"หมดเวลาเกรงใจ" กลยุทธ์หาเสียง ทิ้งทวน

13 มี.ค. 2562 | 07:30 น.

... วาทกรรมการเมืองของ 3 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จาก 3 พรรคการเมืองใหญ่ ที่ชิงความเป็น 1 ในสนามเลือกตั้งช่วงโค้งสุดท้าย หรืออาจจะเรียกว่าเป็นช่วง "ทิ้งทวน" ก็ว่าได้ ก่อนที่จะมีการหย่อนบัตรเลือกตั้ง ส.ส. ในวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคมนี้ "ดุเดือด" ชนิดไม่มีใครยอมใคร!

"ไม่มีวันยอมให้พรรคที่ทุจริตมานำประเทศ ไม่เอาทั้งพวกบกพร่องโดยสุจริต หรือ ทุจริตเชิงนโยบาย เอาเสียงของประชาชนมาหาประโยชน์ให้คนกลุ่มเดียว นายกฯ 4 คนของประชาธิปัตย์ ไม่เคยมีมลทินเรื่องทุจริต รัฐมนตรีในรัฐบาลประชาธิปัตย์เมื่อมีเรื่องอื้อฉาวทุจริต ลาออกทันที"


เป็นจุดเริ่มต้นของวาทกรรมและการแสดงจุดยืนทางการเมืองของ "อภิสิทธ์ เวชชาชีวะ" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่เรียกเสียงฮือฮาไม่น้อย
 

เท่านั้นยังไม่พอ 'อภิสิทธิ์' ยังตอบคำถามในเวทีดีเบตของ เดอะ สแตนดาร์ด ในหัวข้อ "ทำไมต้องเลือกคุณ" ด้วยการฉายภาพให้เห็นความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวในรัฐบาล 'ยิ่งลักษณ์' และการหลบหนีคดีมาประกอบ

แม้ 'อภิสิทธิ์' ไม่เอ่ยชื่อพรรค แต่แน่นอนว่า โดยนัยสังคมย่อมมองไปที่พรรคเพื่อไทย ขณะที่ ความสนใจของสังคมจดจ้องยุทธวิธีหาเสียงของพรรคสีฟ้า 'อภิสิทธิ์' เรียกเสียงฮือฮาอีกครั้ง เมื่อโพสต์เฟซบุ๊กตอบโจทย์ "จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ หรือไม่" จนสังคมตามกันแทบไม่ทัน

"ชัด ๆ เลยนะครับ ผมไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่อแน่นอน" พร้อมให้เหตุผลว่า "การสืบทอดอำนาจสร้างความขัดแย้ง และขัดกับอุดมการณ์ของประชาธิปัตย์ ที่ว่า ประชาชนเป็นใหญ่ 5 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจ ยํ่าแย่ประ เทศเสียหายมามากพอแล้ว หมดเวลาเกรงใจแล้วครับ"

เจอหมัดตรงจากพรรคพระแม่ธรณีบีบมวยผมอย่างจัง แม่ทัพหญิงเพื่อไทย อย่าง คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย ถึงกับต้องโพสต์เฟซบุ๊กถามหาจุดยืน 'อภิสิทธิ์' แบบชัด ๆ เช่นกัน

"หมายความว่าจะเอาพรรคพลังประชารัฐใช่หรือไม่ ดังนั้น นายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์จะต้องเลือก เพราะมันไม่มีฝ่ายเป็นกลางในสภา มีเพียงฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น"

พร้อมกับทิ้งท้ายตามสไตล์สวยแต่เจ็บ ว่า "ขอให้ประชาธิปัตย์ตอบให้ชัดอย่าหวังเพียงแค่คะแนนก่อนเลือกตั้ง บอกว่าไม่ร่วม กับเพื่อไทยเราขอบคุณ เพราะเราก็ไม่ร่วมกับคุณ"

