ปฏิกิริยา : ความไม่ไว้วางใจกัน บ่อนทำลายประเทศ

11 มี.ค. 2562 | 11:24 น.

ปฏิกิริยา : ความไม่ไว้วางใจกัน บ่อนทำลายประเทศ

ความไม่ไว้วางใจเปรียบดังเชื้อโรคที่สามารถแพร่ไปทุกทิศทุกทางในเวลาอันรวดเร็วและสามารถทำให้การดำเนินไปของทุกระบบของประเทศทั้งระบบเศรษฐกิจและสังคมรวมถึงระบบความมั่นคงของประเทศชะงักงันได้


ที่เกริ่นนำเช่นนี้ เนื่องจากในวันที่ 5 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมาเป็นวันนักข่าว และผมได้มีโอกาสฟัง ดร. วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าว ในงานดินเนอร์ทอล์กประจำปี 2562 ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “เศรษฐกิจไทยท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง” มีประเด็นหนึ่งที่ทำให้ผมฉุกคิดว่าทำไมประเทศไทยไม่คืบหน้าเท่าที่ควรไม่ว่าด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

ดร. วิรไท ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่าน่าเสียดายว่าในช่วงที่ผ่านมาความไว้วางใจกันได้ลดน้อยลงในสังคมไทย จนส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทำได้ยากขึ้นกว่าเดิมมาก สังคมใดก็ตามที่มีความแคลงใจต่อกัน สังคมนั้นจะเดินหน้าได้ยากมาก ยากที่คนจะยอมแลกผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม ยากที่จะยอมแลกผลประโยชน์ของตนในระยะสั้นกับผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว การแก้ไขปัญหาสำคัญต่างๆ ของประเทศจะต้องเผชิญกับแรงต้านตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำ ยากที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงหรือการปฏิรูปใดๆ ให้สำเร็จได้

“การสร้างความไว้วางใจกันจึงเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยได้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ ผมคิดว่าการสร้างความไว้วางใจกันและการเปลี่ยนแปลงที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน”

วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ฟังแล้วผมคล้อยตามทันที เพราะรู้อยู่เต็มอกว่า ปัญหาสังคมของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่กำลังเผชิญอยู่ขณะนี้คือ แนวโน้มความเสื่อมศรัทธาต่อสถาบันทางสังคม โดยเฉพาะทางด้านการเมือง (ระบบเลือกตั้ง) เศรษฐกิจ (ภาคการเงิน) และวัฒนธรรม อาการเสื่อมศรัทธานี้ จะทำให้มนุษย์ขาดความไว้วางใจกันและกัน มากขึ้นเรื่อย ๆ

ยกตัวอย่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส ที่คัดผู้สมัครให้เหลือ 2 คนที่ได้คะแนนสูงสุด แล้วต่อไปผู้สมัคร 2 คนนี้ต้องแข่งขันกันเอง ผลออกมาว่าได้ผู้แข่งขันชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นผู้หญิงที่มีแนวคิดขวาจัดกับผู้ชายที่มีแนวคิดขวากลาง เพียงแค่นี้ก็เกิดการประท้วงกันขึ้นในฝรั่งเศส และการประท้วงในยุโรปก็มักจะต้องมีการเผารถยนต์กัน เผากัน ทำลายสิ่ง  ของกันทำไม ก็ไม่รู้  รู้แต่ว่าเรื่องทำนองนี้จะขยายไปทั่วโลก

ในอดีตปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่เป็นพื้นฐานให้สังคมสงบและเจริญงอกงามคือ “ความไว้เนื้อเชื่อใจ” กันของคนในสังคม/ชุมชน ซึ่ง “ความไว้เนื้อเชื่อใจ” ทางสังคมมี 2 ลักษณะ ได้แก่ ความไว้เนื้อเชื่อใจแบบทั่วไป  กับ ความไว้วางใจกันแบบเฉพาะเจาะจง 

ความไว้เนื้อเชื่อใจกันแบบทั่วไปของคนในสังคมเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเป็นพื้นฐานที่จะทำให้สังคมโดยรวมสามารถเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน เกิดความร่วมมือร่วมใจกันพัฒนา เสริมสร้างความสามัคคี

