ข่าวห้ามเขียน : ‘อ๊อฟ’เปลี๊ยนไป๋

16 มี.ค. 2562 | 15:23 น.

ข่าวห้ามเขียน : ‘อ๊อฟ’เปลี๊ยนไป๋
ข่าวห้ามเขียน : ‘อ๊อฟ’เปลี๊ยนไป๋
ท่ามกลางกระแสสังคมที่จับตาดูการเปิดประมูลพื้นที่จำหน่ายสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) ในพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ ที่ผู้บริหารรายเดิมกำลังจะหมดอายุสัมปทานในเดือนกันยายน 2563 เพราะหวั่นว่าทุนใหญ่จะผูกขาดการบริหารพื้นที่รายเดียวเหมือนๆกับช่วง
10 ปีที่ผ่านมา


แต่คณะกรรมการ(บอร์ด) บมจ.การท่าอากาศยานไทย หรือทอท.เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ก็ยังไฟเขียวให้ทอท. เปิดประมูลโครงการดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมิ แถมในสัญญาดิวตี้ฟรี ยังเป็นการรวมการประมูลพื้นที่ใน 4 สนามบิน “สุวรรณภูมิ หาดใหญ่ ภูเก็ต และเชียงใหม่” โดยรูปแบบการประมูลสัญญาแบบรายเดียว (Master Concession) ไม่ใช่สัมปทานแบบหมวดหมู่สินค้า (Concession by Category) อีกด้วย

รอบนี้ไม่ใช่แค่ สุวรรณภูมิ แต่เปิดทางให้กินรวบอีก 3 สนามบินเข้ามาด้วย

เสียงคัดค้านยังไม่จางหาย ประธานบอร์ด ทอท.อย่าง “ประสงค์ พูนธเนศ” ปลัดกระทรวงการคลัง ก็สำทับว่า ก็เปิดให้มีบริการเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากร (Duty Free Pick-up Counter) แล้วไง ยังต้องการอะไรอีก

นั่นเพราะก่อนหน้านั้น มีผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีจากต่างประเทศเรียกร้องให้สามารถเปิดบริการ DutyFree  Pick-up Counterได้เพื่อให้ผู้ประกอบการในเมือง (Downtown) สามารถส่งมอบสินค้าปลอดอากรในสนามบินได้

แต่นั่นยังไม่ใช่วัตถุประสงค์หลักของกระแสการคัดค้านแต่อย่างใด แต่ดูเหมือน ทอท.ก็ยังยืนหยัดตามแนวทางที่วางไว้ โดยเฉพาะทันทีที่พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (กฎหมายพีพีพี) ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2562

รุ่งขึ้นที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ “อ๊อฟ-นิตินัย ศิริสมรรถการ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.ก็จรดปากกาออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนที่สนใจซื้อเอกสารที่กำหนดรายละเอียดการประมูล TOR : Terms of Reference ทันทีตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม- 1 เมษายน 2562

กระแสกระพือขึ้นมาอีกครั้ง เพราะมีการตั้งคำถามกลับไปว่า เร็วเกินไปหรือไม่ เพราะภายใต้กฎหมายพีพีพียังไม่มีข้อยุติเลยว่า “พื้นที่ดิวตี้ฟรีถือเป็นกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับสนามบินหรือไม่” ซึ่งการจะบอกว่า เกี่ยวหรือไม่เกี่ยว ต้องมีการตีความทางกฎหมาย โดยคณะกรรมการพีพีพีที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และออกเป็นกฎหมายลูกโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)

เป็นการดำเนินการที่รีบเร่งแบบตีความเอง ซึ่งผู้อำนวยการ สคร. “ประภาศ คงเอียด” บอกได้เพียงว่า เขาคงไม่รู้มั้งว่า ต้องทำตามกฎหมายพีพีพีหรือเปล่า ก็เลยทำไปก่อน

จึงเป็นที่มาของเสียงเบรกดังเอี๊ยดจากทำเนียบฯให้ทบทวน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ

จาก 4 ดอกเตอร์ “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ วิรไท สันติประภพ เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ และ นิตินัย” ผู้มีบทบาทสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540

วันนี้มีเสียงจากทำเนียบรัฐบาลว่า ไม่น่าเชื่อว่าวันนี้อ๊อฟจะเปลี่ยนไป

 



|คอลัมน์ : ข่าวห้ามเขียน
| โดย : พรานบุญ
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3453 หน้า 20 ระหว่างวันที่ 17-20 มี.ค.2562 
ข่าวห้ามเขียน : ‘อ๊อฟ’เปลี๊ยนไป๋