ลุยตั้งแหล่งบ่มเพาะธุรกิจสร้างสรรค์ แห่งที่ 6

14 มี.ค. 2562 | 07:05 น.

         นางสาวมนฑิณี ยงวิกุล ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและการตลาด และรักษาการผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมเพื่อธุรกิจและสังคม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัย
ราชภัฏราชนครินทร์ จัดตั้ง “แหล่งบ่มเพาะธุรกิจสร้างสรรค์” (miniTCDC CENTER) แห่งที่ 6 ครีเอทีฟฮับแห่งใหม่ของภาคตะวันออก เพื่อขยายโอกาสให้นักศึกษา นักออกแบบ ผู้ประกอบการธุรกิจสร้างสรรค์ สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ด้านงานออกแบบและไอเดียในการเริ่มต้นธุรกิจสร้างสรรค์ โดยภายในแหล่งบ่มเพาะฯ ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ คือ 1. หนังสือด้านการออกแบบ 2. ตัวอย่างวัสดุเพื่อการออกแบบจากทั้งในและต่างประเทศ และ 3. บริการฐานข้อมูลออนไลน์ และฐานข้อมูลที่ห้องสมุดเฉพาะด้านการออกแบบ นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ที่ได้รับการรังสรรค์ใหม่โดย CEA เพื่อเป็นไอเดียในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และฟังก์ชั่นบริการให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ทั้งนี้ มินิ ทีซีดีซี เซนเตอร์ สาขามหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ พร้อมเปิดให้บริการ
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.30 - 16.30 น. 

ลุยตั้งแหล่งบ่มเพาะธุรกิจสร้างสรรค์ แห่งที่ 6

                                                      นางสาวมนฑิณี

อย่างไรก็ตาม จากยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนและพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของรัฐบาล สู่การเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชั้นนำและทันสมัยที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ซีอีเอ ในฐานะหน่วยงานที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ จึงพร้อมขานรับนโยบาย และเดินหน้าเชื่อมโยงภาคศึกษา ผ่านการจับมือ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จัดตั้ง “แหล่งบ่มเพาะธุรกิจสร้างสรรค์” (miniTCDC CENTER) แห่งที่ 6 ศูนย์กลางเชื่อมต่อองค์ความรู้ด้านความคิดสร้างสรรค์และเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการระดับภูมิภาค เพื่อขยายโอกาสให้นักศึกษา นักออกแบบ ผู้ประกอบการธุรกิจสร้างสรรค์ สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ด้านงานออกแบบและไอเดียในการเริ่มต้นธุรกิจสร้างสรรค์ พร้อมผลักดันผลิตภัณฑ์ชุมชน ธุรกิจสร้างสรรค์ระดับชุมชน ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดอีอีซี ตลอดจนพัฒนาศักยภาพพื้นที่สร้างสรรค์ 
ให้เป็นที่ยอมรับและพร้อมรองรับการขยายตัวการลงทุนและเขตท่องเที่ยวในเขตอีอีซี

