ทางออกนอกตำรา : ‘ลุงตู่’ เป็นใคร Who am I ?

06 มี.ค. 2562 | 11:22 น.

ลุงตู่เป็นใคร-01
สมรภูมิทางการเมืองในขณะนี้ การต่อสู้เพื่อก้าวเข้ามาทำหน้าที่ผู้แทนราษฎร และฝ่ายบริหารของบรรดานักการเมืองต้องถือว่า เป็นอุณหภูมิ “เลือดเดือด”
 

ทุกพรรคต่างเดินหน้าในเกม “การเลือกตั้ง” ตามระบอบประชาธิปไตยอย่างเอาจริงเอาจัง บรรยากาศความตึงเครียดทางการเมืองที่สงบมา 5 ปี เริ่มส่งกลิ่นคลุ้งไปด้วย “ลมปากในการเอาชนะ” และ “คำสัญญาว่าจะทำ...” ให้ประชาชนผู้มีสิทธิในการเลือกตั้งได้ “ฝันเห็น”
 

ขณะเดียวกันนั้น สถานะและความเชื่อมั่นในตัว ลุงตู่- พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี ที่บริหารประเทศมายาวนาน 5 ปีเศษ กำลังถูกท้าทายอย่างหนักหน่วง
 

“เผด็จการ-สืบทอดอำนาจ” บริหารบ้านเมืองล้มเหลว-คนไม่มีจะกินกันอยู่แล้ว ฯลฯ ดาหน้าออกมาถล่มจากบรรดานักการเมือง จนผู้คนลืมนึกไปว่า ผู้ที่นำพาประเทศให้ล้มเหลวเกิดสงครามกลางเมือง ผู้คนเข่นฆ่ากันตาย เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างรุนแรงในช่วงปี 2556-2557 จนประเทศไทยแทบไม่ต่างจาก “ซีเรีย” ก็คือนักการเมืองเหล่านี้แหละ...
332193
เป็นนักการเมืองในปัจจุบันที่ออกมาอาสาเป็นตัวแทนประชาชนนี่แหละ ที่สู้รบช่วงชิงอำนาจกัน โดยเอาประเทศชาติ ประชาชน มาเป็นตัวประกัน โดยไม่สนใจว่าใครจะเป็น ใครจะตาย...จนสุดท้ายเกิดการรัฐประหาร พาประเทศพ้นสงครามกลางเมืองมาได้...
 

บัดนี้สมรภูมิประชาธิปไตยกินได้เปิดกว้างขึ้นอีกครา นักการเมืองชุดเดิมนี่แหละประกาศกร้าวว่า “เมื่อฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน....ประชาธิปไตยกินได้ พี่น้องเอร้ย...”
 

ผมไม่เถียงในเรื่อง ประชาธิปไตย การรัฐประหาร การต่อสู้ของมวลชน ทัศนคติทางการเมือง...กับใครมายาวนานแล้ว แต่ผมอยากสะท้อนให้ขบคิดกันให้ดี ตัดสินใจอย่างมีสติ เลือกคนที่ท่านศรัทธา เลือกคนที่ดี มาเป็นตัวแทนท่าน อย่าปล่อยให้นักการเมืองชั่วๆ ที่อาสาเข้ามาทำหน้าที่ พอกาบัตรเสร็จ อำนาจในฐานะตัวแทนไปอยู่ในมือก็ไม่เคยสนใจประชาชน ใช้อำนาจอย่างไร้ขีดจำกัดในทางรัฐสภาและการบริหาร จนคนจะฆ่าตายกันทั้งประเทศก็ยังไม่สนใจไยดี...คนเหล่านี้ควรกลับมาหรือไม่...ท่านตอบเอง

ทางออกนอกตำรา : ‘ลุงตู่’ เป็นใคร  Who am I ? เพิ่มเพื่อน

พ้นจากเรื่องการต่อสู้ทางการเมือง มาดูเรื่องใหญ่ว่าด้วยสถานะของ “ลุงตู่” ที่ตอนนี้เริ่มน่วมไปทั้งตัว ต้องบอกว่า แม้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเปิดไฟเขียวให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร่วมดีเบตนโยบายได้ และขึ้นเวทีปราศรัยให้พรรคพลังประชารัฐได้ แต่ปัญหาเกี่ยวกับสถานะของ “บิ๊กตู่” ในทางกฎหมายยังไม่จบ
 

