อัดบิดเบือน "พ.ร.บ.ไซเบอร์" ปลุกคนต้าน!!

03 มี.ค. 2562 | 11:44 น.

อัดบิดเบือน "พ.ร.บ.ไซเบอร์" ปลุกคนต้าน!!

ผู้เชี่ยวชาญวงการไซเบอร์อัดกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์บิดเบือนข้อมูล พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ ผ่านโซเชียล สร้างความสับสนให้กับประชาชน หวังผลการเมือง ชี้! แก้ไขกฎหมายตามคำเรียกร้องผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ลดอำนาจคณะกรรมการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ

นพ.สุธี ทุวิรัตน์ กรรมการสมาคมความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศ (TISA) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
 ว่า ขณะนี้มีความตั้งใจของกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์พยายามเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ ที่ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มาแล้ว ผ่านทางโซเชียลมีเดีย เพื่อสร้างความสับสนให้กับประชาชน 
หวังปลุกให้ประชาชนที่ไม่ได้ศึกษา พ.ร.บ.ดังกล่าวชัดเจน ลุกขึ้นมาต่อต้าน หวังผลทางการเมือง โดย พ.ร.บ.ดังกล่าว มีการแก้ไขก่อนเข้า สนช. ตามข้อเรียกร้องที่หลายฝ่ายกังวลแล้ว ทั้งประเด็นการผูกขาดอำนาจของคณะกรรมการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และเลขาฯ สำนักงานคณะกรรมการฯ รวมถึง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีสาระเกี่ยวข้องกับระบบคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่มีความบิดเบือน รวมไปถึงคอนเทนต์ หรือ เนื้อหาด้วย

⇲ สนช.ผ่านแล้ว! กฎหมายปลอดภัยไซเบอร์


อัดบิดเบือน "พ.ร.บ.ไซเบอร์" ปลุกคนต้าน!!

"อยากให้ตั้งข้อสังเกตว่า ก่อน พ.ร.บ.ดังกล่าว เข้า สนช. กลุ่มดังกล่าวไม่ออกมาเคลื่อนไหว หรือ เสนอความเห็นแต่อย่างใด แต่หลัง พ.ร.บ.ดังกล่าว ที่มีการแก้ไขตามข้อเรียกร้องของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียออกมาแล้ว กลับให้ข้อมูลที่บิดเบือน"


อัดบิดเบือน "พ.ร.บ.ไซเบอร์" ปลุกคนต้าน!!

พ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นการป้องกันผู้ใช้ หรือ ประชาชนทั่วไป โดยกําหนดหน่วยโครงสร้างพื้นฐานสําคัญทางสารสนเทศ (Critical Information Infrastructure : CII) ทั้งหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานเอกชน ตลอดจนกําหนดให้มีมาตรฐานและแนวทางการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อให้สามารถบริการได้อย่างต่อเนื่อง มีการกำหนดกรอบไว้ในภาวะปกติ หน่วยงานกำกับดูแล อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นผู้ดูแลให้เป็นตามมาตรฐาน หากมีวิกฤติเกิดขึ้น ผู้กำกับดูแล เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ แต่ต้องได้รับการอนุญาตจากศาล ส่วนกรณีการวิกฤติร้ายแรง ต้องเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน มีการโจมตีระบบสำคัญของประเทศ หรือ มีประชาชนเสียชีวิต
และมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ จึงให้ใช้อำนาจตามกฎหมายด้านความมั่นคง โดยเจ้าหน้าที่อาจต้องดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน พร้อมกับแจ้งศาลโดยเร็ว

ส่วนโทษจำคุกมีเฉพาะกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐไปเปิดเผยข้อมูลที่ได้มา ไม่เกี่ยวข้องกับประชาชน และกรณีมีภัยคุกคามร้ายแรงแล้ว หน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ดำเนินการตามคำสั่งศาล หรือ คณะกรรมการ

 


ด้าน นายมนต์ชัย หนูสง นายกสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นนายกสมาคมและกรรมการผู้จัดการ บมจ.ทีโอที ซึ่งมีหน้าที่ให้บริการด้านโทรคมนาคม ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องดำเนินงานเพื่อรองรับ พ.ร.บ.ไซเบอร์ เนื่องจากหากโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมของประเทศมีปัญหา หรือ ไม่สามารถใช้การได้ ก็จะทำให้เกิดผลกระทบต่อคนทั้งประเทศ ดังนั้น เราจึงต้องให้ความร่วมมือในส่วนนี้

นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า "กฎหมายดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบและเข้าไปคุกคามสิทธิต่อประชาชนโดยทั่วไปแต่อย่างใด ซึ่งกฎหมายได้ระบุประเภทภัยคุกคามทางไซเบอร์ไว้ 3 ระดับ (1) ภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับไม่ร้ายแรง (2) ภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรง และ (3) ภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับวิกฤติ"


อัดบิดเบือน "พ.ร.บ.ไซเบอร์" ปลุกคนต้าน!!

ภัยคุกคามในระดับไม่ร้ายแรง หน่วยงานนั้น ๆ และหน่วยงานกำกับดูแล ต้องดำเนินการตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ส่วนภัยร้ายแรง ทำให้บริการที่สำคัญต้องหยุดชะงัก สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงไซเบอร์แห่งชาติจะให้ความช่วยเหลือในการแก้ปัญหา โดยในการเข้าไปในสถานที่ หรือ เข้าไปตรวจค้น เจ้าหน้าที่จะต้องขอหมายศาล ขณะที่ ภัยระดับวิกฤติ ต้องเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่บริการที่สำคัญถูกโจมตีจนล่ม ไม่สามารถให้บริการได้เป็นวงกว้าง หรือ มีประชาชนเสียชีวิตและมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ จึงให้ใช้อำนาจตามกฎหมายด้านความมั่นคง อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่อาจต้องดำเนินการแก้ไข
อย่างเร่งด่วน พร้อมกับแจ้งศาลโดยเร็ว


……………….

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,449 วันที่ 3-6 มี.ค. 2561 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
Move On | 'พ.ร.บ.ไซเบอร์' กับข้อกังขา ล้วง 'ตับ' ข้อมูล
'ภัยไซเบอร์' เปลี่ยนตามเทคโนโลยี 'เทรนด์ไมโคร' แนะองค์กรเตรียมรับมือ

 

PHOTO : (1) TheDigitalWay (2) TheDigitalArtist


เพิ่มเพื่อน
อัดบิดเบือน "พ.ร.บ.ไซเบอร์" ปลุกคนต้าน!!