บสย. ตั้งทีมลุย "ค้ำประกันเอสเอ็มอี-เช่าซื้อ"

10 มี.ค. 2562 | 09:10 น.

บสย. ลุยตั้งทีมงานลงทุนพัฒนาระบบวิเคราะห์สินเชื่อ หนุนบริการลูกค้าเชิงรุก แบ่งเบาภาระสถาบันการเงิน มั่นใจ! คุณภาพสินเชื่อดีขึ้น ดันยอดค้ำประกันสินเชื่อแตะ 1.07 แสนล้านบาท เจาะลูกค้าใหม่ 8.5 หมื่นราย พร้อมเดินหน้าคุยบริษัทเช่าซื้อในระบบ เล็งค้ำประกันซื้อเครื่องจักร

นายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
ว่า แนวโน้มสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ทั้งระบบในปี 2562 คาดว่าจะขยายตัว 6-7% คิดเป็นยอดคำขอสินเชื่อใหม่ 5-6 แสนล้านบาท ขณะที่ มียอดชำระคืน (Re-Payment) 3-3.5 แสนล้านบาท ซึ่งปกติ บสย. จะเข้าไปค้ำประกันสินเชื่อราว 18-20% ของสินเชื่อใหม่ หรือคิดเป็นยอดสินเชื่อใหม่ 7-8% ถือว่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากในอดีต ที่มียอดสินเชื่อราว 1% ซึ่งใกล้เคียงกับต่างประเทศ อย่าง ญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน ที่มียอดสินเชื่อ 10-11% และหากคิดเป็นจำนวนลูกค้าเอสเอ็มอีจะอยู่ที่ 10-11%ใกล้เคียงกับญี่ปุ่น สะท้อนว่า บสย. ทำได้ค่อนข้างดี เนื่องจากทั้ง 3 ประเทศ ใช้เครื่องมือการค้ำประกันเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีเหมือนกับไทย เพราะประชาชนมีหลักประกันไม่พอถึง 99%

บสย. ตั้งทีมลุย "ค้ำประกันเอสเอ็มอี-เช่าซื้อ"
วิเชษฐ วรกุล

 

สำหรับเป้าหมายในปีนี้ บสย. ได้ลงทุนเม็ดเงินหลักสิบล้านในการพัฒนาระบบและคน เพื่อวางเรื่องการบริหารความเสี่ยงและสร้างเครดิตสกอริ่งที่จะนำมาวิเคราะห์สินเชื่อ จะมีทีมวิเคราะห์สินเชื่อ 6 คน มาช่วยพิจารณาสินเชื่อ โดยลูกค้าสามารถเดินเข้ามาหา บสย. ก่อนจะไปธนาคารพาณิชย์ได้ ซึ่ง บสย. จะมีกระบวนการอนุมัติก่อน หรือ Pre-Approve ภายใต้หลักการพิจารณาเงินกู้ 5C เช่น ประวัติการชำระเงิน ความสามารถการชำระ เงินทุน หรือ สัดส่วนหนี้ต่อทุน (D/E) หลักประกัน และเงื่อนไขอื่น ๆ เช่น วัตถุประสงค์การใช้เงิน ประเภทวงเงินสินเชื่อ

ทั้งนี้ บสย. จะเริ่มทำในกลุ่มลูกค้าที่ยังเข้าไม่ถึงสถาบันการเงิน เช่น ลูกค้ารายเล็ก โดย บสย. จะออกเป็นหนังสือค้ำประกันให้ลูกค้า เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์กล้าปล่อยสินเชื่อ รวมถึงลดภาระงานที่ไปอยู่กับธนาคารพาณิชย์ด้วย ถือเป็นการต่อยอดการเป็น One Stop Service โดยทำงานเชิงรุกมากขึ้น รวมถึงจะช่วยให้คุณภาพสินเชื่อดีขึ้น จากที่มียอดปฏิเสธสินเชื่อราว 1% ของคำขอสินเชื่อค้ำประกันทั้งหมดที่มาจากธนาคาร ซึ่งปี 2561 ธนาคารทหารไทยและกสิกรไทยยังคงมีลูกค้าเข้ามาขอสินเชื่อค้ำประกันเป็นอันดับต้น ๆ ส่วนสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) จะเป็นธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศ ไทย (ธพว.) และธนาคารออมสิน

สำหรับเป้าหมายการค้ำประกันสินเชื่อปีนี้ อยู่ที่ 1.07 แสนล้านบาท เติบโตราว 10% โดยมาจาก 2 ส่วน คือ ฐานลูกค้าเดิมที่มี 3.7 แสนราย ที่ต้องการวงเงินเพิ่มเติม และลูกค้าใหม่ที่ตั้งเป้าค้ำประกัน 8.5 หมื่นราย เช่น กลุ่มแท็กซี่ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกลุ่มส่งออกใน CLMV รวมถึงจะเน้นเจาะรายเซ็กเมนต์ เช่น กลุ่มสหกรณ์ และลีสซิ่ง-เช่าซื้อ อย่าง ลูกค้าซื้อเครื่องจักร ถือเป็นกลุ่มที่สถาบันการเงินยังไม่ค่อยให้ความสำคัญมากนัก

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,444 วันที่ 14 - 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

บสย. ตั้งทีมลุย "ค้ำประกันเอสเอ็มอี-เช่าซื้อ"