‘รักษ์ป่าน่าน’ สู่ภารกิจ ‘Nan Sandbox’

03 มีนาคม 2562

จาก “โครงการรักษ์ป่าน่าน”ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2557 โดย “บัณฑูร ลํ่าซำ”ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย นายธนาคารที่ก้าวเข้าสู่งานพัฒนา ด้วยความตั้งใจที่จะใช้ชีวิตหลังเกษียณ ที่จังหวัดน่าน จึงได้มาพบและสัมผัสกับปัญหาพื้นที่ทำกินของชาวน่าน ที่มีทั้งการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน และการทำเกษตรกรรม จนปี 2561 รักษ์ป่าน่าน ก็ก้าวมาสู่การทดลองปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินเชิงพื้นที่ หรือ น่านแซนด์บ๊อกซ์ หรือ นซบ. (NAN Sandbox) เชิญผู้นำชุมชน 99 ตำบลในจังหวัดน่านมารับฟังปัญหาการบุกรุกป่า พร้อมหาแนวทางแก้ไข ทำให้ประชาชนมีพื้นที่ทำกิน และมีวิถีการทำมาหากินที่ถูกต้อง เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขกฎหมายบางอย่าง เพื่อทำให้ประชาชนสามารถมีพื้นที่ทำกินที่เพียงพอ

‘รักษ์ป่าน่าน’ สู่ภารกิจ ‘Nan Sandbox’

ในปีนี้ คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแล ที่มี นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานกรรมการ และคณะกรรมการดำเนินงาน พื้นที่จังหวัดน่าน และมี ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานกรรมการภาครัฐ บัณฑูร ลํ่าซำ เป็นประธานกรรมการภาคเอกชน ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นรองประธานกรรมการ และคณะกรรมการอีก 23 คน ร่วมด้วยอนุกรรมการด้านจัดทำชุดข้อมูลและแผนที่ และอนุกรรมการด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ทั้งหมดได้เข้ามาทำหน้าที่ บริหารพื้นที่รูปแบบพิเศษ เพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

‘รักษ์ป่าน่าน’ สู่ภารกิจ ‘Nan Sandbox’

จากพื้นที่จังหวัดน่านกว่า 7 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่าสงวนกว่า 6.4 ล้านไร่ มีการปลูกพืชไร่ในพื้นที่ป่าสงวน 1.39 ล้านไร่ หรือประมาณ 28% ของพื้นที่ป่าสงวนทั้งหมด ในพื้นที่นี้ จึงเป็นโครงการที่รัฐบาลอนุมัติเพื่อให้ภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชน ร่วมมือกันแก้ปัญหาทรัพยากรป่าไม้จังหวัดน่าน และสร้างอาชีพการเกษตรให้ประชาชน โดย 28% จะแบ่งเป็น 18% จะต้องฟื้นฟูให้กลับมาเป็นป่าที่มีต้นไม้ใหญ่

‘รักษ์ป่าน่าน’ สู่ภารกิจ ‘Nan Sandbox’ “บัณฑูร” บอกว่า ขณะนี้น่านแซนด์บ๊อกซ์สามารถบรรลุข้อตกลง การแก้ไขปัญหาป่านํ้าน่านแล้ว แต่ยังมีอะไรต้องทำต่ออีกเยอะ ตอนนี้มีการบรรลุข้อตกลงขั้นหนึ่ง คือ การมีพื้นที่ทำกินที่ถูกกฎหมาย ต่อไปยังมีเรื่องของการจัดทำโครงสร้างพื้นฐาน นํ้า ไฟ เข้าไปในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนสามารถพัฒนาพื้นที่ทำกินได้ และระหว่างการเปลี่ยนผ่าน จากการทำเกษตรแบบเดิม เป็นพืชเชิงเดี่ยว มาสู่เกษตรรูปแบบใหม่ ที่มีผลิตผลที่มีมูลค่าดีทางเศรษฐกิจ จะมีการจัดสรรเงินชดเชย หรือเงินสนับสนุนเพื่อการสร้างโอกาสใหม่ให้เกษตรกร โดยเงินในส่วนนี้ จะมีการระดมทุนผ่านมูลนิธิรักษ์ป่าน่านต่อไป

ประธานกรรมการภาคเอกชน น่านแซนด์บ๊อกซ์ ยํ้าว่า การจัดทำพื้นที่ทำกินที่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นจุดเริ่มต้น ต่อจากนี้ยังมีอะไรอีกมากที่ต้องดำเนินการต่อ เพื่อให้ประชาชนเหล่านั้น สามารถมีวิถีทำกินที่ถูกต้อง เลี้ยงครอบครัวได้ เลือกพืชเศรษฐกิจที่ถูกต้องมาปลูก และมีช่องทางการตลาดในการจำหน่าย นั่นคือภารกิจที่น่านแซนด์บ๊อกซ์ต้องเดินหน้าต่อ

หน้า 24 ฉบับที่ 3,442 วันที่  7 - 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

‘รักษ์ป่าน่าน’ สู่ภารกิจ ‘Nan Sandbox’