เปิดศึก "อีโคคาร์ 2" 3 ค่ายยักษ์จัดเต็ม

03 มี.ค. 2562 | 03:55 น.

ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น "โตโยต้า-ฮอนด้า-นิสสัน" ได้ฤกษ์ส่งอีโคคาร์เฟส 2 ลุยตลาดปลายปีนี้ วางเครื่องยนต์ขนาดเล็ก ยัดเทอร์โบ รับภาษีสรรพสามิต 12% ส่วนแผนต่อยอดให้เป็น "อีโคอีวี" พลังไฟฟ้าของรัฐบาลอาจเป็นหมัน หลังค่ายใหญ่ไม่เล่นด้วย

ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมพยายามปั้นอีโคคาร์ให้เป็นโปรดักต์แชมเปี้ยนต่อจากปิกอัพ โดยหลายค่ายจบโครงการในเฟสแรกและเริ่มเฟส 2 ไปแล้ว เช่น มิตซูบิชิ (ส่วนมาสด้าเริ่มในเงื่อนไขของเฟส 2 ตั้งแต่แรก)

ทั้งนี้ อีโคคาร์ เฟส 2 มีเงื่อนไขของตัวรถและกำลังการผลิตที่เข้มงวดกว่าเฟสแรก เช่น ต้องปล่อยไอเสียตํ่ากว่า 100 กรัม/กม. และอัตราบริโภคนํ้ามันไม่ตํ่ากว่า 23 กม./ลิตร พร้อมรับภาษีสรรพสามิตตํ่าลงจาก 14% เป็น 12% รวมถึงยกเว้นภาษีนิติบุคคล และทั้งหมดต้องอยู่ภายในเงื่อนไขผลิตรถให้ถึง 1 แสนคันต่อปี ในปีที่ 4 (เฟสแรก 1 แสนคันปีที่ 5)

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในโครงการอีโคคาร์ เฟส 2 คาบเกี่ยวการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีไปสู่การขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ซึ่งรัฐบาลพยายามส่งเสริมให้เป็นโปรดักต์แชมเปี้ยนตัวใหม่ จึงพยายามผ่อนปรนเงื่อนไขบางตัว เช่น นำยอดผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (ไฮบริด) ไปนับรวมกับอีโคคาร์ได้ เช่นเดียวกับแผนต่อยอดไปสู่โครงการ "อีโคอีวี" ที่ 3 หน่วยงาน คือ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง (กรมสรรพสามิต) และบีโอไอ กำลังพิจารณากันอยู่ ซึ่งสถานการณ์ล่าสุด อาจจะต้องพับแผน เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่มุ่งมั่นทำตลาดรถไฮบริดก่อน ไม่เอาด้วย

แหล่งข่าวจากผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ เปิดเผยว่า จากแนวคิดการสนับสนุนโครงการ "อีโคอีวี" ให้เกิดในประเทศไทย ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในทุกโครงการ ไม่ว่าจะเป็น อีโคคาร์ เฟส 1 เฟส 2, โครงการยานยนต์ไฟฟ้า ตรงจุดนี้ไม่เห็นด้วยกับการสนับสนุน "อีโคอีวี" เพราะมองว่า ทุกโครงการที่มีก่อนหน้านั้นดีอยู่แล้ว

 

เปิดศึก "อีโคคาร์ 2" 3 ค่ายยักษ์จัดเต็ม


"ได้พูดคุยกับผู้ผลิตหลายราย ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ประกอบกับการมีข้อเสนอ หรือ เงื่อนไขต่าง ๆ ออกมามากเกินไป จะทำให้นักลงทุนเกิดความสับสน และไม่มั่นใจในนโยบาย หรือ ทิศทางว่าจะไปในทางไหน" แหล่งข่าว กล่าว

สำหรับประเทศไทยมีกำลังการผลิตรถยนต์เป็นอันดับที่ 12 ของโลก หรือ 2.15 ล้านคัน ในปี 2561 และในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามพลักดันให้เกิดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าตามกระแสโลก หวังรักษาความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ขณะเดียวกันยังเผชิญกับความท้าทายที่ต้องรักษาพื้นฐานห่วงโซ่การผลิตของเทคโนโลยียานยนต์เดิม หรือ รถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในเอาไว้ ซึ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงผุดไอเดียเพื่อต่อยอดกับโครงการอีโคคาร์ (ที่หลายค่ายลงทุนเป็นหลักหลายพันล้านบาทไปแล้ว) พร้อมคลอดแพ็กเกจสนับสนุนการลงทุนที่ยืดหยุ่นและเหมาะสมกับไทม์ไลน์เทคโนโลยีของแต่ละค่ายออกมา

