"ยาง" ตลาดล่างระอุ! สมอ. เข้มคุณภาพ "ต.สยาม" ส่ง 'นันกัง' แบรนด์ไต้หวันแย่งเค้ก

22 มี.ค. 2562 | 04:20 น.

ยางล้อรถยนต์ตลาดล่างเดือด หลัง สมอ. ไล่บี้คุณภาพ ตรวจสอบมาตรฐานเข้มงวด หลังกลุ่มยางจากจีนราคาถูกทะลัก ด้าน ดิสตริบิวเตอร์รายใหญ่ 'ต.สยาม' เพิ่มแบรนด์ 'นันกัง' นำเข้าจากไต้หวัน ขาย 4 เส้น 5,000 บาท จัดหนักการตลาด ทั้งออนไลน์-ออฟไลน์

การแข่งขันของธุรกิจยางรถยนต์ในประเทศไทย เฉพาะตลาดทดแทน (REM) ที่มียอดขายประมาณ 10 ล้านเส้นต่อปี ทวีความดุเดือดขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มตลาดล่าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยางนำเข้าจากจีนและไฟติ้งแบรนด์ของค่ายยางทั่วไป

ในขณะที่ ภาพรวมตลาดยางรถยนต์ในไทยมีการแข่งขันสูง แต่ละแบรนด์งัดทุกกลยุทธ์ออกมาเพื่อดึงลูกค้า ทั้งการเปิดตัวสินค้า, แคมเปญ, กิจกรรมการตลาด โดยปัจจัยสนับสนุนของตลาดนี้ ประกอบไปด้วย เศรษฐกิจ, กำลังซื้อ แต่อีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลกับผู้ประกอบการ คือ ความเข้มงวดของ สมอ. หรือ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ที่มีประกาศมาตรฐานบังคับยางล้อใหม่

 

"ยาง" ตลาดล่างระอุ! สมอ. เข้มคุณภาพ "ต.สยาม" ส่ง 'นันกัง' แบรนด์ไต้หวันแย่งเค้ก

 

ทั้งนี้ ข้อบังคับของ สมอ. มีผลต่อยางล้อที่ไม่ได้มาตรฐาน ที่ปัจจุบันมีกว่า 30% ของตลาดรวมทั้งหมด ซึ่งแนวทางของ สมอ. จะเข้มงวดขึ้นเรื่อย ๆ

"มาตรฐานใหม่ที่ออกมาโดย สมอ. ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะเดิมสินค้าที่นำเข้ามาจำหน่ายมีราคาถูกมาก ยางบางเส้นเป็นการนำมาหล่อรวม ๆ กัน แล้วนำเข้ามาขาย ซึ่งหลังจาก สมอ. มีข้อบังคับใหม่ และหากมีการเรียกตรวจสอบยางยี่ห้อนั้น ๆ แล้วพบว่าเป็นสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ จะเรียกคืนและทำตามกฎที่ได้ประกาศต่อไป" แหล่งข่าวในวงการยางล้อรถยนต์ กล่าว

ถือเป็นมาตรการคุมเข้มและสกัดสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐานไปในตัว ซึ่งการตอบรับของผู้ประกอบการในประเทศ รวมไปถึงผู้นำเข้า ได้มีการนำยางรุ่นต่าง ๆ เข้าไปตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานกันตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา

ขณะที่ ค่าย "ต.สยาม" ดิสตริบิวเตอร์รายใหญ่ ที่มี 'โตโยไทร์' อยู่ในตลาดบน 'นิตโตะ' เจาะกลุ่มสปอร์ต ล่าสุด เพิ่มแบรนด์น้องใหม่ 'นันกัง' จากไต้หวัน หวังเจาะตลาดล่าง

นายอภิชัย ตั้งวงศ์ศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ต.สยาม คอมเมอร์เชียล จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้แนะนำยางใหม่ เพื่อเจาะกลุ่มตลาดล่าง ภายใต้แบรนด์ 'นันกัง' ที่ปัจจุบันมีโรงงานตั้งอยู่ที่จีนและไต้หวัน โดยสินค้าที่นำเข้ามาได้รับการตรวจสอบจาก สมอ. ทำให้มั่นใจได้ในตัวคุณภาพของสินค้าที่นำเข้ามาทำตลาดในไทย

ปัจจุบัน ต.สยาม เป็นผู้นำเข้าและจำหน่ายยางรถยนต์แบรนด์ 'โตโยไทร์' เจาะกลุ่มตลาดบน, นิตโตะเจาะกลุ่มตลาดกลาง และวัยรุ่นที่ชื่นชอบการแต่งรถ ล่าสุด คือ นันกัง เจาะกลุ่มตลาดล่าง ราคาสินค้าไม่เกิน 5-6 พันบาท (ต่อ 4 เส้น) โดยบริษัทตั้งเป้าหมายการเติบโตในปีนี้ประมาณ 10%

การเปิดตัวยางน้องใหม่ในครั้งนี้ ถือเป็นการขยับแนวรุกครั้งสำคัญของ ต.สยาม โดยการทำตลาดของนันกังได้มีสินค้า 10 รุ่นรองรับทุกตลาด ทั้งยางรถยนต์นั่งทั่วไป 7 รุ่น ได้แก่ กลุ่มอีโค ไทร์, คอมฟอร์ท ไทร์ รวมถึงไฮเพอร์ฟอร์มานซ์ และยางสำหรับรถปิกอัพ หรือ เอสยูวี 3 รุ่น ซึ่งบริษัทรับประกัน บาด บวม แตก ตำ ฟรี 60 วัน

