'ชัชชาติ' จี้รัฐ-เอกชน เร่งแก้ปัญหา PM 2.5 เมืองเชียงใหม่

03 มี.ค. 2562 | 03:58 น.

'ชัชชาติ' จี้รัฐ-เอกชน เร่งแก้ปัญหา PM 2.5 เมืองเชียงใหม่ แนะสร้างความเข้าใจและพัฒนากระบวนการแปรรูปซังข้าวโพด หลีกเลี่ยงการเผาชีวมวล

เช้าวันนี้ (3 มี.ค.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคเพื่อไทย ออกกำลังกายที่สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี 13 รอบ รวม 5.2 กิโลเมตร และตักบาตรตอนเช้าที่ตลาดต้นพะยอม

นายชัชชาติ กล่าวว่า บรรยากาศช่วงเช้าที่ตนมาวิ่งออกกำลังกายจะเห็นแนวฝุ่นอยู่ตามดอยพอสมควร ซึ่งตนอ่านข่าวพบว่า จ.เชียงใหม่ มีปริมาณฝุ่น PM 2.5 สูงเป็นอันดับ 1 ของโลก เนื่องจากเป็นช่วงเวลาเผาชีวมวลตามพื้นที่รอบ ๆ เชียงใหม่ และเนื่องจากเชียงใหม่เป็นหุบเขา ฝุ่นก็เลยสะสมอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวล และเป็นมาต่อเนื่องหลายปีแล้ว แม้ว่า คนกรุงเทพฯ จะเพิ่งตื่นตัวก็ตาม แต่ตนเชื่อว่า คนเชียงใหม่มีความทุกข์กับเรื่องนี้มานานแล้ว

อย่างไรก็ตาม มองว่า การมีอากาศบริสุทธิ์เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน รัฐมีหน้าที่ช่วยให้คนมีอากาศที่บริสุทธิ์ มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะคนตัวเล็ก ๆ แต่ละคน ไม่สามารถแก้ปัญหาตรงนี้ได้ นายชัชชาติ มองว่า ขั้นแรกรัฐต้องมีข้อมูลที่ถูกต้อง โดยการติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศอย่างทั่วถึง เพื่อทราบว่า ฝุ่น ณ ปัจจุบัน เป็นอย่างไร และต้องมีการแจกหน้ากากกันฝุ่นฟรีให้กับประชาชนที่ต้องการ เพราะถ้าประชาชนไม่สบาย ค่าใช้จ่ายในการรักษาก็ยิ่งสูง และรัฐต้องรับผิดชอบ และรัฐต้องจัดหาเครื่องฟอกอากาศในพื้นที่สาธารณะ เช่น โรงเรียน

 

'ชัชชาติ' จี้รัฐ-เอกชน เร่งแก้ปัญหา PM 2.5 เมืองเชียงใหม่


นอกจากนี้ จะต้องหาสาเหตุของการเกิดฝุ่นพิษดังกล่าว เช่น การเผาชีวมวล หรือ การเผาไหม้ของเครื่องยนต์ดีเซลที่ไม่สมบูรณ์ อนาคตต้องรณรงค์ให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้รถสาธารณะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อาทิ รถพลังงานไฟฟ้า แต่จากการที่ตนดูข้อมูลมา จะพบว่า ส่วนใหญ่เป็นการเผาตอซังข้าวโพด ที่บุกรุกป่าเข้าไปปลูก

"ผมคิดว่า วิธีการแก้ต้องไม่ปล่อยให้เป็นภาระของชาวไร่และรัฐบาลอย่างเดียว แต่บริษัทใหญ่ที่รับซื้อข้าวโพดไปทำอาหารสัตว์ควรจะมาร่วมรับผิดชอบด้วย ไม่ใช่เอาแต่ข้าวโพดไป แล้วทิ้งตอซังไว้ให้รัฐบาลกับชาวไร่รับผิดชอบ แต่ต้องคิดทั้งระบบ บริษัทเหล่านี้ควรจะมาช่วยทำเพื่อหาทางออก เช่น การวิจัยพัฒนา ทำเครื่องมือที่เอาสิ่งเหลือจากการปลูกเอาไปทำเชื้อเพลิง หรือ อัดเป็นถ่าน แต่ต้องลงทุน ไม่ใช่ปล่อยเป็นภาระของคนอื่น รวมทั้งค้นคว้าวิจัยอุปกรณ์เก็บตอซังข้าวโพดได้หลังเก็บเกี่ยว โดยไม่ต้องให้ชาวไร่รับผิดชอบโดยการเผา เนื่องจากเกษตรกรไม่มีทุนในการเก็บ แต่ถ้ามีอุปกรณ์ที่วิจัยและพัฒนามาเป็นอย่างดี ช่วยชาวไร่ในการเก็บ หรือ เอาตอซังข้าวโพดไปอัดเป็นถ่าน ซึ่งบริษัทที่รับซื้อข้าวโพดไป ควรรับผิดชอบ เพราะมีทุนและมีความรู้ แต่ยังมองว่า การแก้ปัญหาก็ต้องเกิดจากความร่วมมือกันของทุกฝ่าย ทั้งชาวไร่ เอกชน และรัฐบาล หรือในระยะยาวอาจเปลี่ยนเป็นพืชชนิดอื่นที่ส่งผลต่อมลภาวะน้อยลง"


นายชัชชาติ มองว่า เชียงใหม่ หัวใจ คือ การท่องเที่ยว มีรายได้จากการท่องเที่ยวปีที่แล้วประมาณ 108,000 ล้านบาท นักท่องเที่ยวมาเชียงใหม่ราว 10,800,000 คน เป็นชาวต่างชาติ 3,200,000 คน ดังนั้น ทั้งหมดจะไปไม่ได้ ถ้าคุณภาพชีวิตของเชียงใหม่ไม่ดี สุดท้ายมันจะไม่ยั่งยืน จึงต้องแก้ปัญหาเรื่องอากาศและการจราจรต่าง ๆ แต่รัฐบาลจากส่วนกลางจะแก้ปัญหาฝ่ายเดียวไม่ได้ เพราะไม่เข้าใจปัญหา ต้องร่วมมือกับท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นหาทางแก้ปัญหาด้วยตัวเอง และรัฐบาลกลางช่วยให้ทรัพยากรและงบประมาณโดยการกระจายอำนาจลงมา
 

'ชัชชาติ' จี้รัฐ-เอกชน เร่งแก้ปัญหา PM 2.5 เมืองเชียงใหม่