หลังเจอประเด็นกังขา "จุดยืน ปชป." จาก "คุณหญิงหน่อย" และคำถามจากคนในสังคม ทำเอา "อภิสิทธิ์" ต้องออกมาประกาศยํ้าจุดยืนทางการเมือง เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ว่า พร้อมเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และถ้า ปชป. ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และตราบใดที่พรรคเพื่อไทยไม่สามารถออกมาจากการครอบงำของคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่มีผลประโยชน์ขัดกับผลประโยชน์ของคนในประเทศ พรรคจะไม่ยอมให้เข้าร่วมรัฐบาลด้วย
 

"หมดเวลาเกรงใจ" กลยุทธ์หาเสียง ทิ้งทวน
 

จุดยืนทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ประเด็นไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ดูเหมือนไม่เกินความคาดหมายของสังคม เพราะประกาศอยู่คนละขั้วกับพรรคเพื่อไทยมาตั้งแต่ต้น

แต่ท่าทีแข็งกร้าวของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่จุดพลุ "หมดเวลาเกรงใจ" และประกาศไม่สนับสนุน ลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้เกิดปฏิกิริยาจากบรรดาแฟนคลับ "ลุงตู่" อย่างแรงเช่นกัน โดยเฉพาะ ลุงกำนัน-สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ถึงกับจวกผู้ร่วมอุดมการณ์อย่าง 'อภิสิทธิ์' อย่างแรง พร้อมทวงบุญคุณทำนองว่า ถ้าไม่มีตนเอง 'อภิสิทธิ์' ก็ไม่มีวันได้เป็นนายกฯ ทั้งยังโพสต์เฟซบุ๊กว่า "หมดเวลาเกรงใจกันแล้ว"

"เมื่อประชาธิปัตย์ประกาศเลือกข้างมาแล้ว ผมก็ขอประกาศเช่นกันว่า คนที่เคยเลือกประชาธิปัตย์มาตลอดชีวิตเหมือนผม ตัดสินใจชัดเจนประกาศหนุน พล.อ.ประยุทธ์ แบบไม่ต้องเกรงใจด้วยเช่นกัน" ลุงกำนัน ระบุ

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งมีข้อจำกัดเรื่องการขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงช่วยพรรคพลังประชารัฐ ได้เขียนกลอนที่สะท้อนจุดยืนทางการเมืองชื่อ 'พลังประชารัฐ' ฝากให้แกนนำพรรคพลังประชารัฐ อ่านให้คนโคราชฟังในการปราศรัยใหญ่เพื่อหาเสียง โดยมีประโยคหนึ่งว่า "อย่ายอมให้คนพาล มาผลาญชาติ" ซึ่งถือเป็นการประกาศจุดยืนไม่เอา 'เพื่อไทย' อย่างแข็งขันและต่อเนื่อง

สำหรับกระแสร้อนที่ทำให้พรรคการเมืองประกาศจุดยืนเลือกข้างระหว่างฝั่ง "เผด็จการ" และ "ฝ่ายประชาธิปไตย" ในขณะนี้นั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้แต่ตอบคำถามสื่อมวลชนแบบปลง ๆ ว่า "เป็นเรื่องธรรมดา ปล่อยเขาเถอะ"

และพูดชัดว่า "ผมไม่สนใจ" เมื่อถูกถามถึงความรู้สึกที่ถูกอภิสิทธิ์ใช้ยุทธศาสตร์หาเสียง ไม่เอา "พล.อ.ประยุทธ์" ในโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง

ช่วงเวลาที่เหลือจากนี้ไปก่อนลงคะแนนเลือกตั้ง จะมีอะไร "เซอร์ไพรส์" ออกมาหาเสียงจากพรรคไหนในช่วงสุดท้ายอีกหรือไม่ ต้องคอยติดตามกันต่อไป

| รายงาน โดย ทีมข่าวการเมือง 

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3452 ระหว่างวันที่ 14 - 16 มีนาคม 2562

"หมดเวลาเกรงใจ" กลยุทธ์หาเสียง ทิ้งทวน