Employee Perspective 4.0 เทรนแรงงานยุคใหม่

18 มี.ค. 2562 | 10:34 น.

จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงตลาดแรงงานปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ของประเทศไทยและทั่วโลก  มีหลายปัจจัยที่ทำให้แรงงานต้องรู้และเตรียมพร้อมรับมือในยุค Digital Transformation  

ล่าสุด แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย  เปิดเผยผลการวิจัย Employee Perspective 4.0 “พฤติกรรมการใช้เงิน การดำเนินชีวิต และความคิดเห็นที่มีต่อการทำงานของคนรุ่นใหม่ 4.0”   ซึ่งเป็นทิศทางที่ตลาดแรงงานยุคใหม่ต้องรู้ โดยแบ่งการศึกษาวิจัยเป็น 4 ส่วน ตามวัตถุประสงค์หลัก คือ หนึ่ง เพื่อศึกษาความสนใจและความต้องการที่มีต่อการเข้าทำงานในองค์กรของกลุ่มคนรุ่นใหม่ยุค 4.0  สองเพื่อศึกษาแนวโน้มการประกอบอาชีพของกลุ่มคนรุ่นใหม่ยุค 4.0 สามเพื่อศึกษาพฤติกรรมการใช้เงินและการออมเงินของกลุ่มคนรุ่นใหม่ยุค 4.0  และสี่เพื่อศึกษาพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของกลุ่มคนรุ่นใหม่ยุค 4.0  ซึ่งแต่ละส่วนมีความสอดคล้องและยังแสดงให้เห็นถึงทิศทางแรงงานยุคใหม่  รวมถึงการปรับตัวเพื่อให้สอดคล้อง และรับกับแนวโน้มเทรนด์การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการทำงานในอนาคต  

สำหรับบทความตอนแรก “แมนพาวเวอร์กรุ๊ป” จะขอพูดถึงใน 2 ส่วน   คือ ความสนใจและความต้องการที่มีต่อการเข้าทำงานในองค์กร และแนวโน้มการประกอบอาชีพของกลุ่มคนรุ่นใหม่ยุค 4.0

จากผลการวิจัยเกี่ยวกับความสนใจและความต้องการที่มีต่อการเข้าทำงานในองค์กรของกลุ่มคนรุ่นใหม่ยุค 4.0 มีขนาดกลุ่มตัวอย่างอยู่ที่ 1,515 กลุ่มตัวอย่าง  สามารถนำเสนอได้ดังนี้

ประเภทขององค์กรที่สนใจอยากทำงานมากที่สุด คือ กิจการเจ้าของคนเดียว 49% รองลงมา บริษัทมหาชนจำกัด 30 % ธุรกิจ Start Up  27% บริษัทจำกัด 23% ราชการและธุรกิจแฟรนไชส์ 20% เท่ากัน รัฐวิสาหกิจ  19% 

นอกจากนี้ ประเภทธุรกิจที่สนใจอยากทำงานมากที่สุด คือ นวัตกรรมและเทคโนโลยี 33% รองลงมาบริการด้านสุขภาพและสังคม 23% การศึกษาและโรงแรมและภัตตาคาร 20% เท่ากัน เกษตรกรรม 19% ผู้ส่งออก 18% (ภาพประกอบ1) 

ผลการวิจัย สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐในการส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน

 

นอกจากนี้ องค์กร 12 ลำดับแรกที่คนรุ่นใหม่ยุค 4.0 ต้องการร่วมงาน มีดังนี้ บริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน) มากสุดคิดเป็น 22.1% รองลงมา บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เอสซีจี 16.5 % ลำดับที่ 3  เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) 14.8% ลำดับที่ 4 กูเกิล 13%  ลำดับที่ 5 การไฟฟ้านครหลวง 5.3% อันดับที่ 6 บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) 4.5% อันดับที่ 7 บริษัท ไลน์ (LINE) 2.8% อันดับที่ 8 มีสององค์กรที่ผลสำรวจเท่ากัน  แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส กับบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน 2.7%  อันดับที่ 9 บริษัทแอปเปิล 2.6% อันดับที่ 10 เซ็นทรัล กรุ๊ป 2.5% อันดับที่ 11 เฟซบุ๊ค กับ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด 2.4% อันดับที่ 12 สุดท้าย บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จํากัด มหาชน 2.1%

