ผวาแล้งฉุดส่งออก อาหารสำเร็จรูป 2 แสนล้านเสี่ยงวืดเป้า

21 มี.ค. 2562 | 05:45 น.

 

ส่งออกอาหารสำเร็จรูปตั้งเป้าท้าทายxu 62 โต 5% มูลค่าเฉียด 2 แสนล้าน ผวาปัจจัยเสี่ยงทั้งภัยแล้ง สงครามการค้า บาทแข็งสกัดไปไม่ถึงฝั่ง ขณะปัจจัยบวกได้อาหารหมา-แมว สับปะรดผ่านจุดตํ่าสุดช่วยดันยอด

ปี 2561 ไทยส่งออกสินค้าอาหารในภาพรวมของประเทศมูลค่ากว่า 1.05 ล้านล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการส่งออกโดยสมาชิกของสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปกว่า 200 บริษัท ใน 6 กลุ่มสินค้ามูลค่ากว่า 1.90 แสนล้านบาท (กราฟิกประกอบ) ขณะที่ในปี 2562 เริ่มต้นเดือนมกราคม การส่งออกสินค้าอาหารสำเร็จรูปของสมาชิกสมาคมมีมูลค่า 1.70 หมื่นล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 3.7% โดยในกลุ่มอาหารทะเล ข้าวโพดหวาน และเครื่องปรุงและอาหารพร้อมทาน ขยายตัวเป็นบวก ที่ 14, 29 และ 21% ตามลำดับ ส่วนกลุ่มผักและผลไม้ขยายตัว 0% ขณะที่กลุ่มทูน่า และสับปะรด ติดลบ 0.7% และ 20% ตามลำดับ-อย่างไรก็ดีในภาพรวมมูลค่าการส่งออกปีนี้ทางสมาคมตั้งเป้าหมายจะขยายตัวได้ที่ 5%

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เป้าหมายการส่งออกสินค้าอาหารสำเร็จรูปขยายตัวที่ 5% หรือมีมูลค่า 1.99 แสนล้านบาทในปีนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานปัจจัยบวกและปัจจัยลบที่มีอยู่มาก ปัจจัยบวกได้แก่ สินค้าพรีเมียมที่มีนวัตกรรม เช่น อาหารสำเร็จรูปเพื่อสุขภาพที่ตอบโจทย์ผู้มีรายได้สูง สินค้าเพื่อสุขภาพสำหรับผู้สูงวัย สินค้าอาหารที่ไม่ได้เพิ่มมูลค่ามากนัก ราคาไม่สูงมาก ซื้อแล้วคุ้มค่ากับภาวะเศรษฐกิจน่าจะยังไปได้ดี รวมถึงสินค้าอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมวที่ตลาดกำลังไปได้ดีมากในต่างประเทศ

ผวาแล้งฉุดส่งออก อาหารสำเร็จรูป 2 แสนล้านเสี่ยงวืดเป้า

“นอกจากนี้ในสินค้ากลุ่มสับปะรด เช่น สับปะรดกระป๋อง นํ้าสับปะรด ที่ราคาเลยจุดตํ่าสุดมาแล้ว ราคาส่งออกน่าจะปรับตัวดีขึ้น รวมถึงภัยแล้งที่กำลังรุกคืบเข้ามา ทำให้ผลผลิตผักผลไม้ลดลงราคาสินค้าจะปรับตัวสูงขึ้น และสินค้าอาหารทะเลที่ช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมาผู้ผลิตได้มีการสร้างมูลค่าเพิ่ม ส่วนหนึ่งหันไปผลิตอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงที่ขณะนี้ตลาดทั้งในและต่างประเทศกำลังบูมมาก”

ด้านปัจจัยเสี่ยงก็ยังมีอยู่มาก ที่สำคัญ ได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ทำให้ประเทศคู่ค้าที่เป็นซัพพลายเชนหรือห่วงโซ่อุปทานของทั้ง 2 ประเทศนี้ซึ่งรวมทั้งไทยได้รับผลกระทบ ค่าเงินบาทที่ผันผวนในทิศทางแข็งค่ากระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน และล่าสุดคือปัจจัยเสี่ยงจากภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตวัตถุดิบป้อนโรงงานมีแนวโน้มลดลง

ตัวอย่างเช่นสับปะรด คาดตลอดทั้งปี 2562 จะมีผลผลิตเข้าสู่โรงงานราว 1.4-1.5 ล้านตัน ลดลงจากปี 2561 ที่ผลิตได้ราว 1.7 ล้านตัน เนื่องจาก 1. ปริมาณผลผลิตต่อไร่ลดลง เพราะมีบางส่วนเสียหายจากภัยแล้ง ผลมีขนาดเล็ก เนื้อเป็นโพรงไม่สามารถใช้ผลิตได้ 2. จากสถานการณ์ราคาวัตถุดิบตกตํ่าในปี 2561 ทำให้เกษตรกรลดพื้นที่ปลูกลง ราคาผลผลิตเริ่มขยับขึ้นแล้ว เดือนมีนาคมอยู่ที่กว่า 5 บาทต่อลูก(ช่วงตกตํ่ามากเหลือ 2 บาทต่อลูก) ทั้งนี้ในพื้นที่ประจวบคีรีขันธ์แหล่งปลูกสับปะรดแหล่งใหญ่ และมีเขื่อนขนาดใหญ่ ภาครัฐได้เข้าไปทำท่อลำเลียงนํ้าเข้าพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น ทำให้พื้นที่บางส่วนยังพอมีนํ้าไว้ใช้ในการเพาะปลูกช่วงแล้ง ขณะที่เอกชนบางส่วนได้มีการจัดให้มีรถบรรทุกนํ้าเคลื่อนที่ไปในพื้นที่เพาะปลูกด้วย

ส่วนมะพร้าวสถานการณ์วัตถุดิบเริ่มน้อยลง ราคาปรับตัวสูงขึ้น พื้นที่ปลูกแถว อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.ราชบุรีแล้งมาก ปริมาณนํ้าในพื้นที่ไม่เพียงพอ หากไม่มีฝนอาจทำให้เกิดการสลัดลูกของมะพร้าว ทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง อีกทั้งปัญหามะพร้าวออกผลเป็นจำนวนมากในปี 2561 ทำให้เกษตรกรไม่ได้บำรุงต้นมะพร้าวเท่าที่ควร ส่งผลให้มะพร้าวที่ออกในปี 2562 มีผลขนาดเล็ก

“ผลผลิตพืชอื่น ๆ ในกลุ่มเช่น ข้าวโพดหวาน มะพร้าว และในกลุ่มผักผลไม้ เช่น ข้าวโพดอ่อน แห้ว หน่อไม้ ลำไย ลิ้นจี่ เงาะ อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูล และคาดการณ์ผลผลิตจากสภาพดินฟ้าอากาศ และจากดีมานด์-ซัพพลาย หากวัตถุดิบน้อยลง ราคาก็จะปรับตัวสูงขึ้น กระทบต่อการแข่งขันและยอดส่งออกได้” 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,454 วันที่ 21-23 มีนาคม 2562

ผวาแล้งฉุดส่งออก อาหารสำเร็จรูป 2 แสนล้านเสี่ยงวืดเป้า