ลุยตั้งแหล่งบ่มเพาะธุรกิจสร้างสรรค์ แห่งที่ 6
นางสาวมนฑิณี กล่าวต่อว่า ภายในมินิ ทีซีดีซี เซนเตอร์ สาขาดังกล่าว จะประกอบด้วยฐานข้อมูลความรู้ด้านงานออกแบบใน 3 ส่วนสำคัญ คือ 1. หนังสือด้านการออกแบบ จำนวน 500 เล่มต่อปีการศึกษา พร้อมตู้หนังสือสำหรับติดตั้งในพื้นที่ห้องสมุด โดยประเภทของหนังสือจะครอบคลุมสาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ ตกแต่งภายใน สถาปัตยกรรม แฟชั่นและสิ่งทอ เรขศิลป์ ภาพนิ่งและภาพยนตร์ เป็นต้น และ 2. ตัวอย่างวัสดุเพื่อการออกแบบจากทั้งในและต่างประเทศ จำนวน 24 ชิ้นต่อปีการศึกษา อาทิ ผ้าที่ผลิตจากยางรถยนต์รีไซเคิล หนังสัตว์ที่แกะลายและตัดด้วยเลเซอร์ทำให้ดูเหมือนหัตถกรรมผ้าลูกไม้แบบสเปน และ ผ้าลินินทอด้วยมือที่มีลวดลายคล้ายตารางหมากรุก เป็นต้น 3. บริการฐานข้อมูลออนไลน์ และฐานข้อมูลที่ห้องสมุดเฉพาะด้านการออกแบบบอกรับ ได้แก่ ฐานข้อมูล Global Market Information Database (GMID) นำเสนอข้อมูลเพื่อการวิจัยและการวิเคราะห์เชิงยุทธศาสตร์ทางการตลาด ส่วนแบ่งตลาด พฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงแนวโน้มตลาดเกิดใหม่ของอุตสาหกรรมต่างๆ มากกว่า 200 ประเทศ ฐานข้อมูลวัสดุ Material ConneXion นำเสนอข้อมูลวัสดุเพื่อการออกแบบที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ มากกว่า 7,500 ชนิด และข้อมูลผู้ผลิตกว่า 3,000 แห่งจากทั่วโลก เป็นต้น 
นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นในพื้นที่อีอีซี คือ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ที่ได้รับการรังสรรค์ใหม่โดย CEA จำนวนรวมทั้งสิ้น 10 ชิ้น อาทิ บรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบเพื่อให้สามารถแสดงรูปลักษณ์สินค้าและช่วยป้องกันความเสียหายระหว่างขนส่งสำหรับปลาทูเค็ม หรือ บรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบเพื่อรองรับรูปทรงของทุเรียนกวนที่มีลักษณะยาว ซึ่งบรรจุภัณฑ์ทุกชิ้นถูกคิดค้นจากพื้นฐานของการผสมผสานเทคนิคการออกแบบสมัยใหม่ ร่วมกับกระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์มีฟังก์ชั่นบริการที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ที่มีความต้องการหลากหลายยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับสถาบันการศึกษาที่ร่วมเป็นเครือข่ายกับ ซีอีเอ จะมีสิทธิเข้าร่วมกิจกรรมที่ช่วยสร้างเสริมประสบการณ์และต่อยอดความรู้จากการเรียนการสอนในภาคปกติ รวมไปถึงการมอบทุนสนับสนุนองค์ความรู้และกิจกรรมสร้างสรรค์ที่สถาบันการศึกษาดำเนินการร่วมกับชุมชนในท้องถิ่น เพื่อพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ของเมืองอย่างยั่งยืน
ด้าน รศ.ดร.ดวงพร ภู่ผะกา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ กล่าวเสริมว่า การจัดตั้ง “แหล่งบ่มเพาะธุรกิจสร้างสรรค์” (miniTCDC CENTER) ภายในมหาวิทยาลัย ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการเตรียมพร้อมและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในพื้นที่ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดอีอีซี ท่ามกลางบรรยากาศของการเติบโตและการแข่งขันสูงของ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งนอกจากจะเป็นปัจจัยหนึ่งในการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนทางธุรกิจ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นในพื้นที่แล้ว ยังเป็นการหล่อหลอมและบ่มเพาะมุมมองความคิดด้านการออกแบบแก่ นักออกแบบวิชาชีพ ผู้ประกอบการธุรกิจสร้างสรรค์ รวมถึงนักศึกษา ที่จะก้าวสู่การเป็นนักออกแบบรุ่นใหม่ในอนาคต มองเห็นโอกาสในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่มีอยู่เดิม ให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น มีหน้าตาที่แปลกใหม่ขึ้น บนพื้นฐานของความคิดสร้างสรรค์ กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) และ วัตถุดิบทางการศึกษาในรูปแบบของบริการแหล่งสารสนเทศที่ทันสมัย
ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) และ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ร่วมพิธีลงนามความร่วมมือ พร้อมเปิด “แหล่งบ่มเพาะธุรกิจสร้างสรรค์” (miniTCDC CENTER) อย่างเป็นทางการ เมื่อเร็วๆ นี้ ณ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จังหวัดฉะเชิงเทรา 

ลุยตั้งแหล่งบ่มเพาะธุรกิจสร้างสรรค์ แห่งที่ 6