'ฮ่องกง' เลือกไทยเป็นฐานการค้า! หวังให้ไทยเป็นศูนย์กลาง CLMVT

28 ก.พ. 2562 | 07:56 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ฮ่องกงปักหมุดเชื่อมโยงการค้ากับไทย ตั้งสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกงที่กรุงเทพฯ สะท้อนความเชื่อมั่นที่มีต่อไทยในฐานะศูนย์กลาง CLMVT ส่วนสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างอินเดีย-ปากีสถาน สั่งทูตพาณิชย์จับตาความขัดแย้งอย่างใกล้ชิด

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลได้เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ ภายหลังความสำเร็จจากการเยือนเขตปกครองพิเศษฮ่องกง เมื่อเดือน เม.ย. 2560 และ มี.ค. 2561 ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจและการค้าการลงทุนระหว่างไทยและฮ่องกง โดยรัฐบาลให้การต้อนรับ นางแครี่ หล่ำ ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง พร้อมด้วยคณะภาครัฐและเอกชน ที่เดินทางมาไทยในระหว่างวันที่ 27-28 ก.พ. 2562 และได้ใช้โอกาสนี้ในการเปิดสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกง หรือ Hong Kong Economic and Trade Office (HKETO) ที่กรุงเทพฯ ซึ่งสะท้อนว่า ฮ่องกงได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของไทยในการเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับไทยในด้านการค้าและการลงทุนในสายตาของผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างประเทศ และจะส่งผลดีต่อการขยายการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ตามมา และหลังจากการเยือนในครั้งนี้ ทางฝ่ายฮ่องกงจะได้มีการจัดคณะผู้แทนการค้าจากภาครัฐและเอกชนเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ในเดือน เม.ย. และ พ.ค. 2562


SSS1

ทั้งนี้ เพื่อขยายความร่วมมือทางด้านการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยฮ่องกงมองไทยในฐานะ Gateway เข้าสู่อาเซียน และไทยจะใช้ฮ่องกงเป็นประตูเจาะเข้าสู่ตลาดจีน ใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง และความตกลงว่าด้วยการลงทุนระหว่างอาเซียน-ฮ่องกง ซึ่งเริ่มเจรจามาตั้งแต่ปี 2557 กำลังจะมีผลบังคับใช้ในกลางปี 2562 รวมทั้งการใช้ประโยชน์จาก Greater Bay Area หรือ GBA ที่เป็นเขตเศรษฐกิจเชื่อมฮ่องกง มาเก๊า และเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง ในมณฑลกวางตุ้ง รวม 11 เมือง ที่เชื่อมฮ่องกงในฐานะ Super Connector กับเส้นทางสายไหม (Belt & Road Initiative : BRI) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ด้านโครงสร้างพื้นฐานของจีน และสามารถเชื่อมโยงด้านการค้าการลงทุนเข้ากับเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ของไทย ซึ่งรัฐบาลไทยมุ่งหวังให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียนดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ หรือ S-Curve ทั้งจากไทยและต่างประเทศ เพื่อรองรับกับการเติบโตของเศรษฐกิจสู่การเน้นวิทยาการและนวัตกรรมและนำพาประเทศไทยไปสู่ยุค 4.0 โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงและธุรกิจบริการ และรัฐบาลยังได้ผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ สามารถเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ระหว่างเอเชียตะวันออก–อาเซียน–เอเชียใต้ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงและเป็นที่สนใจของนานาประเทศ รวมถึงเพื่อรองรับการขยายตัวทางการค้าทั้งแบบดั้งเดิมและการค้าขายออนไลน์ (E-Commerce) ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย


SS2

นอกจากนี้ มีการลงนาม MOU ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย จำนวน 4 ฉบับ ประกอบด้วย ความร่วมมือด้านการพัฒนา Start Up และ การจัดตั้ง Smart City ซึ่งเป็นผลมาจากการขับเคลื่อนและประสานงานของกระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ 1) Innospace (Thailand) กับ HKTDC, 2) Innospace (Thailand) กับ Hong Kong Cyberport, 3) Innospace (Thailand) กับ Ho & Partners Architects Engineers Development Consultants Limited (HPA) และฉบับที่ 4 เป็นการลงนามระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กับ HKTDC เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสด้านการลงทุน และการจัดกิจกรรมชักจูงการลงทุนระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย ฮ่องกงถือเป็นคู่ค้าที่สำคัญของอาเซียน ในปี 2018 มีมูลค่าการค้าระหว่างกันถึง 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 11% ฮ่องกงถือเป็นคู่ค้าอันดับที่ 9 และเป็นนักลงทุนอันดับที่ 5 ของไทย และคาดว่า มูลค่าการส่งออกไทย-ฮ่องกงในปี 2561 จำนวน 12,563 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะสามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 12% ในปี 2562


SS3

ด้าน นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวถึงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ว่า จะกระทบต่อการส่งออกเพียงระยะสั้น ซึ่งโดยปกติการนำเข้าสินค้ามักเป็นการสั่งซื้อสินค้าไปสต็อกไว้ล่วงหน้าตามความต้องการบริโภคของแต่ละตลาดอยู่แล้ว ขณะที่ เหตุการณ์ความขัดแย้งดังกล่าว คาดว่าจะมีการเจรจาเกิดขึ้นโดยเร็วเพื่อยุติปัญหา เชื่อว่า เหตุการณ์จะไม่ยืดเยื้อบานปลาย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ในพื้นที่ที่มีปัญหาไปหารือกับผู้ประกอบการ พร้อมประเมินสถานการณ์และรายงานกลับเข้ามาที่กระทรวงพาณิชย์โดยเร็ว ทั้งนี้ หากพบว่า การค้ามีอุปสรรคติดขัดตรงส่วนใดจะได้ช่วยกันเร่งรัดแก้ไขปัญหาได้ทันการณ์

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-8