แล้งถาโถม! "ร้อยเอ็ด-ศรีสะเกษ" ขาดน้ำดื่มน้ำใช้พุ่ง

08 มี.ค. 2562 | 06:11 น.

ปลัดเกษตรฯ ถือธงนำหน้าปล่อยคาราวานเครื่องจักร-เครื่องมือ เคลื่อนพลพร้อมบูรณาการด้านข้อมูลน้ำประสานพื้นที่ใกล้ชิด กรมประมงหวั่น! ปีนี้แล้งรุนแรง-ยาวนาน แนะเกษตรกรควรเฝ้าระวังดูแลสัตว์น้ำ ด้าน ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร ระบุ ประกาศภัยแล้งแล้ว 2 จังหวัด ขาดแคลนน้ำกิน-น้ำใช้ 5 อำเภอ 32 หมู่บ้าน
 

แล้งถาโถม! "ร้อยเอ็ด-ศรีสะเกษ" ขาดน้ำดื่มน้ำใช้พุ่ง


วันนี้ (8 มี.ค. 62) นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเตรียมการรับมือภัยแล้งและพิธีปล่อยขบวนคาราวานเครื่องจักรกล เครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่คาดว่าจะประสบภัยแล้ง กล่าวว่า ตามที่ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายให้หน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ที่เกี่ยวข้อง มีความตื่นตัว ตระหนัก และเตรียมพร้อมในการรับมือสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังจะมาถึง โดยมอบหมายให้กรมชลประทานเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำฐานข้อมูลปริมาณน้ำทั้งประเทศ ความต้องการใช้น้ำ ทั้งในเขตและนอกเขตชลประทานอย่างเป็นระบบ เพื่อนำมาวิเคราะห์เป็นรายพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง และกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่
 

แล้งถาโถม! "ร้อยเอ็ด-ศรีสะเกษ" ขาดน้ำดื่มน้ำใช้พุ่ง


ทั้งในการเตรียมความพร้อมด้านเครื่องมือ เครื่องจักร ในการช่วยเหลือ หากประสบภาวะขาดแคลนน้ำ รวมทั้งการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการประชุมในวันนี้ ได้มีการรายงานผลการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2561/62 (1 พ.ย. 61 - 7 มี.ค. 62) มีปริมาณน้ำเก็บกักทั้งประเทศ แบ่งเป็น 1) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง มีปริมาณน้ำกักเก็บ 47,141 ล้าน ลบ.ม. นำมาใช้ได้ 23,599 ล้าน ลบ.ม., 2) อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 412 แห่ง มีปริมาณน้ำกักเก็บ 2,696 ล้าน ลบ.ม. นำมาใช้ได้ 2,310 ล้าน ลบ.ม. และ 3) ปริมาณน้ำจากแหล่งน้ำอื่น ๆ นำมาใช้ได้ 1,138 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณน้ำใช้การทั้งประเทศ 27,047 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเป็นไปตามแผนที่วางไว้
 

แล้งถาโถม! "ร้อยเอ็ด-ศรีสะเกษ" ขาดน้ำดื่มน้ำใช้พุ่ง


"วันนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้ปล่อยคาราวานเครื่องจักรกล เครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ ลงไปในพื้นที่เสี่ยงที่จะประสบภัยแล้ง ตามนโยบายของรัฐบาลที่มอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ เข้ามาดูแลและแก้ไขปัญหาภัยแล้งของเกษตรกรและประชาชน อีกทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เน้นย้ำและกำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำให้ตลอดรอดฝั่งในช่วงแล้งนี้ ซึ่งได้มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2561 และจากการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง จึงได้มีการเตรียมเครื่องมือ เครื่องจักร ลงไปในพื้นที่เพื่อบรรเทาภัยแล้งในเบื้องต้น รวมทั้งมีแผนการติดตามสถานการณ์และรายงานผลให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ รับทราบในทุกวันจันทร์อีกด้วย" ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าว
 

