ต้องน้อมรับคำพิพากษา เพื่อเดินหน้าประเทศ

02 มี.ค. 2562 | 16:28 น.

น้อมรับ-002
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ เวลา 13.30 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมเพื่อพิจารณาคดีนัดแรก ในคดีเลขที่ 1/2562 เรื่องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กรณีพรรคไทยรักษาชาติ มีหนังสือแจ้งรายชื่อบุคคลเพื่อเสนอแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี 1 รายชื่อ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเกี่ยวพันถึงสมาชิกพระบรมราชวงศ์ เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่
 

ขณะที่พรรคไทยรักษาชาติได้ส่งคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ เป็นเอกสาร 20 หน้า ใน 3 ประเด็นหลักรวม 8 ข้อ ยืนยันว่าดำเนินการตามกฎหมายโดยสุจริต พร้อมเสนอบัญชีรายชื่อพยาน 19 ปากในการไต่สวนคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ขณะที่คณะกรรมการ กกต. ชี้แจงคำแก้ข้อกล่าวหา ยืนยันว่าข้อมูลหลักฐานมีเพียงพอวินิจฉัยโดยไม่ต้องไต่สวนเพิ่ม

ต้องน้อมรับคำพิพากษา  เพื่อเดินหน้าประเทศ เพิ่มเพื่อน

อย่างไรก็ตาม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประชุมพิจารณาคดีนัดแรกดังกล่าวแล้วสั่งว่า คดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงไม่ทำการไต่สวน และกำหนดประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติในวันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม เวลา 13.30 น. และนัดอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังในวันเดียวกัน เวลา 15.00 น.


แนวทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะออกมา มี 2 ทาง คือ ยกคำร้อง หรือ สั่งให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ โดยหากศาลสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ จะส่งผลให้ผู้สมัครส.ส.ของพรรคทั้งในระบบเขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อพรรคขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้สมัครส.ส.ทันที


อนาคตพรรคไทยรักษาชาติที่นับถอยหลังสู่การชี้ชะตานี้ นางสาวสุณีย์ เหลืองวิจิตร รองหัวหน้าพรรค หรือนายสุรชัย ชินชัย ทนายความผู้รับมอบอำนาจของพรรค ทษช. ยืนยันว่า เมื่อศาลมีคำวินิจฉัยออกมาเป็นที่สิ้นสุดไม่ว่าจะเป็นทางไหน ก็พร้อมยอมรับ


ท่าทีของผู้บริหารพรรคดังกล่าวเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะในประเด็นขัดแย้งหนึ่งๆ เมื่อมีการชี้ขาดต้องมีฝ่ายชนะและแพ้ มีคนชอบใจและไม่ชอบใจ แต่เมื่อเป็นคำพิพากษาของศาลแล้วต้องเป็นที่ยุติ โดยทุกฝ่ายต้องพร้อมยอมรับอย่างจริงใจ สังคมจึงจะเดินหน้าต่อไปได้


บ้านเมืองเราได้บทเรียนจนเป็นที่ประจักษ์แล้ว ตลอดห้วงเวลากว่าทศวรรษของความขัดแย้งยืดเยื้อทางการเมือง เป็นผลมาจากการไม่ยอมรับคำตัดสินของศาล ถูกตัดสินลงโทษก็หลบหนีแล้วไปเคลื่อนไหวต่อต้านไม่เลิกรา ทำให้ประเทศเสียโอกาส ประชาธิปไตยไทยต้องสะดุดล้มแล้วเดินใหม่ไม่สิ้นสุด

|บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3449 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 3-6 มี.ค.2562
595959859


เพิ่มเพื่อน