เครือกฟผ. ดิ้นปรับตัว เล็งอีอีซีโอกาสธุรกิจ

13 มี.ค. 2562 | 03:00 น.

กลุ่มในเครือกฟผ.ดิ้น หารายได้เสริม แตกไลน์ธุรกิจใหม่ในอีอีซี เอ็กโก เร่งศึกษาจัดตั้งนิคมฯ 500 ไร่ รับ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ส่วนราชบุรีโฮลดิ้ง เล็งผุดดิจิทัลพาร์ก สมาร์ทซิตีและสมาร์ทกริด และยื่นประมูลพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา

แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่(2561-2580) หรือพีดีพี 2018 ถือเป็นข้อจำกัดหรือการขยายธุรกิจด้านการผลิตไฟฟ้าของประเทศในช่วง 7-8 ปี ข้างหน้าก็ว่าได้ ที่จะไม่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เกิดขึ้น มีแต่เพียงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะทดแทนของเก่าที่หมดอายุลงเท่านั้น

ส่งผลให้องค์กรอย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) หรือแม้แต่บริษัทลูกอย่างบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน)หรือเอ็กโก และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) พยายามดิ้นที่จะปรับตัวไปสู่ธุรกิจอื่นๆ เพื่อหารายได้เข้ามาเสริม

เครือกฟผ. ดิ้นปรับตัว เล็งอีอีซีโอกาสธุรกิจ

โดยกฟผ.อยู่ระหว่างการขอแก้ไข พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยขึ้นมาใหม่ เพื่อเข้าไปดำเนินงานในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับไฟฟ้าได้ซึ่งล่าสุดลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการศึกษาและพัฒนา Smart City ด้านพลังงาน กับทางการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อร่วมกันพัฒนารูปแบบธุรกิจการให้บริการด้านพลังงานในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในอีอีซี

ขณะที่เอ็กโกอาศัยพื้นที่ของโรงไฟฟ้าระยอง ที่หมดอายุลงตั้งแต่ปี 2557 นำพื้นที่ราว 500 ไร่ มาพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรม หรือแม้แต่บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งฯเอง กำลังมองหาโอกาสที่จะเข้าไปลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี และร่วมประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก

นายจักษ์กริช พิบูลย์ไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เอ็กโกสนใจการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ซึ่งพิจารณาไว้หลายด้านเบื้องต้นจะพัฒนาพื้นที่โรงไฟฟ้าระยองจัดทำเป็นนิคมอุตสาหกรรม ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาในรายละเอียดของโครงการ ว่าจะจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมประเภทใดใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปีนี้ 

เครือกฟผ. ดิ้นปรับตัว เล็งอีอีซีโอกาสธุรกิจ

ขณะที่นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH เปิดเผยว่า แผนลงทุนโครงการในพื้นที่อีอีซีบริษัทได้ศึกษาไว้หลายโครงการ อาทิโครงการดิจิทัลพาร์ค สมาร์ทซิตี และสมาร์ทกริด ที่จะเข้าดำเนินงานนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งการร่วมทุนกับผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าในภาคตะวันออก ที่มีแผนจะขยายกำลังการผลิต หรือมีการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในพื้นที่นิคม และบริษัทยังให้ความสนใจโครงการผลิตแบตเตอรี่ เพื่อรองรับการใช้ในภาคพลังงาน

นอกจากนี้ บริษัทยังจับมือกับพันธมิตรรายเดิมในการยื่นประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่จะเปิดให้ยื่นซองเอกสารในวันที่ 21 มีนาคม 2562 

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3451 ระหว่างวันที่ 10 - 13 มีนาคม 2562

เครือกฟผ. ดิ้นปรับตัว เล็งอีอีซีโอกาสธุรกิจ