จะเห็นได้ว่า 12 องค์กรชั้นนำนอกจากองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่แล้ว  กลุ่มธุรกิจทางด้านดิจิทัลและโซเชียลเป็นหนึ่งในองค์กรที่คนรุ่นใหม่ต้องการจะเข้าทำงานอย่างมีนัยสำคัญ (ภาพประกอบ 2)

Employee Perspective 4.0 เทรนแรงงานยุคใหม่

สำหรับปัจจัยที่นำมาพิจารณาในการเข้าร่วมงานกับองค์กรมากที่สุด คือ ค่าตอบแทนและสวัสดิการ  แต่ขณะเดียวกันก็พิจารณาปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย จากผลวิจัยดังนี้ ค่าตอบแทนและสวัสดิการ 72% รองลงมา ลักษณะงาน 57%  ชื่อเสียงองค์กรและความมั่นคง 56% ความก้าวหน้าและโอกาสได้เรียนรู้  46% วันหยุด/เวลาทำงาน 41% ตามลำดับ 

อีกทั้ง ลักษณะสภาพแวดล้อมด้านกายภาพเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลอยากเข้าทำงานมากที่สุด คือ สภาพแวดล้อมสะอาด มีระเบียบ ทันสมัย 79% รองลงมาสภาพแวดล้อมมีความปลอดภัย 66% มีสถานที่พักผ่อนทำกิจกรรมยามว่าง 50% มีเครื่องดื่มให้รับประทาน 44% มีสถานที่จอดรถ 39% ไม่มีเสียงรบกวนและแสงสว่างพอเหมาะและมีโรงอาหารอยู่ใกล้ 38% เท่ากัน มีสถานที่ให้ออกกำลังกาย 37% ตามลำดับ

รวมทั้งในส่วนของสวัสดิการที่ต้องการมากที่สุด คือ โบนัสและการปรับเงินเดือนประจำปี 87% รองลงมา ประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุ 81% กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 77% ลากิจ/ลาพักผ่อน 71% ตรวจสุขภาพประจำปี 66% เบี้ยขยัน/ค่า Incentive เบี้ยเลี้ยง 58% ตามลำดับ(ภาพประกอบด้านล่าง)

Employee Perspective 4.0 เทรนแรงงานยุคใหม่

สำหรับแนวโน้มการประกอบอาชีพของกลุ่มคนรุ่นใหม่ยุค 4.0 ส่วนของลักษณะการทำงานที่ต้องการในปัจจุบันมากที่สุด คือ งานประจำ 65% รองลงมาประกอบธุรกิจส่วนตัว 32% งานอิสระ /สัญญาจ้าง 23% ผู้ประกอบการ Startup 19% งานพาร์ทไทม์ 18% งานนอกเวลา 17% รับหลายงานพร้อมกัน (2 งานขึ้นไป)  15% ตามลำดับ   สะท้อนให้เห็นว่า  คนรุ่นใหม่ยังคงต้องการความมั่นคงจากการทำงานประจำ  แม้มีแนวโน้มของ Gig Economy ในกลุ่มของงานระยะสั้นประเภทต่างๆ เติบโตสูงขึ้นในปัจจุบัน

