่ย 26-27 ปี และแน่นอนว่า ด้วยอายุพนักงานประมาณนี้ การเข้าออกจึงมีตัวเลขอยู่เกือบ 30% พอๆ กับอุตสาหกรรม OTA (Online Travel Agent) หรือผู้ให้บริการจองตั๋วเครื่องบินและที่พักออนไลน์

การเปิดรับพนักงานของทราเวลโลก้า ผอ.สายงานพีเพิล โอเปอเรชัน หรือ เอชอาร์ บอกว่า สิ่งที่มองหาก่อนสิ่งอื่นในตัวพนักงานคือ Passion การจะเข้ามาร่วมงานกับทราเวลโลก้ามีความชื่นชอบอะไร มีความหลงใหลในสิ่งใด คนที่มาสมัคร ก็ไม่จำเป็นต้องจบตรงสายงาน เพราะที่ผ่านมาองค์กรได้พิสูจน์แล้วว่า คนที่จบมาด้านหนึ่ง แต่มาทำงานอีกด้านหนึ่งได้ดีและมีประสิทธิภาพมากกว่าคนที่จบตรงสายเสียอีก การที่จะเข้ามาร่วมงานกับทราเวลโลก้า ต้องรู้ว่า ธุรกิจสามารถโดน disruptive ได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นต้องปรับตัวและพร้อมเรียนรู้

ทราเวลโลก้าเป็นองค์กรที่ไม่หยุดนิ่ง โดยมีกรอบการทำงาน 3 ลักษณะ คือ พร้อมรับความท้าทาย (Embrance Challenges) เปิดกว้าง (Celebrate Openness) และ ให้อิสระกับพนักงาน (Value Autonomy)

ขณะเดียวกัน ก็เตรียมความพร้อมของพนักงาน เพื่อให้ทุกคนขับเคลื่อนได้ตามกรอบการ
ทำงานที่วางไว้ ผ่านดีเอ็นเอ 5 ด้าน คือ DICE-H โดยมี
“ธีร์ ฉายากุล” Country Manager ประเทศไทย เป็นต้นแบบ

DICE-H ประกอบด้วย D - Dedication ความทุ่มเท ทำงานส่วนของตัวเองให้ดี และเมื่อทุกคนทำของตัวเองให้ดี งานโดยรวมก็จะออกมาดี I - Intellectual Honesty ซื่อตรงต่อความคิด และให้เกียรติทุกความคิดเห็น C - Curiosity
ใฝ่หาความรู้ตอลดเวลา E - Empathy ความเข้าใจซึ่งกันและกัน ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนซึ่งกันและกัน และ H -
Humility ความถ่อมตัว ทำตัวแบบนํ้าไม่เต็มแก้ว พร้อมที่จะพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ

และอีกหนึ่งค่านิยมที่ผู้นำขององค์กรให้ความสำคัญ คือ F - Fun การทำงานที่ได้ผลดี คนทำงานต้องมีความสุข มีความสนุกในการทำงาน ที่ทำงานของทราเวลโลก้า จึงถูกสร้างให้เป็นเหมือนสนามเด็กเล่น ให้ทุกคนได้สนุก ได้แสดงออก ภายในที่ทำงานยังสร้างให้เกิดบรรยากาศการเรียนรู้ ในหลายรูปแบบ ทั้งการจัดมุมหนังสือ การทำมุมสบายๆให้พนักงานมานั่งประชุมกัน แทนที่จะต้องนั่งประชุมอยู่ในห้อง

นอกจากนี้ ยังจัด Internal Guru Program ให้ผู้มีความรู้มาแชร์ข้อมูล หรือสิ่งที่เพื่อนพนักงานอยากรู้ เป็นการแบ่งปันกัน รวมไปถึงการจัดให้มี Acceleration Program ด้วยการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้กันระหว่างพนักงานของทราเวลโลก้าในแต่ละประเทศ เปิดโอกาสให้พนักงานได้เดินทางไปเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ในประเทศต่างๆ 3 - 6 เดือน

เรื่องของการเปิดรับไอเดียใหม่ๆ แนวคิดใหม่ๆ จากพนักงาน ทราเวลโลก้า ถือว่าเปิดกว้างอย่างเต็มที่ และถ้างานชิ้นไหน ได้ถูกนำมาใช้จริง ก็จะได้รับรางวัล เป็นการกระตุ้น และสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักคิดรุ่นใหม่

กรอบการทำงาน และดีเอ็นเอ ที่ทราเวลโลก้า พยายามหล่อหลอมทีม คือ การตอบรับกับโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง และสามารถถูก Disruptive เมื่อไรก็ได้ และนี่คือทางรอดที่มั่นคงขององค์กรยุคใหม่ 

หน้า 22 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3454 วันที่ 21-23 มีนาคม 2562

‘ทราเวลโลก้า’ วางกรอบและดีเอ็นเอ  สู่ทางรอดจากการถูก Disruptive