ส่วนโตโยไทร์ที่เจาะกลุ่มตลาดบนได้เปิดตัวใหม่ 3 รุ่น ได้แก่ TOYO Proxes Sport สำหรับรถหรู, สปอร์ต, TOYO Proxes Sport SUV รองรับรถเอสยูวีหรูที่ต้องการยางไฮเพอร์ฟอร์มานซ์ และยาง TOYO Proxes TR1 ที่มาพร้อมเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดครั้งแรกของโลก กับ TIRE WEAR INDICATOR มีจุดเด่น คือ สามารถเช็กได้ด้วยตัวเอง ว่า เมื่อไรที่จะต้องเปลี่ยนยาง

"ยอดขายหลักยังมาจากโตโยไทร์ 40%, นิตโตะ 35% และ 25% มาจากนันกัง ซึ่งการตอบรับของแบรนด์น้องใหม่ล่าสุดถือว่าดี เพราะได้ลองนำมาขายตั้งแต่ต้นปี และเรามั่นใจว่า จนถึงสิ้นปียอดขายของเราจะเติบโตตามเป้าที่ได้วางไว้"

นอกจากการเพิ่มสินค้าเพื่อรองรับในทุกเซ็กเมนต์แล้ว ต.สยาม ได้ขยายแวร์เฮาส์ จากเดิมในเฟสแรกมี 1 หมื่นตารางเมตร เป็น 1.5 หมื่นตารางเมตร เพื่อรองรับยางรถยนต์มากกว่า 2 แสนเส้น ด้านแผนการตลาดอื่น ๆ ในปีนี้ จะสร้าง Experience Marketing ดึงออนไลน์สู่ออฟไลน์ มีการทำภาพยนตร์โฆษณาชุดใหม่ 2 เรื่อง สำหรับแบรนด์โตโยไทร์และนันกังไทร พร้อมจับมือแร็พเปอร์อย่าง IRON BOY, U-RIUS, P-HOT ที่แต่งเพลงแร็พสำหรับยางทั้ง 3 แบรนด์

"ปีนี้การสื่อสารตลาดจะมีทั้งออฟไลน์และออนไลน์ มีการต่อยอด "มิวสิก มาร์เก็ตติ้ง" และ "มูวี มาร์เก็ตติ้ง" ที่เราประสบความสำเร็จในปีที่ผ่านมา นอกจากนั้นแล้ว เรายังให้ความสำคัญกับสปอร์ตมาร์เก็ตติ้งผ่านกิจกรรมมอเตอร์สปอร์ต โดยปีนี้สนับสนุน 5 รายการ ได้แก่ โตโยต้า มอเตอร์สปอร์ต, โตโย เรซซิ่ง คาร์ ไทยแลนด์, TOYO R1R Drag Battle, Toyo King of Drag และ Souped up Thailand 2019"

 

"ยาง" ตลาดล่างระอุ! สมอ. เข้มคุณภาพ "ต.สยาม" ส่ง 'นันกัง' แบรนด์ไต้หวันแย่งเค้ก

 

อีกหนึ่งกลยุทธ์หลักในการรุกตลาดยางของ ต.สยาม คือ การสร้างความแข็งแกร่งผ่านช่องทางการขาย ปัจจุบัน มีดีลเลอร์กว่า 300 ราย และมีศูนย์บริการยางรถยนต์ "GRIP" จำนวน 60 แห่ง แบ่งออกเป็น กรุงเทพฯ ประมาณ 20 แห่ง และต่างจังหวัดกว่า 40 แห่ง โดยปีนี้ตั้งเป้าจะเพิ่มเป็น 80 แห่ง ขณะเดียวกันจะพัฒนาแอพพลิเคชัน GRIP ขึ้นมา เพื่อรองรับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ซึ่งลูกค้าสามารถตรวจสอบข้อมูลยางรถยนต์รุ่นต่าง ๆ ได้ รวมไปถึงการสั่งซื้อ ชำระเงิน หรือ เลือกผ่อนสินค้า 0% พร้อมใบรับประกันออนไลน์

"การลงทุนของ GRIP แบ่งออกเป็น ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ เริ่มต้นที่ 1.5 ล้านบาท, 2 ล้านบาท และ 3 ล้านบาท ตามลำดับ โดยดีลเลอร์ที่ปรับเปลี่ยนจากร้านยางปกติมาเป็น GRIP สามารถเพิ่มยอดขายไม่ตํ่ากว่า 50% และในช่วงที่ผ่านมา เราพยายามพูดคุยกับร้านค้าเพื่อให้เปิด GRIP ทั้งนี้ เพราะดีลเลอร์มีความเชี่ยวชาญด้านบุคลากรที่ชำนาญเรื่องยางอยู่แล้ว อีกข้อที่เราพยายามบอก คือ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่ปรับเปลี่ยนไป เพราะเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ดังนั้น เราจึงพัฒนาแอพพลิเคชัน GRIP ขึ้นมา ซึ่งถือเป็นเจ้าแรกที่ทำ ตรงจุดนี้ถือเป็นการช่วยทั้งผู้บริโภคและร้านค้าของเราให้ทันกับยุค Digital Disruption" นายอภิชัย กล่าว



หน้า 28-29 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,454 วันที่  21 - 23  มีนาคม พ.ศ. 2562

 

"ยาง" ตลาดล่างระอุ! สมอ. เข้มคุณภาพ "ต.สยาม" ส่ง 'นันกัง' แบรนด์ไต้หวันแย่งเค้ก