Employee Perspective 4.0 เทรนแรงงานยุคใหม่ ทั้งนี้ ความต้องการเป็นผู้ประกอบการ Startup ของคนรุ่นใหม่ยุค 4.0 ซึ่งเป็นผู้ตอบแบบสอบถามพบว่า ส่วนใหญ่ต้องการเป็นผู้ประกอบการ Startup 64% และไม่ต้องการ 36%  และหากจำแนกตามช่วงปีการเกิดกับความต้องการเป็นผู้ประกอบการ Startup พบว่า Gen B (Baby Boomer) และGen Z ส่วนใหญ่ไม่ต้องการเป็นผู้ประกอบการ Startup แต่   Gen X  และ Gen M นั้น มีความต้องการเป็นผู้ประกอบการ Startup  ซึ่งเหตุผลที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการ Startup ระบุว่า  ทำให้มีรายได้เพิ่ม 38.5% มากที่สุด รองลงมามีอิสระในการทำงาน 20.5% เป็นนายตนเอง 18% ตามลำดับ  ทั้งนี้เมื่อจำแนกตามช่วงปีการเกิดกับเหตุผลที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการ Startup พบว่า Gen X Gen M และ Gen Z ส่วนใหญ่นั้นให้เหตุผลต้องการมีรายได้เพิ่ม ในขณะที่ Gen B (Baby Boomer) ส่วนใหญ่ให้เหตุผลต้องการมีเวลาให้กับครอบครัวมากขึ้น

Employee Perspective 4.0 เทรนแรงงานยุคใหม่ นอกจากนี้ธุรกิจ Startup ที่น่าสนใจมากที่สุด คือ ธุรกิจออนไลน์ 29% รองลงมา ธุรกิจร้านอาหาร 17% ธุรกิจนวัตกรรมและเทคโนโลยี 9% ธุรกิจเกม / เว็บไซต์รีวิวสินค้า / ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและการออกแบบที่โดดเด่น 7% เท่ากัน ตามลำดับ

Employee Perspective 4.0 เทรนแรงงานยุคใหม่ จากผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า  ไลฟ์สไตล์การทำงานของคนรุ่นใหม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต  องค์กรต้องสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานที่ดีระหว่างองค์กรและพนักงานที่ต้องร่วมมือกันทั้งสองฝ่ายในทุกมิติ โดยสวัสดิการที่คนรุ่นใหม่ต้องการมากที่สุด คือ โบนัสและการปรับเงินเดือนประจำปี ประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุ รวมทั้งลักษณะสภาพแวดล้อมด้านกายภาพสะอาด มีระเบียบ ทันสมัย สภาพแวดล้อมมีความปลอดภัย ล้วนเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องการ  

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าคนรุ่นใหม่อยากเข้าทำงานในองค์กรประเภทกิจการเจ้าของคนเดียว และอยากเข้าทำงานในธุรกิจนวัตกรรมและเทคโนโลยี นั่นสะท้อนให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่กำลังมองหารูปแบบการทำงานที่มีการดำเนินงานที่ไม่สลับซับซ้อน มีความคล่องตัวสูงในการทำงานและการตัดสินใจดำเนินงาน รวมถึงอาจมีโอกาสก้าวหน้าในสายงาน เพราะเป็นองค์กรขนาดเล็ก คนทำงานไม่มากนัก เพราะฉะนั้นการแข่งขันจึงมีน้อย ซึ่งเป็นลักษณะเด่นขององค์กรประเภทกิจการเจ้าของคนเดียว ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับรูปแบบการดำเนินงานของธุรกิจ Startup กิจการเจ้าของคนเดียวมีอยู่ทั่วประเทศจำนวนมาก ได้รับความนิยมสูงสุดและเป็นธุรกิจที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่ไม่ได้มองหาความมั่นคงในหน้าที่การงานเสมอไป แต่มองหาค่าตอบแทน สวัสดิการ ลักษณะงาน รวมทั้งโบนัสและการปรับเงินเดือนประจำปีที่เหมาะสมและยุติธรรมเพียงพอต่อต่อการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานมากกว่า  ถึงเวลาที่องค์กรจะต้อง “ปรับเปลี่ยน เพื่อตอบโจทย์คนทำงานยุค 4.0  และสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อให้คนทำงานมีความสุขและทำงานด้วยประสิทธิภาพที่ดีอันจะนำมาซึ่งประสิทธิผลของการทำงานต่อไป  และในบทความหน้าจะมาเจาะลึกในส่วนของการศึกษาพฤติกรรมการใช้เงินและการออมเงินของกลุ่มคนรุ่นใหม่ยุค 4.0 

Employee Perspective 4.0 เทรนแรงงานยุคใหม่