แล้งถาโถม! "ร้อยเอ็ด-ศรีสะเกษ" ขาดน้ำดื่มน้ำใช้พุ่ง


ด้าน นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมครั้งนี้เป็นการปล่อยขบวนคาราวานเครื่องมือ เครื่องจักร อาทิเช่น รถบรรทุกน้ำและเครื่องสูบน้ำ เครื่องจักรกลอื่น ๆ จากสำนักเครื่องจักรกลส่วนกลาง เข้าสนับสนุนพื้นที่เพิ่มเติม โดยจัดส่งเครื่องสูบน้ำจำนวน 1,935 เครื่อง รถสูบน้ำจำนวน 258 คัน เครื่องผลักดันน้ำจำนวน 527 เครื่อง รถขุดจำนวน 499 คัน เรือขุดจำนวน 69 ลำ รถบรรทุกจำนวน 511 คัน รถบรรทุกน้ำจำนวน 106 คัน รถแทรกเตอร์จำนวน 565 คัน เครื่องจักรกลสนับสนุนอื่น ๆ อีก 373 เครื่อง และสะพานเหล็กแบบถอดประกอบได้ ยาว 44 เมตร จำนวน 7 อัน พร้อมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการตามพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
 

แล้งถาโถม! "ร้อยเอ็ด-ศรีสะเกษ" ขาดน้ำดื่มน้ำใช้พุ่ง


ด้าน นายถาวร จิระโสภณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ขณะนี้ หลายพื้นที่ของประเทศไทยเริ่มมีสภาพอากาศที่แล้งแห้ง และบางพื้นที่มีโอกาสเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ โดยลักษณะเช่นนี้จะทำให้ในช่วงเวลากลางวันอุณหภูมิสูงขึ้นและอากาศร้อนจัด ปริมาณน้ำทั้งในแหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำชลประทานลดน้อยลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ นอกจากนี้ จากสภาวะดังกล่าวอาจทำให้อุณหภูมิน้ำเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ซึ่งเป็นสาเหตุให้สัตว์น้ำที่เกษตรกรเลี้ยงไว้เกิดความเครียด อ่อนแอ และตายได้
 

แล้งถาโถม! "ร้อยเอ็ด-ศรีสะเกษ" ขาดน้ำดื่มน้ำใช้พุ่ง


ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น กรมประมงจึงได้จัดทำแผนเตรียมรับสถานการณ์ในช่วงฤดูแล้ง ประจำปี 2562 เพื่อให้สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ โดยมีการวางแผนการให้ความช่วยเหลือไว้ 3 ระยะ คือ 1) การเตรียมรับสถานการณ์ก่อนเกิดภัยแล้ง, 2) การให้ความช่วยเหลือขณะเกิดภัยแล้ง และ 3) การให้ความช่วยเหลือหลังเกิดภัยแล้ง พร้อมสั่งการให้เจ้าหน้าที่ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนแก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อเตรียมตัวรับกับสถานการณ์ รวมทั้งหาวิธีการป้องกัน แก้ไข และหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังให้คำแนะนำทางวิชาการแก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อเตรียมการป้องกันอีกด้วย
 

แล้งถาโถม! "ร้อยเอ็ด-ศรีสะเกษ" ขาดน้ำดื่มน้ำใช้พุ่ง


ด้าน ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานสถานการณ์ภัยแล้ง ข้อมูล ณ วันที่ 7 มี.ค. 2562 ช่วง ม.ค. 2562 ถึงปัจจุบัน จังหวัดได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือภัยแล้งฯ แล้ว 2 จังหวัด ได้แก่ จ.ร้อยเอ็ด และ จ.ศรีสะเกษ จำนวน 5 อำเภอ 32 หมู่บ้าน เนื่องจากขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบด้านการเกษตร
 

แล้งถาโถม! "ร้อยเอ็ด-ศรีสะเกษ" ขาดน้ำดื่มน้ำใช้พุ่ง


ด้าน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เริ่มปฏิบัติฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจ่าปี 2562 ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2562 โดยจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการ 14 แห่ง ใน 5 ภูมิภาค ได้แก่ จ.เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ กาญจนบุรี ลพบุรี ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา อุบลราชธานี สุรินทร์ จันทบุรี สระแก้ว สงขลา และ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้สรุปผลรวมปฏิบัติการ ตั้งแต่เริ่มตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง (วันที่ 1 มี.ค. – 6 มี.ค. 62) มีการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงจำนวน 4 วัน มีฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็นร้อยละ 62.50 ขึ้นปฏิบัติงานจำนวน 26 เที่ยวบิน (34:30 ชั่วโมงบิน) จังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 4 จังหวัด ได้แก่ จ.ร้อยเอ็ด จันทบุรี สระแก้ว และประจวบคีรีขันธ์ 

แล้งถาโถม! "ร้อยเอ็ด-ศรีสะเกษ" ขาดน้ำดื่มน้ำใช้พุ่ง