ส่วน “ความไว้วางใจกันแบบเฉพาะเจาะจง” เป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม เฉพาะพวก มีการเกื้อประโยชน์กันในวงจำกัด ความไว้เนื้อเชื่อใจแบบเฉพาะเจาะจงรุนแรงขึ้นในสังคมไทย ย่อมส่งผลให้คนเห็นแก่ตัวและเห็นแก่พวกพ้องมากกว่ามองถึงสังคมโดยรวม
ปฏิกิริยา : ความไม่ไว้วางใจกัน บ่อนทำลายประเทศ
ปฏิกิริยา : ความไม่ไว้วางใจกัน บ่อนทำลายประเทศ
 

ผมได้รวบรวมข้อมูลผลเสียของความไม่ไว้วางใจของคนไทยไว้ ให้ท่านผู้อ่านช่วยคิดวิเคราะห์ว่าเราจะร่วมกันช่วยประเทศของเราได้บ้างไม่มากก็น้อย

ประการแรก การขาดความไว้เนื้อเชื่อใจแบบทั่วไปทำให้การประสานงานล้มเหลว  ในเกือบจะทุกระดับของสังคมไทย ประเทศไทยเดินหน้าไม่ได้ถ้าเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาความล้มเหลวของการประสานงานได้อย่างเป็นรูปธรรม

ประการที่สอง เราคงต้องคิดว่าจะปรับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างไร ที่จะทำให้คนไทยไม่เห็นแก่ตัวเพิ่มขึ้นเมื่อรวยขึ้น เรามีตัวอย่างจำนวนมากของคนที่ยิ่งรวย ยิ่งโกง ยิ่งเห็นแก่ตัว ถ้าปล่อยไว้เช่นนี้แล้ว เศรษฐกิจไทยจะเปราะบางมาก พร้อมที่จะเกิดวิกฤติล้มลงได้ง่าย ความเห็นแก่ตัวเป็นรากฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม แต่ความโลภและความเห็นแก่ตัวที่เกินควรก็ทำให้ระบบทุนนิยมพังได้เช่นกัน

ประการที่สาม  ซึ่งสำคัญมาก คือการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและสถาบันจะต้องเริ่มที่ “ผู้นำ” ผู้นำจำนวนมากในสังคมไทยปัจจุบันที่เราไม่รู้ว่าจะเชื่อถือได้อย่างไร หลายคนยิ่งรวย ยิ่งขี้โกง หลายคนเจตนาพูดแต่พูดความจริงไม่หมด เพื่อให้คนหลงเชื่อคล้อยตาม

เรื่องของผู้นำเป็นเรื่องที่โยงถึงระบบของการได้มาซึ่งผู้นำของประเทศด้วย ระบบการเมืองไทยเป็นระบบที่นิยมความไว้เนื้อเชื่อใจเฉพาะพวกพ้องมากกว่าความไว้เนื้อเชื่อใจแบบทั่วไป นักการเมืองนิยมมองสั้นๆ แค่หาทางให้ชนะการเลือกตั้งครั้งต่อไป ผู้นำการเมืองไทยมักมีฐานมาจากการทำธุรกิจที่อิงอำนาจรัฐเพราะเงินเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ชนะการเลือกตั้ง


ในโอกาสใกล้เลือกตั้ง ยังพอมีเวลาเหลือให้คนไทยพิจารณาเป็นการบ้าน ประเทศต้องพัฒนาจากการคัดสรรของพวกเราครับ อย่ามองข้ามวิกฤติในขณะนี้ เพระมันเป็นปรากฏการณ์ที่งอกขึ้นจากราก “ความไม่ไว้วางใจต่อกันและกัน” ของมนุษยชาติ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 'วิรไท' ชู 3 ปัจจัย รับมือเศรษฐกิจโลกยุคใหม่

|คอลัมน์ : ปฏิกิริยา
| โดย : ชิษณุชา เรืองศิริ
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจออนไลน์

*** พบกับคอลัมน์ปฏิกิริยา อัพเดทประเด็นร้อนได้ทุกวันจันทร์
ปฏิกิริยา : ความไม่ไว้วางใจกัน บ่อนทำลายประเทศ