'สรรพากร' ผนึก 4 องค์กรรัฐและเอกชน ขับเคลื่อน SMEs บัญชีเดียว ในปี 62

14 มี.ค. 2562 | 08:20 น.

กรมสรรพากร ร่วมมือกับ 4 หน่วยงาน เพื่อบูรณาการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ ช่วยเพิ่มโอกาสในการทำธุรกรรมการเงิน รวมถึงเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางธุรกิจแก่เอสเอ็มอี และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ดำเนินการร่วมมือกับ 4 หน่วยงาน ได้แก่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เพื่อสนับสนุนและกำกับดูแลผู้ประกอบการให้จัดทำบัญชีและงบการเงินให้ถูกต้อง และสอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ โดยเป็นการยกระดับความร่วมมือครั้งสำคัญของภาครัฐและภาคเอกชนที่จะดำเนินการร่วมกันตามเจตนารมณ์
 

'สรรพากร' ผนึก 4 องค์กรรัฐและเอกชน ขับเคลื่อน SMEs บัญชีเดียว ในปี 62

ทั้งนี้ กรมฯ ได้เสนอมาตรการยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากร และความรับผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากรที่เกี่ยวข้อง ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) ที่มายื่นแบบแสดงรายการภาษี พร้อมชำระภาษีครบถ้วน โดยมีเงื่อนไขต้องเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีรายได้ทางภาษีไม่เกิน 500 ล้านบาท และได้ลงทะเบียนในระบบของกรมสรรพากรภายในระยะเวลาที่กำหนด และต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (e-Filing) ทุกประเภทภาษี เป็นระยะเวลา 1 ปีต่อเนื่อง

"ความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยให้เอสเอ็มอีมีรากฐานทางธุรกิจที่มั่นคง มีความน่าเชื่อถือ เสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในอนาคต อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสในการแข่งขันให้เอสเอ็มอีก่อให้เกิดการขยายตัวของการแข่งขันทางธุรกิจ เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวแล้ว เอสเอ็มอียังสามารถใช้งบการเงินที่ถูกต้องเป็นหลักฐานในการทำธุรกรรมทางการเงินและการขออนุมัติสินเชื่อได้อีกด้วย"
 

'สรรพากร' ผนึก 4 องค์กรรัฐและเอกชน ขับเคลื่อน SMEs บัญชีเดียว ในปี 62

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบัน กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้มีการเชื่อมโยงส่วนของฐานข้อมูลงบการเงินที่เอสเอ็มอีนำส่งต่อกรมทางระบบ DBD e-Filing ไปยังฐานข้อมูลของกรมสรรพากร ทำให้เอสเอ็มอีที่ต้องยื่นแบบเสียภาษีอากรได้รับความสะดวก ไม่ต้องแนบงบการเงินซ้ำ นอกจากนี้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่เอสเอ็มอีกลุ่มที่อยู่ในเงื่อนไขได้รับการยกเว้นเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม และประสงค์จะส่งงบการเงินฉบับใหม่ เพื่อทดแทนฉบับเดิมที่มีข้อผิดพลาด กรมได้เปิดช่องทาง Fast Track ในการนำส่งงบการเงินฉบับใหม่ผ่านทางระบบ DBD e-Filing

นางวจีทิพย์ พงษ์เพ็ชร ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า เพื่อส่งเสริมให้เอสเอ็มอีจัดทำบัญชีและงบการเงินที่สะท้อนสถานะทางการเงินอย่างโปร่งใส ธปท. จึงได้กำหนดแนวทางปฏิบัติในการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยให้ใช้งบการเงินที่ลูกค้าแสดงต่อกรมสรรพากรในการยื่นรายการภาษีเงินได้ ซึ่งสะท้อนถึงฐานะและผลประกอบการในอดีตเป็นปัจจัยสำคัญประกอบการพิจารณาสินเชื่อ โดยอาจนำปัจจัยเชิงปริมาณ หรือ ปัจจัยเชิงคุณภาพอื่น ๆ เช่น แผนธุรกิจ คำขอเสนอซื้อสินค้า มาใช้ในการประเมินศักยภาพของธุรกิจและความสามารถในการชำระหนี้คืนของผู้กู้ได้ ซึ่งแนวนโยบายดังกล่าวได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ เพื่อให้มาตรการดังกล่าวของภาครัฐสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ ตลอดจนเพื่อสร้างความโปร่งใสและยกระดับธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจ อันจะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือและความยั่งยืนในระยะยาว ธปท. จึงได้สนับสนุนให้สถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจมีมาตรการจูงใจสำหรับลูกค้าที่มีงบการเงินที่โปร่งใส เช่น ลดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืม รวมทั้งสนับสนุนให้มีมาตรการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ ในการทำบัญชีแก่ผู้ประกอบการด้วย
 

