"สงครามการค้า-ค่าเงินผันผวน" ทุบยอดใช้สิทธิ "FTA-GSP" วูบ

15 มี.ค. 2562 | 10:34 น.

พาณิชย์ เผย ยอดใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า ทั้ง "เอฟทีเอและจีเอสพี" ประเดิมเดือน ม.ค. มีมูลค่า 5,734 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 2.08% ชี้! ผลกระทบจากสงครามการค้า ค่าเงินผันผวน ระบุ อาเซียนยังนำโด่ง ไทยใช้สิทธิเอฟทีเอส่งออกสูงสุด ขณะใช้สิทธิจีเอสพีสหรัฐฯ ยังอันดับ 1

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เผยถึงการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) เดือน ม.ค. 2562 มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์รวมอยู่ที่ 5,734 ล้านดอลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 2.08% มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ อยู่ที่ 74.60% โดยแบ่งเป็น มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง FTA 5,323 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมูลค่าการส่งออกภายใต้ระบบ GSP 411 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ที่ลดลง เป็นไปในทิศทางเดียวกับการส่งออกของไทยในช่วงเดือน ม.ค. 2562 ที่มีอัตราลดลง 5.65% โดยส่วนหนึ่งอาจเป็นผลกระทบจากสงครามการค้า ความผันผวนของค่าเงินในตลาดโลก และการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินของหลายประเทศ
 

"สงครามการค้า-ค่าเงินผันผวน" ทุบยอดใช้สิทธิ "FTA-GSP" วูบ

 

สำหรับตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ จาก FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.อาเซียน มูลค่า 2,052 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, จีน 1,243 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น 705 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, ออสเตรเลีย 642 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอินเดีย 355 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวของมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ พบว่า ตลาดที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุด คือ เปรู มีอัตราการขยายตัว 90.43% รองลงมา คือ เกาหลี ขยายตัว 18.88% และอินเดียขยายตัว 12.66% ซึ่งทั้ง 3 ตลาดดังกล่าว นอกจากจะมีอัตราการขยายตัวสูงแล้ว ยังพบว่า มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงเช่นเดียวกัน โดยกรอบความตกลง FTA ที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ไทย-เปรู 114.74%, ไทย-ชิลี 101.20%, ไทย-ญี่ปุ่น 99.37%, อาเซียน-เกาหลี 94.11% และอาเซียน-จีน 90.18% และรายการสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์บรรทุก ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียม ข้าว และกุ้งอื่น ๆ แช่แข็ง
 

"สงครามการค้า-ค่าเงินผันผวน" ทุบยอดใช้สิทธิ "FTA-GSP" วูบ

สำหรับการใช้สิทธิ GSP ที่ปัจจุบันไทยยังคงได้รับสิทธิประโยชน์จาก 5 ประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช นอร์เวย์ และญี่ปุ่น ในเดือน ม.ค. 2562 มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP เท่ากับ 411 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อัตราการใช้สิทธิ 55.86% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ขยายตัว 8.62% โดยการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP ของสหรัฐฯ ยังคงมีสัดส่วนการใช้สิทธิมากที่สุด คือ ประมาณ 96% ของมูลค่าการใช้สิทธิ GSP มีมูลค่า 396.59 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีอัตราการใช้สิทธิ 64.24% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ซึ่งมีมูลค่า 617 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 8.45% สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ระบบ GSP สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง เครื่องดื่มอื่น ๆ และเลนส์แว่นตา
 

อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 กรมฯ ได้ประมาณการเป้าหมายอัตราการขยายตัวมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ ที่ 9% หรือคิดเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ประมาณ 81,025 ล้านดอลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 2.67 ล้านล้านบาท อัตราแลกเปลี่ยน 33 บาท/ดอลลาร์ จากปี 2561 มีมูลค่าการใช้สิทธิ FTA และ GSP ในการส่งออกรวมอยู่ที่ 74,335 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ อยู่ที่ 76.95%) เนื่องจากการส่งออกของไทยที่มีแนวโน้มการขยายตัวไปในตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ รวมทั้งนโยบายของภาครัฐ ที่คาดว่าจะมีการออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยสนับสนุนภาคการส่งออกของไทยให้เติบโต

"สงครามการค้า-ค่าเงินผันผวน" ทุบยอดใช้สิทธิ "FTA-GSP" วูบ