เกษตรฯ ปลดล็อก "ประมงพื้นบ้าน"

21 มี.ค. 2562 | 07:13 น.

คราวนี้ถึงครา! "ประมงพื้นบ้าน" ... 'กฤษฎา' ไม่ทิ้งเดินหน้าแก้ไขประกาศกำหนดเครื่องมือประมงให้เหมาะสมต่อวิถีประมงชายฝั่ง "อวนรุนเคย" ประกอบเรือยนต์ให้สามารถใช้อวนตาห่างจากเดิมได้เล็กน้อย โดยกำหนดพื้นที่และระยะเวลาทำประมง สามารถจับ "เคยโกร่ง" ในระยะที่ใกล้ชายฝั่งมากขึ้น เป็นวิถีที่เคยทำมาและมีความปลอดภัยในการเดินเรือ

 

เกษตรฯ ปลดล็อก "ประมงพื้นบ้าน"

 

นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่ชาวประมงพื้นบ้านเสนอขอใช้อวนตาห่างขึ้น เดิมที่กำหนดให้เรือประมงพื้นบ้านขนาดต่ำกว่าสิบตันกรอสทำการประมงนอกเขตระยะ 1,000 เมตร ส่วนเรือประมงพาณิชย์ที่มีขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไป ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่งประมาณ 5,400 เมตร นับจากขอบน้ำตลอดแนวชาวฝั่งทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล โดยกำหนดขนาดใช้ตาอวนขนาด 2×2 มิลลิเมตรเท่านั้น แต่ชาวประมงพื้นบ้านต้องการขยายตาอวนเพื่อจับ "เคยโกร่ง" ซึ่งเป็นเคยขนาดใหญ่ประมาณ 7–32 มิลลิเมตร จึงขอผ่อนปรนให้ใช้ตาอวนขนาด 2×4 มิลลิเมตร

 

เกษตรฯ ปลดล็อก "ประมงพื้นบ้าน"

 

"ได้ประชุมหารือกับ นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรฯ และปลัดกระทรวงเกษตรฯ พร้อมเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า ควรให้ยกเลิกประกาศกระทรวงฯ พ.ศ. 2559 และให้ออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ใหม่ เพื่อกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับรูปแบบของอวน ขนาดของเรือ วิธีที่ใช้ บริเวณพื้นที่ และระยะเวลาในการทำประมง ที่ผู้ทำการประมงด้วยเครื่องมืออวนรุนเคยที่ใช้ประกอบเรือยนต์ทำการประมงต้องปฏิบัติ พ.ศ. 2562 กำหนดให้การทำประมงด้วยเครื่องมืออวนรุนเคยประกอบเรือยนต์ที่มีขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไป ที่ใช้อวนขนาดช่องตาไม่เกิน 2×2 มิลลิเมตร ให้ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่งเท่านั้น"

 

เกษตรฯ ปลดล็อก "ประมงพื้นบ้าน"

 

สำหรับเรือยนต์ที่มีขนาดสิบตันกรอสขึ้นไป แต่ไม่ถึงสิบห้าตันกรอสและอธิบดีกรมประมงอนุญาตให้ทำประมงพื้นบ้านต่อไป ตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 หรือ การทำประมงด้วยเครื่องมืออวนรุนเคยประกอบเรือยนต์ที่มีขนาดต่ำกว่าสิบตันกรอสลงมาสามารถใช้ขนาดช่องตาอวน 2×4 มิลลิเมตรได้ โดยให้ทำการประมงนอกเขตระยะ 1,000 เมตร นับจากขอบน้ำตามแนวชาวฝั่งขณะทำการประมง เฉพาะในอ่าวไทย ตัว ก เขต จ.เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา ในห้วงระหว่างวันที่ 16 เม.ย. 2562 ถึง 30 มิ.ย. 2562 และระหว่างวันที่ 16 เม.ย. 2563 ถึง 30 มิ.ย. 2563

 

เกษตรฯ ปลดล็อก "ประมงพื้นบ้าน"

 

นายกฤษฎาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ให้เรือประมงพื้นบ้าน ซึ่งมีขนาดเล็กสามารถขยับเข้ามาทำการประมงใกล้ชายฝั่งมากขึ้นนั้น ชาวประมงพื้นบ้านจะสามารถกลับมาประกอบอาชีพได้ตามปกติวิสัยและมีความปลอดภัยในการเดินเรือ จากที่ก่อนหน้านี้ ชาวประมงพื้นบ้านส่วนหนึ่งต้องหยุดออกเรือ หรือ เลิกทำประมง เพราะผลกระทบจากข้อกำหนดของประกาศฯ ฉบับเดิม อีกทั้งการผ่อนปรนให้ใช้อวนที่มีขนาดตา 2×4 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นขนาดที่ชาวประมงใช้กันอยู่และเหมาะกับการรุน "เคยโกร่ง" จะช่วยให้ชาวประมงมีรายได้จากการจับ "เคยโกร่ง" ขายมากขึ้น พร้อมกันนี้ กรมประมงจะได้ศึกษาข้อมูลทางวิชาการจากการผ่อนปรนทั้งขนาดตาอวน พื้นที่ และระยะเวลาทำประมง เพื่อนำไปปรับข้อกำหนดต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีประมงพื้นบ้าน

 

เกษตรฯ ปลดล็อก "ประมงพื้นบ้าน"

 

ในอนาคต อาจเพิ่มพื้นที่ทำการประมงเพื่อให้ชาวประมงประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน ประกอบกับการกำหนดขนาดตาอวน 2×4 มม. ตามประกาศกระทรวงฯ ฉบับใหม่ ให้ทำ 2  ปีก่อน คือ ปี 2562 และ ปี 2563 เพื่อกรมประมงจะได้ศึกษาวิจัยร่วมกับชาวประมงพื้นบ้านไปด้วย เกี่ยวกับพื้นที่และระยะเวลาทำประมง โดยหากมีพื้นที่ที่พบเคยโกร่งมากขึ้น ก็อาจออกประกาศขยายพื้นที่ทำการประมง ส่วนระยะเวลาที่กำหนดตามประกาศเป็นไปตามที่ชาวประมงพื้นบ้าน ระบุว่า

 

เกษตรฯ ปลดล็อก "ประมงพื้นบ้าน"
 

"พบเคยโกร่งเยอะที่สุด และหากไม่นำเคยโกร่งมาใช้ประโยชน์ในการทำอาหารก็จะสูญเปล่า เนื่องจากเคยโกร่งมีวงจรชีวิตสั้นเฉพาะในช่วงฤดูมรสุมเท่านั้น หากศึกษาแล้วพบว่า ช่วงเวลาที่พบเคยโกร่งยาวนานกว่านี้ ก็อาจขยายเวลาทำการประมงอวนรุนเคยได้อีก ซึ่งขณะนี้ กรมประมงได้นำประกาศกระทรวงฯ ฉบับใหม่ ส่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยให้บังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป"

 

เกษตรฯ ปลดล็อก "ประมงพื้นบ้าน"