'สรรพากร' ผนึก 4 องค์กรรัฐและเอกชน ขับเคลื่อน SMEs บัญชีเดียว ในปี 62

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล นายกสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า สภาวิชาชีพบัญชีฯ จะช่วยผลักดันและร่วมมือกับทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐบาลและเอกชน ให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบการจัดทำบัญชีที่ถูกต้อง แม้ว่าการกระทำต่าง ๆ จะทำให้บรรลุเป้าหมายยากลำบาก เพราะเกี่ยวข้องกับหลายส่วน เช่น ผู้ประกอบการ วิธีปฏิบัติ ฯลฯ แต่เมื่อปัจจุบัน รัฐบาลผ่อนผันแนวทางปฏิบัติให้ปรับบัญชีให้ถูกต้อง เอสเอ็มอีควรส่งมอบข้อมูลพื้นฐานที่เกิดขึ้นตามจริงแก่นักบัญชี เช่น การซื้อ ขาย จ่าย รับ เพื่อนักบัญชีจะได้นำข้อมูลบันทึกรายการตามจริงได้ นอกจากนี้ สภาวิชาชีพบัญชีฯ ตระหนักถึงความยุ่งยากในการดำเนินกิจการ ว่า ต้องใช้เวลาและความพยายามในการดำเนินการมาก จึงหาทางช่วยเหลือเพื่อลดต้นทุนการทำงาน เพื่อให้นักบัญชีและผู้ตรวจสอบบัญชีทำงานได้ง่ายขึ้น จึงพัฒนาระบบ "Application SME สบายใจ" ให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้ใช้ ภายในเดือน เม.ย. 2562 นี้

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน กกร. กล่าวว่า กกร. ได้มีการผลักดันให้เอสเอ็มอีจัดทำบัญชีให้ถูกต้องและสอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ แต่ยังมีเอสเอ็มอีที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการจัดทำบัญชีให้ถูกต้อง ดังนั้น กกร. จะเป็นศูนย์กลางการให้ข้อมูลข่าวสาร สนับสนุนให้เอสเอ็มอีมีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเราได้รับข่าวดีที่กรมสรรพากรได้เสนอมาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการเพื่อสนับสนุนให้จัดทำบัญชีให้ถูกต้อง โดยยกเว้นเบี้ยปรับเงินเพิ่มภาษีอากรและความรับผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากรที่เกี่ยวข้องให้แก่เอสเอ็มอี
 

'สรรพากร' ผนึก 4 องค์กรรัฐและเอกชน ขับเคลื่อน SMEs บัญชีเดียว ในปี 62

"ก่อนหน้านี้ สมาชิกของ กกร. ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้ประชาสัมพันธ์และจัดทำสื่อต่าง ๆ จัดงานสัมมนากว่า 10 ครั้งทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบบัญชีเดียวมาโดยตลอด ซึ่งการเสนอมาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการอันเป็นการช่วยเหลือเอสเอ็มอีของกรมสรรพากร ถือเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการที่จะดำเนินการจัดทำบัญชีให้ถูกต้องนับจากนี้ มิฉะนั้น ผู้ประกอบการจะมีความเสี่ยงในการทำธุรกรรมทางการเงินและการแข่งขันทางธุรกิจ"

'สรรพากร' ผนึก 4 องค์กรรัฐและเอกชน ขับเคลื่อน SMEs บัญชีเดียว ในปี 62