การปลดล็อกกัญชา กับงานวิจัยเชิงเศรษฐศาสตร์

06 มี.ค. 2562 | 00:10 น.

ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาผู้อ่าน หลายๆ ท่านคงได้ยินข่าวเกี่ยวกับพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2562 ที่ได้มีการประกาศใช้ใน ราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นการปลดล็อกกัญชาและกระท่อมเพื่อประโยชน์ทาง การแพทย์

กัญชาถูกจัดเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 ซึ่งใน พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ปี พ.ศ. 2522 (พ.ร.บ. ฉบับก่อนหน้านี้) ถือว่าการผลิต นำเข้า ส่งออก ครอบครอง จำหน่าย หรือ เสพ กัญชาล้วนแล้วแต่ถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมายและนำมาซึ่งบทลงโทษ

สำหรับกฎหมายใหม่นี้มีการกำหนดให้สามารถขอใบอนุญาตในการผลิต นำเข้า หรือส่งออกกัญชาเพื่อใช้ในการรักษาพยาบาลและการวิจัยเท่านั้น โดยผู้ได้รับอนุญาตสามารถจำหน่ายยาเสพติดประเภทที่ 5 ได้ใน สถานที่ที่ระบุไว้เท่านั้น และผู้ป่วยที่มีไว้ในครอบครองก็ถือว่าไม่มีความผิด

ผู้เขียนได้เข้าไปสืบค้นดูจากเว็บไซต์ Cannabis Business Times [1] ซึ่งมีการแสดงข้อมูล ในรูปแบบแผนที่ว่าปัจจุบันมีประเทศทั้งหมด 21 ประเทศทั่วโลก ที่มีการอนุญาตให้ใช้กัญชาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย (legalize) และ/หรือมีการลดบทลงโทษจากการเสพกัญชาลงมา (decriminalize)

การปลดล็อกกัญชา กับงานวิจัยเชิงเศรษฐศาสตร์

โดยบางประเทศอนุญาตให้ใช้กัญชาได้เฉพาะในการรักษาพยาบาลเท่านั้น อาทิเช่น ประเทศชิลี โครเอเชีย สาธารณรัฐเช็ก อิสราเอล อิตาลี มาซิโดเนีย ฟิลิปปินส์ โปแลนด์ เปอร์โตริโกตุรกี และ สหรัฐอเมริกา (ใน
บางรัฐ)

ในขณะที่บางประเทศได้มีการอนุญาตให้ใช้กัญชาทั้ง สำหรับทางการแพทย์และสำหรับการบริโภคทั่วไปโดยให้มีการลดบทลงโทษลงมา

สำหรับกรณีหลัง ตัวอย่างเช่น ประเทศอาร์เจนตินา ออสเตรเลีย โคลอมเบีย เยอรมนี จาเมกา เม็กซิโก และ สหรัฐอเมริกา (ในบางรัฐ)

โดยปัจจุบันพบว่ามีเพียง 2 ประเทศเท่านั้นคือ ประเทศแคนาดา และ อุรุกวัย ที่อนุญาตให้ใช้กัญชาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ว่าจะสำหรับผู้ป่วยหรือผู้บริโภคทั่วไป (full egalization)

ในต่างประเทศกัญชาจะถูกจัดว่าเป็นยาเสพติดที่ไม่รุนแรง (softer drug) เพราะถือว่าให้โทษต่อร่างกายน้อยกว่ายาเสพติดชนิดอื่นๆ ที่เป็นยาเสพติดที่รุนแรง (harder drug) อย่างเช่น โคเคน เฮโรอีน และ แอมเฟตามีน (ยาบ้า)

ซึ่งอย่างที่กล่าวไปข้างต้นหลายๆ ประเทศได้ให้การสนับ สนุนการใช้กัญชาในการรักษา โรคเพื่อช่วยในการลดอาการคลื่นไส้อาเจียน บวมอักเสบของแผล ช่วยให้ผ่อนคลาย และลดอาการปวด

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันในระดับนานาชาติก็ยังมีข้อวิพากษ์วิจารณ์และข้อโต้แย้งมากมายเกี่ยวกับการใช้กัญชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการบริโภคทั่วไปว่ามีผลเสียต่อร่างกายซึ่งอาจนำไปสู่มะเร็งปอด ทำให้ภูมิคุ้ม กันของร่างกายลดลง มีผลต่อระบบการไหลเวียนโลหิต และอาจทำให้เกิดการสูญเสียความทรงจำระยะสั้น

ซึ่งสำหรับผู้ที่เสพกัญชาในปริมาณที่มากและบ่อยก็จะทำให้เกิดอาการติดยาและเมื่อพยายามจะถอนจากยาก็จะมีอาการกระวนกระวาย เครียด ไม่อยากอาหาร

