กอบกู้วิกฤติ "ยางพาราโลก"

19 มี.ค. 2562 | 06:08 น.

ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาเสถียรภาพราคายาง ครั้งที่ 6 ของสมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ (The Association of Natural Rubber Producing Countries : ANRPC) มุ่งให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตยาง ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ พร้อมหามาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาราคายางพาราให้มีเสถียรภาพร่วมกัน ย้ำทุกมาตรการต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศสมาชิกผู้ปลูกยาง ณ โรงแรมแม่น้ำ รามาดาพลาซ่า ที่ผ่านมา

 

กอบกู้วิกฤติ "ยางพาราโลก"

 

นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาเสถียรภาพราคายาง ครั้งที่ 6 ของสมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ (The Association of Natural Rubber Producing Countries : ANRPC) โดยในครั้งนี้มีผู้แทนจากประเทศสมาชิกทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จำนวน 10 ประเทศ จากทั้งสิ้น 12 ประเทศ เข้าร่วม ประกอบด้วย บังคลาเทศ, กัมพูชา, อินเดีย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ปาปัวนิวกินี, ฟิลิปปินส์, ศรีลังกา, เวียดนาม และไทย โดยเป็นการหารือร่วมกันในการแก้ปัญหาสถานการณ์ราคายางที่ยังคงอยู่ในภาวะวิกฤต ส่งผลกระทบต่อประเทศในกลุ่มผู้ผลิตยางธรรมชาติ และวิเคราะห์หาแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าว เพื่อผลักดันให้ราคายางของทั้ง 12 ประเทศสมาชิก มีเสถียรภาพมากขึ้น

 

กอบกู้วิกฤติ "ยางพาราโลก"

 

ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกควรมีการพัฒนาในเรื่องของเทคโนโลยีการผลิตยางให้มากขึ้น รวมถึงความร่วมมือในการวิจัยด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การวิจัยพัฒนาเรื่องการนำยางพารามาใช้ในการทำถนน ซึ่งหลายประเทศให้ความสนใจ หากมีการพัฒนาร่วมกันและนำไปใช้ให้เกิดขึ้นจริง จะส่งผลต่อการใช้ยางของแต่ละประเทศให้เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังมีมาตรการการกำหนดราคาส่งออกยางพาราขั้นต่ำ เพื่อแก้ปัญหาราคายางในปัจจุบันที่ไม่สะท้อนตามความเป็นจริง แต่เกิดจากการซื้อขายในตลาดล่วงหน้าต่างประเทศ เป็นความเสี่ยงสำหรับผู้ผลิต ผู้ส่งออก และผู้ซื้อยาง รวมถึงเกษตรกรชาวสวนยางเสนอให้ประเทศสาชิกเห็นควรออกกฎหมายควบคุมราคายางพาราขั้นต่ำ

 

กอบกู้วิกฤติ "ยางพาราโลก"

 

ดร.เหงียน ง็อก บิช เลขาธิการ ANRPC ในฐานะประธานการประชุม กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการต่าง ๆ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง อาทิ มาตรการควบคุมปริมาณการส่งออก มาตรการการหยุดกรีด มาตรการส่งเสริมการใช้ยางภายในประเทศของกลุ่มสมาชิกให้เพิ่มสูงขึ้น การร่วมกันในการพัฒนาด้านนวัตกรรมการแปรรูปยาง การพัฒนาด้านโลจิสติกส์เพิ่มเติมในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ รวมถึงให้ ANRPC สมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ ซึ่งมีหน้าที่ในการประสานงานด้านนโยบายและการดำเนินงานผลิตยางและค้ายาง สนับสนุนส่งเสริมทางวิชาการยาง และดำเนินการเพื่อสร้างความเป็นธรรมและยกระดับราคายางธรรมชาติของประเทศสมาชิก มีมาตรการในการบริหารจัดการอุปทาน เพิ่มอุปสงค์ยางพารา เพื่อแก้ปัญหาหรือบรรเทาสถานการณ์ราคายางตกต่ำในขณะนี้

 

กอบกู้วิกฤติ "ยางพาราโลก"

 

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะต้องร่วมมือกันปฏิบัติในทุกประเทศสมาชิก เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการแก้ไขปัญหา ซึ่งในทุกมาตรการจะต้องทำไปด้วยความรอบคอบระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกยางของประเทศสมาชิก และขอให้ประเทศสมาชิกทั้งหมดปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง ANRPC ที่ให้ทุกประเทศร่วมมือกันในการรักษาเสถียรภาพราคายาง เพื่อประโยชน์ของประเทศผู้ผลิตยางทั้งหมด

กอบกู้วิกฤติ "ยางพาราโลก"