พลันเมื่อ “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” ทีมกฎหมายพรรคไทยรักษาชาติ ร้อง กกต. ว่า “บิ๊กตู่” มีลักษณะต้องห้ามสำหรับการเป็น “ว่าที่นายกรัฐมนตรีในบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอ” เพราะยังดำรงตำแหน่งหัวหน้าคสช.อยู่ ซึ่งถือเป็น “เจ้าหน้าที่รัฐ” แค่นั้น สะเทือนไปทั้งปฐพี
 

ใครไปดู รัฐธรรมนูญมาตรา 89 ที่กำหนดหลักเกณฑ์การเสนอชื่อ “แคนดิเดตนายกฯ” ว่า ผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 ที่กำหนด “คุณสมบัติ” ของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี มีอยู่ 8 ข้อ และข้อ 6 ระบุว่า ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98
 

มาตรา 98 เขาระบุว่า ห้ามเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
 

ปัญหาอยู่ตรงนี้แหละ หัวหน้า คสช. คือ “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” หรือไม่ เพราะได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนเป็น “เงินประจำตำแหน่ง และเงินเพิ่ม” ตามพระราชกำหนดเงินเดือนประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญบางตำแหน่ง พ.ศ. 2557 รับเงินประจำตำแหน่ง 75,590 บาทต่อเดือน และ เงินเพิ่ม 50,000 บาทต่อเดือน รวมแล้วเดือนละ 125,590 บาท
 

“วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯบอกว่า “คสช.ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ เพราะเป็นแค่องค์กรชั่วคราวที่ถูกตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ” ผู้คนก็ไม่เชื่อ...
 

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เคยบอกเอาไว้ตั้งแต่หลังรัฐประหารใหม่ๆ ว่า คสช.ไม่เข้าข่ายเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญ และตามกฎหมาย ป.ป.ช. เนื่องจากเป็นองค์กรชั่วคราวที่ตั้งขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ก็ไม่มีใครเชื่อ แล้วลุงตู่...คือใคร! Who am I?
49949680_519372558558364_2070976338994397184_n
ความจริงเรื่องนี้เคยมีการตีความไว้ใน คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2543 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2543 ซึ่งวินิจฉัยอธิบายคำว่า “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไว้ สามารถนำมาเทียบเคียงได้ โดยตอนนั้น พ.ต.อ.เจือ อัมรนันทน์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดอุทัยธานี ร้องคัดค้านประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามมาตรา 266 กรณี กกต.วินิจฉัยลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา
 

ตอนนั้น คู่มือใบสมัครมิได้อธิบายคำว่า “เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 109(11) ไว้แต่อย่างใด ทำให้ผู้สมัครเข้าใจว่า ไม่มีลักษณะต้องห้าม แต่หลังจากปิดการรับสมัครครบ 7 วัน กกต.ตีความ คำว่า “เจ้าหน้าที่รัฐ” ว่า หมายความรวมถึงกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กรรมการอิสลามประจำจังหวัด กรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กรรมการการประถมศึกษาจังหวัด กรรมการสถาบันราชภัฏ และกรรมการประจำสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิ อนุกรรมการข้าราชการตำรวจประจำจังหวัดและอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน ผู้พิพากษาสมทบ กรรมการสภาทนายความ กรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กรรมการสภามหาวิทยาลัย กรรมการสถาบันพระปกเกล้า กรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรรมการองค์การคลังสินค้า ฯลฯ รวม 27 ตำแหน่ง
 

ตอนนั้น กกต.ยึดหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้...

1. ตำแหน่งนั้นมีที่มาจากกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการที่ระบุไว้

2.การดำรงตำแหน่งเกิดจากการแต่งตั้ง โดยอาศัยกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ

3.อำนาจหน้าที่ของตำแหน่งนั้น ถูกกำหนดโดยกฎหมาย กฎ ระเบียบ ของทางราชการ ซึ่งการกระทำตามอำนาจหน้าที่ดังกล่าว มีผลกระทบต่อบุคคลอื่น หรือก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์กับบุคคลอื่นได้

4.บุคคลที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว อาจได้รับค่าตอบแทนเป็นบางส่วนหรือทั้งหมดจากรัฐ
 

แต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ไม่ใช่ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหมายความว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เรียกชื่ออย่างอื่น ซึ่งมีสถานะ ตำแหน่งหน้าที่ หรือลักษณะงานทำนองเดียวกันกับพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่นโดยได้รับการแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำ อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ และมีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทน ตามกฎหมาย”

ตอนนี้พอรู้หรือยังว่า ลุงตู่เป็นใคร!
 

|คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา 
| โดย : บากบั่น บุญเลิศ
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3450 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 7-9 มี.ค.2562
595959859