การปลดล็อกกัญชา กับงานวิจัยเชิงเศรษฐศาสตร์

ผู้เขียนได้มีโอกาสทำงานวิจัยเชิงปริมาณชิ้นหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคกัญชา โดยงานวิจัยชิ้นนี้มีชื่อว่า “Decriminalization and Marijuana Smoking Prevalence: Evidence from Australia”[2] ซึ่งผู้เขียนได้ใช้ ข้อมูล National Drug Strategy Household Survey ในปี 2544 มาศึกษาถึงการใช้กัญชาในประเทศออสเตรเลียอันเนื่องมาจากนโยบายการลดโทษของการใช้กัญชาสำหรับการบริโภคทั่วไป (decriminalization)

ในปี 2544 นั้นมีทั้งหมด 3 รัฐในประเทศออสเตรเลีย ได้ แก่ รัฐเซาธ์ออสเตรเลีย นอร์เทิร์นเทร์ริทอรี และ ออสเตรเลียน แคพิทอลเทร์ริทอรี ที่กำหนดให้มีการลดโทษจากการสูบกัญชาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในขณะที่ อีก 5 รัฐที่เหลือยังไม่ได้มีการลดโทษอันใด

งานวิจัยนี้พยายามเปรียบเทียบอัตราของการสูบกัญชาระหว่างรัฐที่มีการลดโทษ (decriminalized states) กับรัฐที่ไม่ได้มีการลดโทษ (non-decriminalized states) โดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐมิติและได้มีการควบคุมปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการบริโภคกัญชา ได้แก่ 

ปัจจัยทางเศรษฐกิจ เช่น รายได้ อัตราการว่างงาน และ ปัจจัยทางสังคม เช่น อายุ เพศ การศึกษา สถานภาพการทำงาน สถานภาพสมรส รวมไปถึงราคาของกัญชาด้วย

หลังจากทำการประมาณการแบบจำลองแบบต่างๆ และทำการทดสอบทางสถิติแล้ว ผลการศึกษาพบว่าในรัฐที่มีการลดโทษสำหรับการบริโภคกัญชานั้น มีอัตราการสูบกัญชาสูงขึ้น 16.2% เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐที่ไม่ได้มีการลดโทษอย่างมีนัยสำคัญ

ถ้าจะแปลให้ง่ายๆ ก็คือในปี 2544 จากสถิติของประเทศออสเตรเลียพบว่ามีคนสูบกัญชาโดยเฉลี่ย 15 คนต่อประชากร 100 คน ซึ่งถ้าอยู่ในรัฐที่กำหนดให้มีการลดบทลงโทษจากการใช้กัญชาจะมีคนสูบกัญชาเพิ่มขึ้นเป็น 17.5 คนต่อประชากร 100 คน ซึ่งในความเป็นจริงใน 3 รัฐของประเทศออสเตรเลียที่มีการลดโทษกัญชามีประชากรโดยรวมประมาณ 2.3 ล้านคน ซึ่งแสดงว่าจำนวนคนสูบกัญชาจะเพิ่มสูงขึ้นใน 3 รัฐนี้โดยประมาณจาก 345,000 คน เป็น 402,500 คนอันเนื่องมาจากนโยบายนี้

สำหรับประเทศไทย เราเพิ่งจะประกาศใช้กฎหมายใหม่นี้ไปเมื่อเดือนที่แล้ว จึงยังไม่มีงานวิจัยเชิงปริมาณที่ศึกษาถึงผล กระทบของกฎหมายการปลด ล็อกกัญชา ซึ่งย่อมส่งผลโดยตรงต่อการใช้กัญชาสำหรับการรักษาพยาบาล แต่ก็อาจจะส่งผลทางอ้อมต่อการบริโภคกัญชาโดยทั่วไปด้วย

หรือแม้แต่อาจจะส่งผลต่อการใช้ยาเสพติดที่ให้โทษอย่างร้ายแรงก็เป็นได้ตามทฤษฎีการส่งผ่าน (gateway theory) ที่ว่าเมื่อคนสามารถเข้าถึงยาเสพติดที่เป็น “softer drug” ได้ก็จะสามารถเข้าถึงยาเสพติดที่เป็น “harder drug” ได้ง่ายขึ้น

ผู้เขียนคิดว่าภาครัฐควรให้ความสนใจและสนับสนุนให้เกิดงานวิจัยเชิงปริมาณเพื่อศึกษาถึงผลกระทบของ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฉบับใหม่นี้ต่อไป 

 

[1] https://www.cannabisbusinesstimes.com/article/cannabis-legalization-world-map/

[2] Damrongplasit, K., Hsiao, C. and Zhao, X. (2010). Decriminalization and Marijuana Smoking Prevalence: Evidence from Australia. Journal of Business and Economic Statistics, 28(3), 344-356.

 

เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ

โดย ผศ.ดร.กรรณิการ์ ดำรงค์พลาสิทธิ์ คณะเศรษฐศาสตร์ และศูนย์เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3450 ระหว่างวันที่ 7 - 9 มีนาคม 2562

การปลดล็อกกัญชา กับงานวิจัยเชิงเศรษฐศาสตร์