"ทอท." ​แตะเบรก! ชะลอขายซองประมูล "ดิวตี้ฟรี"

18 มี.ค. 2562 | 06:18 น.

ทอท. เลื่อนขายซองประกวดราคาดิวตี้ฟรี 4 สนามบิน ลดกระแสสังคม เดินหน้าตอบข้อข้องใจ ยัน! หากไม่มีเหตุผลมาหักล้างก็จะไปต่อ มั่นใจ! กระบวนการประมูลทำถูกต้อง

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ
กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวว่า ในขณะนี้ ทอท. ได้ตัดสินใจเลื่อนการขายซองประกวดราคาดิวตี้ฟรี 4 สนามบิน (สุวรรณภูมิ ภูเก็ต เชียงใหม่ หาดใหญ่) ในวันที่ 19 มี.ค. นี้ ออกไปก่อน เนื่องจากกระแสสังคมที่อาจจะยังตั้งข้อสงสัยในเรื่องนี้อยู่ ทอท. ก็จะทำความเข้าใจต่อสังคม ซึ่งหากไม่มีเหตุผลมาเป็นข้อโต้แย้ง มาหักล้าง ก็จะพิจารณาการขายซองใหม่อีกครั้งหนึ่ง คาดว่า ไม่น่าจะนาน หรือ ในราว 1-2 สัปดาห์ น่าจะพิจารณากรอบเวลาที่จะเดินหน้ากำหนดวันขายซองใหม่ได้ เพราะที่ผ่านมา ทอท. ยืนยันว่า ได้ดำเนินการอย่างถูกต้องครบกระบวนการตามกฏเกณฑ์ต่าง ๆ แล้ว


"ทอท." ​แตะเบรก! ชะลอขายซองประมูล "ดิวตี้ฟรี"
⇲ นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.


ทั้งนี้ การออกทีโออาร์ก่อนหน้านี้เป็นเพราะเราพิจารณาแล้วว่า โครงการนี้ไม่ได้เข้าข่ายที่จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (กฎหมายพีพีพี) เนื่องจากในมาตรา 7  แม้ท่าอากาศยานและการขนส่งทางอากาศจะเป็นหนึ่งในหน่วยงานเจ้าของโครงการที่จัดทำโครงการร่วมลงทุนในกิจการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ รวมถึงกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจการดังกล่าว ซึ่ง ทอท. พิจารณาแล้ว จึงเห็นว่า การเปิดสัมปทานดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินไม่ใช่กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นต่อการประกอบการท่าอากาศยานถึงขั้นถ้าไม่มีแล้วจะไม่สามารถให้บริการสนามบินได้ จึงมองว่า ไม่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ทำให้เราตัดสินใจเดินหน้าเปิดสัมปทานไปก่อนหน้านี้

ที่ผ่านมา ทอท. ได้พิจารณากระแสสังคมมาโดยตลอด ไม่ได้นิ่งเฉย โดยเฉพาะประเด็นการผูกขาดดิวตี้ฟรี ก็ไม่มีแล้ว เพราะ ทอท. จะมีการเปิดประมูล "พิกอัพ เคาน์เตอร์" ที่สนามบินสุวรรณภูมิภายในปีนี้ ก็จะทำให้ผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีในเมืองมาส่งสินค้าในสนามบินได้
 

ตามที่ปรากฏข่าวตามสื่อต่าง ๆ ทักท้วงการดำเนินงานของ ทอท. ในการจัดทำข้อกำหนดและรายละเอียดการให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ และการบริหารโครงการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ภายในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยเลือกประมูลแบบสัญญาเดียว ว่า มีลักษณะผูกขาด และอาจจะไม่สอดคล้องกับกฎหมายร่วมทุนที่มีการประกาศใช้ใหม่นั้น

"ทอท." ​แตะเบรก! ชะลอขายซองประมูล "ดิวตี้ฟรี"

นายนิตินัย กล่าวย้ำว่า ในการจัดทำข้อกำหนดและรายละเอียดของทั้ง 2 โครงการ ทอท. ได้มีการพิจารณาข้อมูลรอบด้านอย่างรอบคอบ รับฟังความคิดเห็นจากหลายองค์กรมาประมวลผล รวมทั้งศึกษาถึงบริบทโดยรวมรอบด้าน ได้ผลสรุปดังนี้

1.การเปิดเสรีเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากร (Duty Free Pick-up Counter) เป็นการยุติการผูกขาดธุรกิจร้านค้าปลอดอากร โดยสามารถเห็นตัวอย่างได้จากการเปิดเสรี Pick-up Counter ที่ท่าอากาศยานภูเก็ตทำให้มีผู้ยื่นความจำนงประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรในเมืองนับสิบราย ซึ่ง ทอท. คาดว่า หลังจากมีการเปิดเสรี Pick-up Counter ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการแข่งขันในธุรกิจร้านค้าปลอดอากรที่สำคัญ
ของประเทศไทย

