คุมเข้มงบ 6.1 พันล้าน ‘กุลิศ’สั่งพลังงานจังหวัดสอบ 456 โครงการ

10 มี.ค. 2562 | 09:48 น.

 

 

“ประจิน” ทิ้งทวนอนุมัติงบอนุรักษ์พลังงานเจ้าปัญหากว่า 6.1 พันล้านบาท 456 โครงการ เอื้ออบต.ทำโซลาร์สูบนํ้า “กุลิศ” คุมเข้ม สั่งพลังงานจังหวัดเร่งตรวจสอบทุกโครงการ ชี้หนุนโครงการโซลาร์สูบนํ้าหวังแก้ปัญหาภัยแล้ง มั่นใจเริ่มเดินหน้าเม.ย.นี้

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มีพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ประกาศผลพิจารณาโครงการที่ได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนอนุรักษ์ฯ ประจำปีงบประมาณ 2562 (รอบ2) จำนวน 456 โครงการ วงเงินสนับสนุนรวมกว่า 6.1 พันล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงบสนับสนุนโครงการติดตั้งระบบสูบนํ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในนามบุคคล เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อื่นๆ รวมกันเกือบ 270 โครงการ วงเงินสนับสนุนประมาณ 1,551 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้การพิจารณางบดังกล่าวได้มีการตั้งข้อสงสัยในการใช้งบ และมีคณะกรรมการตรวจสอบเกี่ยวกับข้อครหา งบประมาณปี 2561 (ในส่วนเพิ่มเติมไทยนิยมยั่งยืน) วงเงิน 5,200 ล้านบาท และปี 2562 มูลค่า 13,000 ล้านบาทที่มีการทักท้วงกันเรื่องความไม่โปร่งใส แต่สุดท้ายเรื่องกลับเงียบเฉย

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการกองทุนอนุรักษ์ฯ อนุมัติโครงการจำนวน 456 โครงการ รวมวงเงินกว่า 6.1 พันล้านบาท สาเหตุที่ส่วนใหญ่เป็นโครงการโซลาร์สูบนํ้า เนื่องจากใกล้เข้าสู่ช่วงฤดูแล้ง หากโครงการสามารถเดินหน้าได้เร็ว คาดว่าจะสามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ภายในเดือนเมษายนนี้ จะสามารถช่วยลดปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนได้ คุมเข้มงบ 6.1 พันล้าน  ‘กุลิศ’สั่งพลังงานจังหวัดสอบ 456 โครงการ

อย่างไรก็ตามโครงการที่ได้รับการอนุมัติจำนวน 456 โครงการ จะต้องมีการตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้งก่อนลงนามสัญญา ซึ่งได้สั่งการให้พลังงานจัวหวัดเข้าตรวจสอบรายละเอียดทุกโครงการ โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับระบบโซลาร์สูบนํ้าที่เป็นรายบุคคลของแต่ละเทศบาล, ตำบล และอำเภอนั้นๆ ประมาณ 20-30 โครงการ จะต้องเข้าไปตรวจสอบรายละเอียดก่อน เช่น พื้นที่ที่ขอดำเนินโครงการประมาณ 30-40 บ่อนั้น มีเอกสารรายงานการทดสอบปริมาณนํ้า (นบ.4) และรายงานประวัติบ่อนํ้าบาดาล (นบ.5)  จากกรมทรัพยากรนํ้าบาดาลหรือไม่

รวมถึงมีการปลอมแปลงเอกสาร หรือมีรายชื่อผู้รับรองซํ้าซ้อนกันหรือไม่ หากพบว่า ไม่ถูกต้อง หรือเป็นการปลอมแปลงเอกสาร จะถูกตัดสิทธิ์ทันที แม้ว่าจะเป็นโครงการที่ได้รับอนุมัติจากกองทุนอนุรักษ์ฯ แล้วก็ตาม แต่ยังไม่ได้มีการลงนามสัญญา ดังนั้นสามารถตัดสิทธิ์ได้ ส่วนงบประมาณที่เหลือจะส่งกลับคืนไปยังรัฐต่อไป

“คณะกรรมการกองทุนฯ อนุมัติ 456 โครงการ กว่า 6 พันล้านบาท จากกรอบวงเงินทั้งสิ้น 9.3 พันล้านบาท จากก่อนหน้านี้มีผู้ยื่นเสนอขอสนับสนุนมากกว่า 1.7 พันโครงการ คิดเป็นวงเงินรวมกว่า 3.8 หมื่นล้านบาท แต่โครงการที่ได้รับการอนุมัติล่าสุด ก็สามารถตัดสิทธิ์ออกได้อีก หากพบว่ารายละเอียดไม่ครบ โครงการไม่มีศักยภาพจริง ซึ่งเมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา ได้เรียกประชุมพลังงานจังหวัด พร้อมสั่งการให้ตรวจสอบรายละเอียดโครงการ ขณะเดียวกันคณะทำงานพิจารณากลั่นกรองกองทุนฯ ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานติดตามและประเมินผลโครงการฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้โครงการต่างๆ ขับเคลื่อนได้จริง”นายกุลิศ กล่าว

ส่วนงบปี 2562 (รอบ2) วงเงินที่เหลืออีก 2.5 พันล้านบาท สำหรับนำไปให้กระทรวงมหาดไทยใช้ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือ อปท. ดำเนินการสร้างระบบคัดแยกขยะชุมชนครบวงจร สำหรับนำขยะมาเป็นเชื้อเพลิงรูปแบบไฟฟ้าและก๊าซชีวภาพนั้น ยังต้องรอให้นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานอนุกรรมการบริหารกองทุนอนุรักษ์ฯ พิจารณารายละเอียดเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่อไป 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,451 วันที่ 10-13 มีนาคม 2561

คุมเข้มงบ 6.1 พันล้าน  ‘กุลิศ’สั่งพลังงานจังหวัดสอบ 456 โครงการ