ในส่วนอีโคคาร์เฟส 1 มีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จบเงื่อนไขกับบีโอไอ 2 ราย คือ นิสสันและมิตซูบิชิ ส่วนค่ายรถที่ทำตลาดอีโคคาร์เฟส 2 แล้ว คือ มิตซูบิชิ แอททราจ- มิราจ, มาสด้า2 (เริ่มอีโคคาร์เฟส 2 ตั้งแต่แรก) และซูซูกิ สวิฟท์ โฉมใหม่

ปีนี้ยังมีความเคลื่อนไหวจาก 3 ค่ายใหญ่ คือ โตโยต้า นิสสัน ฮอนด้า ที่พร้อมเปิดตัวรถในโครงการอีโคคาร์เฟส 2

เริ่มจาก 'โตโยต้า' จะประเดิมอีโคคาร์ เฟส 2 ด้วย "ยาริส แฮตช์แบ็ก" ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกตั้งแต่ปี 2556 (อีโคคาร์เฟส 1) โดยรุ่นใหม่จะพัฒนาบนพื้นฐานแพลตฟอร์มใหม่ TNGA คาดเปิดตัวอย่างเป็นทางการช่วงไตรมาส 3 ปีนี้

ขณะที่ 'นิสสัน' เตรียมทำตลาดด้วยอีโคคาร์ซีดาน รุ่นอัลเมร่า ที่ยังชูจุดขายเรื่องตัวถังใหญ่ภายในกว้างขวาง และเพื่อให้ผ่านเงื่อนไขมลพิษไอเสียอันเข้มงวดจะเปลี่ยนเครื่องยนต์จากเบนซิน 3 สูบ 1.2 ลิตร เป็น 3 สูบ 1.0 ลิตร เทอร์โบ

ด้าน 'ฮอนด้า' ที่ "ฐานยานยนต์" เคยนำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้ ว่า เตรียมปิดโครงการอีโคคาร์เฟสแรก แม้จะผลิต "บริโอ้" ไม่ถึงจำนวนที่บีโอไอกำหนด

ปัจจุบัน ฮอนด้า บริโอ้ ราคาเริ่มต้น 495,000 บาท และบริโอ้ อเมซ ราคาเริ่มต้น 517,000 บาท เริ่มระบายสต๊อกด้วยแคมเปญ ฟรีดาวน์ แถมฟรีประกันภัยชั้นหนึ่ง หรือ เลือกผ่อนเริ่มต้น 4,000 บาท แถมฟรีประกันภัยชั้นหนึ่ง ขณะที่ ยอดขายในเดือน ม.ค. 2562 ทำได้รวม 85 คัน

 

เปิดศึก "อีโคคาร์ 2" 3 ค่ายยักษ์จัดเต็ม


โดยฮอนด้าเตรียมขึ้นไลน์ผลิตอีโคคาร์เฟส 2 ด้วยโมเดลเชนจ์ของ "แจ๊ซ" (แฮตช์แบ็ก) "ซิตี้" (ซีดาน) พร้อมวางเครื่องยนต์เบนซิน 3 สูบ 1.0 ลิตร เทอร์โบ และในอนาคตจะมีรุ่นไฮบริดตามมาสมทบ (สามารถนับยอดผลิต 1 แสนคันต่อปี ในปีที่ 4 รวมกันได้) ซึ่งปลายปีนี้จะส่ง "ซิตี้ โฉมใหม่" ออกมาก่อน นั่นหมายถึงจะเป็นการเจอกันเต็ม ๆ กับ "นิสสัน อัลเมร่า" ที่จะลงตลาดในช่วงเวลาเดียวกัน

นั่นเป็นเก๋งเล็ก 3 โมเดล ที่ตบเท้าเข้าโครงการอีโคคาร์เฟส 2 พร้อมลงประชันกันเต็ม ๆ ตั้งแต่ไตรมาส 3 ไปจนถึงปลายปีนี้ และด้วยอัตราภาษีสรรพสามิตที่ลดลงเป็น 12% เชื่อว่าราคาขายยังอยู่ในระดับเดิม

สำหรับตลาดรถยนต์นั่งในเดือน ม.ค. 2562 ทำได้รวม 30,221 คัน เพิ่มขึ้น 17.4% ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มของอีโคคาร์ 15,675 คัน หรือมีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 50% ซึ่งโตโยต้า ยาริส (แฮตช์แบ็กและซีดาน) ขายมากที่สุด 6,128 คัน

หน้า 28-29 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,449 วันที่  3 - 6 มีนาคม พ.ศ. 2562

เปิดศึก "อีโคคาร์ 2" 3 ค่ายยักษ์จัดเต็ม