2.รูปแบบของการให้สิทธิประกอบกิจการโครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรและการบริหารโครงการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ที่เหมาะสมที่สุดและเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายในระยะยาว คือ การให้สิทธิสัมปทานเพียงรายเดียว (Master Concessionaire) การแยกประมูลตามหมวดสินค้า (Category Consessions) จะไม่ส่งผลดีต่อองค์กรและประเทศชาติโดยรวม โดยในส่วนของกิจการร้านค้าปลอดอากรไม่เหมือนการค้าปลีก โดยเฉพาะเรื่องสถานที่ ห้างสรรพสินค้ามีประตูอยู่ที่เดิมตลอดไป แต่ท่าอากาศยานมี Contact Gate ที่เปรียบเสมือนประตู และแต่ละ Contact Gate สามารถรองรับเครื่องบินได้ในแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน ดังนั้น การไหลเวียนของผู้โดยสาร (Passenger Flow) ในท่าอากาศยานจึงแตกต่างจากห้างสรรพสินค้า โดยขึ้นอยู่กับประเภทเครื่องบินที่สายการบินนำมาให้บริการ ดังนั้น จึงมีความสุ่มเสี่ยงที่หากมีการแยกสัญญาแล้วจะทำให้ผู้ประกอบการบางรายมีปัญหาเมื่อปริมาณและการไหลเวียนของผู้โดยสารมีการเปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ ยังจะทำให้ภายในสนามบินเดียวกัน มีความแตกต่างให้เห็นทั้งในด้านโครงการส่งเสริมการขายและมาตรฐานการให้บริการ ซึ่งจะสร้างการเปรียบเทียบและความสับสนให้กับผู้โดยสาร อีกทั้งยังนำมาซึ่งการผูกขาดในรายสินค้านั้น ๆ และไม่ได้เป็นการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด แต่จะแสดงถึงความไม่มีมาตรฐานของสนามบินของประเทศอีกด้วย

3.การให้สิทธิประกอบกิจการทั้ง 4 ท่าอากาศยาน ซึ่งประกอบด้วย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ รวมอยู่ในสัญญาเดียว เนื่องจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ท่าอากาศยานที่มียอดขายน้อย เช่น ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ ประสบปัญหาการขาดทุน แต่สามารถยังดำเนินกิจการอยู่ได้ เนื่องจากมีการถัวกำไรจากท่าอากาศยานใหญ่ คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นอกจากนั้น การเปิดเสรีเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากร (Duty Free Pick-up Counter) ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต ได้เริ่มประสบปัญหาการขาดทุนจากการแข่งขันของร้านค้าปลอดอากรในเมือง (Downtown Duty Free) แสดงให้เห็นว่า ความแข็งแรงและศักยภาพของผู้ประกอบการจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น

ซึ่งจากผลการศึกษาของที่ปรึกษา ชี้ชัดว่า การรวมสัญญาของโครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรทั้ง 4 ท่าอากาศยาน จะทำให้ผู้ชนะการประมูลมีอำนาจต่อรองกับผู้แทนจำหน่าย (Supplier) ของสินค้า (Brand Name) ชั้นนำได้มาก ซึ่งธุรกิจร้านค้าปลอดอากรเป็นธุรกิจที่ต้องแข่งขันกับผู้ประกอบการอื่นในระดับโลก การจะทำให้ท่าอากาศยานภูมิภาคมีสินค้า Brand Name ให้บริการผู้โดยสารเหมือนที่ให้บริการในท่าอากาศยานใหญ่  ทอท. จำเป็นต้องคัดเลือกให้ได้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพมากที่สุดเพื่อให้สามารถแข่งขันในระดับโลกได้ หากท่าอากาศยานของไทยไม่สามารถแข่งขันได้ จะส่งผลเสียต่อประเทศชาติโดยรวมต่อไป

นายนิตินัย กล่าวย้ำในตอนท้าย ยืนยันว่า ทอท. ได้ดำเนินการจัดทำข้อกำหนดและรายละเอียดของทั้ง 2 โครงการตามขั้นตอนอย่างถูกต้องในทุกกระบวนการ โดยคำนึงประโยชน์สูงสุดของ ทอท. และประเทศที่จะได้รับเป็นสำคัญ รวมถึงการที่จะดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2562 ที่กำหนดให้มีคนนอกร่วมอยู่ในกระบวนการด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างโปร่งใส สามารถตรวจสอบและชี้แจงต่อสาธารณชนได้