'มิตซูบิชิ' ฉีด 100 ล้าน ปั้นแรงงานป้อน 'อีอีซี' รองรับระบบอัตโนมัติ

02 มี.ค. 2562 | 23:45 น.

รัฐบาลประกาศยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 สู่การเป็นประเทศพัฒนา ประชาชนมีรายได้ระดับสูง โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน ยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยหนึ่งใน 10+2 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (เอส-เคิร์ฟ) คือ การใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เข้ามาทดแทนระบบการผลิตเดิมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

โดยปลายปีที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ตกลงกับ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็กทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่นฯ ซึ่งเป็นเจ้าของเทคโนโลยีและให้บริการระบบอัตโนมัติแก่โรงงานต่าง ๆ อยู่แล้ว ร่วมจัดตั้ง ศูนย์เรียนรู้ระบบอัตโนมัติ (Automation Park) ขึ้นที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา บางแสน จ.ชลบุรี เพื่อพัฒนากำลังคนรองรับเป้าหมายดังกล่าว

ทั้งนี้ Automation Park จะเป็นศูนย์ด้าน Automation ที่ทันสมัยที่สุดใน ASEAN ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านการศึกษาจากระบบเดิมสู่การศึกษาใหม่ในด้าน Automation ภายใต้ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยบูรพา คณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรและการศึกษาในพื้นที่ หรือ EEC HDC และ Mitsubishi ในกระบวนการพัฒนาบุคลากรของ EEC โดยมีสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบอัตโนมัติเป็นพี่เลี้ยง

ผศ.ดร.ณยศ คุรุกิจโกศล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา (BUU) เปิดเผยว่า ในการตั้ง Automation Park หรือ ศูนย์เรียนรู้ระบบอัตโนมัติ ทางคณะมีความพร้อมในการดำเนินงาน เพราะมีสาขาวิศวกรรมเครื่องกล มีคณาจารย์และเปิดการเรียนการสอนด้านนี้อยู่แล้ว ขณะที่ มิตซูบิชิ เห็นว่า หากมีการพัฒนากำลังคนด้านนี้ขึ้นมารองรับก็จะช่วยขยายการใช้ระบบอัตโนมัติในการผลิตมากขึ้น จึงได้มอบอุปกรณ์เพื่อนำมาติดตั้งเป็นโมเดลไลน์ มีมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นชุดจำลอง แต่สามารถใช้งานได้จริง เพื่อให้ผู้มาอบรมได้เห็นกระบวนการทำงานของระบบอัตโนมัติในภาพรวมทั้งกระบวนการ มีห้องปฏิบัติการและชุดฝึก เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้ทดลองปฏิบัติจริงด้วย เรียกได้ว่าเป็นการจำลองโรงงานมาไว้ในห้องเรียน ตั้งเป้าจะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในกลางปี 2563 โดยระหว่างนี้ เมื่อพร้อมก็จะเปิดหลักสูตรอบรมต่าง ๆ ไปพลางก่อน

'มิตซูบิชิ' ฉีด 100 ล้าน ปั้นแรงงานป้อน 'อีอีซี' รองรับระบบอัตโนมัติ

 

"การยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0 นอกจากลงทุนหุ่นยนต์ หรือ ระบบอัตโนมัติแล้ว หัวใจสำคัญอีกด้าน คือ ทักษะความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ที่ต้องทำงานร่วมกับระบบอัตโนมัติ ซึ่งเมื่อสำรวจดูแล้วพบว่า ต้องเข้ายกระดับตั้งแต่ช่าง ปวช. ปวส. ขึ้นมาถึงวิศวกร และสูงสุด คือ System Intregation : SI หรือ ผู้เชี่ยวชาญระดับสูง ที่สามารถออกแบบวางระบบการผลิตแบบอัตโนมัติสำหรับโรงงานแต่ละแห่ง ซึ่งไทยยังไม่มี ต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญต่างชาติมาทำ ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายมาก ถ้าเราพัฒนาขึ้นไปไม่ถึงจุดนี้ ก็ยังไม่เป็นอิสระ และต่อยอดเทคโนโลยีได้เอง"

ผศ.ดร.ณยศ กล่าวอีกว่า โรงงานในไทยบางขั้นตอนมีการลงทุนใช้ระบบอัตโนมัติเข้ามาทำงานอยู่บ้างแล้ว แต่ยังเป็นเพียงบางส่วน บางขั้นตอน ของสายการผลิต และต้องมีคนคอยกำกับ หรือ จดบันทึก หากจะทำให้เต็มรูปต้องเป็นระบบอัตโนมัติ ที่เครื่องจักรแต่ละขั้นตอนการผลิตสามารถสื่อสารกันเองผ่าน IoT จนได้เป็นผลิตภัณฑ์ โดยมีคนคอยกำกับในห้องควบคุมกลางเท่านั้น

ทั้งนี้ SI ไม่สามารถสร้างได้ในห้องเรียน แต่ต้องเกิดจากประสบการณ์หน้างานจริง เพราะต้องออกแบบวางระบบสำหรับการผลิตแต่ละโรงงานเป็นแห่ง ๆ ซึ่งมีขั้นตอนการผลิตต่างกัน ต้องเลือกใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมกับสภาพการทำงานจริง และให้ส่งต่อสื่อสารกันเองได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด จึงต้องทั้งเป็นคนเก่งและมีประสบการณ์

ส่วนข้อกังวลว่า มิตซูบิชิเป็นผู้สนับสนุนศูนย์เรียนรู้ระบบอัตโนมัติ จะทำให้เกิดการผูกขาดเทคโนโลยีรายเดียวนั้น ผศ.ดร.ณยศ ชี้แจงว่า ไม่น่าห่วง เนื่องจากปัจจุบัน เทคโนโลยีอัตโนมัติเป็นระบบเปิด พัฒนาขึ้นมาใช้งานหลายชาติ ที่มีความเชี่ยวชาญ หรือ จุดเด่นแตกต่างกันออกไป ที่สำคัญอยู่ที่การสร้างคนที่จะสามารถผสมผสานเทคโนโลยีให้เหมาะกับแต่ละขั้นตอนของกระบวนการผลิตของโรงงานแต่ละแห่ง ให้ผลิตสินค้าออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นงานออกแบบโซลูชันโรงงานมากกว่าตัวเทคโนโลยี


หน้า 05 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3449 ระหว่างวันที่ 3 - 6 มีนาคม 2562
 

'มิตซูบิชิ' ฉีด 100 ล้าน ปั้นแรงงานป้อน 'อีอีซี' รองรับระบบอัตโนมัติ