"ย่านพหลฯ" ศูนย์กลางเมืองใหม่ เชื่อมระบบราง

11 มี.ค. 2562 | 04:30 น.

สนข. ดันย่านพหลโยธิน 2,325 ไร่ ทำเลทอง พัฒนาทีโอดีรอบสถานีกลางบางซื่อ เปิดให้บริการปี 64 เชื่อมศูนย์กลางระบบราง เพิ่มจุดจอดรถให้เข้าถึงขนส่งสาธารณะอย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย
 

"ย่านพหลฯ" ศูนย์กลางเมืองใหม่ เชื่อมระบบราง

นายชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม กล่าวในรายการสัมมนา "พลิกโฉมไทย เปิดประตูสู่เศรษฐกิจนวัตกรรม" ภายใต้หัวข้อ "เชื่อมราง เชื่อมรถ เชื่อมคน ลดเหลื่อมลํ้า เข้าถึงคมนาคมไร้รอยต่อ" ที่จัดโดย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ว่า กระทรวงคมนาคมมีเป้าหมายพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ เชื่อมการเดินทาง ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดว่าปลายปี 2563 จะแล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการต้นปี 2564 ดังนั้น จึงต้องเร่งพัฒนาพื้นที่โดยรอบย่านพหลโยธิน 2,325 ไร่ เป็นทำเลต่อยอดการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางเมืองใหม่ในอนาคต เชื่อมต่อกับระบบรถไฟชานเมืองเข้ากับรถไฟฟ้าในเมือง จำนวน 5 สาย ประกอบด้วย สายสีเขียวอ่อน, สายสีนํ้าเงิน, สายสีม่วง, แอร์พอร์ตเรลลิงค์ และสายสีแดง

"สิ่งสำคัญของการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อและสถานีรถไฟฟ้าอื่น ๆ คือ พื้นที่โดยรอบของสถานี หรือ TOD เพราะพฤติกรรมการเดินทางของประชาชนจะเปลี่ยนไป ต้องเดินทางสะดวก ดังนั้น ต้องมีที่จอดรถ (พาร์กแอนด์ไรด์) เพื่อให้ประชาชนจอดรถและเปลี่ยนการเดินทาง"

นอกจากนี้ ยังต้องมีการวางระบบฟีดเดอร์ หรือ "สมาร์ท บัส" มีที่จอดรถแท็กซี่ ที่จอดรถบัส รถเมล์ ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับระบบคมนาคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการเดินทางด้วยจักรยาน สิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุ ดังนั้น ต้องสร้างความเท่าเทียมให้ทุกวัยสามารถเดินทางได้สะดวก
 

"ย่านพหลฯ" ศูนย์กลางเมืองใหม่ เชื่อมระบบราง


โดยพิจารณาจากเสียงสะท้อนของประชาชน คือ 1) เข้าถึงรถโดยสารสาธารณะอย่างสะดวก, 2) ตรงเวลา, 3) ราคาสมเหตุผล และ 4) ต้องปลอดภัย จากโจทย์นี้ กระทรวงคมนาคมกำหนดออกมาเป็น 3 เรื่องหลัก คือ 1) การเดินทางในเมืองและระหว่างเมืองต้องหันมาใช้ขนส่งสาธารณะ ใช้ระบบราง ไม่ว่าจะเป็น รถไฟฟ้า หรือ ระบบรถไฟทางคู่, 2) ความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 3) การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ให้ทุกคนเข้าถึงระบบได้ เน้นเชื่อมด้วยนวัตกรรมบริหารจัดการ ตามกรอบยุทธศาสตร์ 20 ปีของกระทรวงคมนาคม โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางของประชาชน โดยมีเป้าหมายพัฒนาระบบรางภายในปี 2565 จะมีระบบราง 16 สาย ระยะทาง 3,172 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบัน 2 โครงการแรกของรถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ และยังมีอีก 5 โครงการ ที่กำลังก่อสร้างอยู่ เช่น เส้นทางนครปฐม-หัวหิน, ลพบุรี-ปากนํ้าโพ เป็นต้น และอีก 9 โครงการ ที่จะเสนอ ครม. อนุมัติต่อเนื่องกันไป

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,451 วันที่ 10-13 มีนาคม 2561

"ย่านพหลฯ" ศูนย์กลางเมืองใหม่ เชื่อมระบบราง