ทางออกนอกตำรา : มันต้องมีอะไรในกอไผ่...เทกโอเวอร์ 1.4 แสนล้านที่ร้อนฉ่า

27 ก.พ. 2562 | 11:24 น.
เทก-01 GPSC ในปี 2561 การซื้อกิจการหรือเทกโอเวอร์กิจการทั้งในและต่างประเทศ มีเกิดขึ้นตลอดทั้งปีมากกว่า 2.5 แสนล้านบาท

แต่ประเด็นเทกโอเวอร์ที่ร้อนแรงที่สุดไม่มีกรณีไหนน่าสนใจเทียบเท่ากรณี บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ฯ (GPSC) ประกาศใช้เงินกว่า 1.39-1.4 แสนล้านบาท ซื้อหุ้น บริษัท โกลว์ พลังงานฯ (GLOW) จากผู้ถือหุ้นเดิมคือกลุ่ม Engie Global Development B.V. หรือ ENGIE จำนวน 1,010.97 ล้านหุ้น หรือ 69.11% ในราคา 94.89-96 บาท

นอกจากนี้ จะต้องใช้เงินอีกก้อนโตร่วม 50,000 ล้านบาท ไปทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดจากผู้ถือหุ้นรายย่อยอีก 451.88 ล้านหุ้น หรือ 30.89% กกพ คณะกรรมการ พรบ พลังงาน

แต่การเสนอซื้อหุ้นแบบยกล็อตรอบแรกเกิดสะดุดหลังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเบรกการเข้าซื้อโดยระบุว่า จะทำให้เกิดการผูกขาดหรือการแข่งขันที่ลดพื้นที่ในภาคตะวันออก กกพ. มีมติเป็นเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 ไม่อนุมัติให้ GPSC ซื้อหุ้น GLOW...

แต่ทางกลุ่ม GPSC บริษัทลูกของ ปตท.ยังคงยืนยันที่จะซื้อ และกลุ่มเอ็นจี้ สัญชาติฝรั่งเศส ยืนยันจะขาย จึงยื่นอุทธรณ์เข้าไปและปรับเงื่อนไขในการซื้อใหม่

ในที่สุดไม่รู้อะไรดลใจ กกพ.ชุดใหม่ก็ได้อนุมัติให้ดีลนี้เกิดขึ้นได้โดยมีเงื่อนไขกำหนดว่า ให้ตัดโรงไฟฟ้า บริษัท โกลว์ เอสพีพี 1 หรือ SPP1 ที่มีกำลังผลิต 143 เมกะวัตต์ ออกไป เพื่อลดปัญหาการผูกขาดหรือต้องมีลูกค้ารายอื่นที่เข้ามาซื้อกิจการดังกล่าวก่อน GPSC จึงจะสามารถทำการควบรวมได้ในช่วงเวลาเดียวกัน พร้อมทั้งให้ความคุ้มครองกลุ่มลูกค้าผู้ซื้อไฟของ GLOW ทั้งหมด
เงื่อนไขบังคับ เงื่อนไข-2 ขณะเดียวกัน กกพ.ยังกำหนดเงื่อนไขบังคับหลังการรวมกิจการโดยกำหนดเป็นเงื่อนไขเพิ่มเติมท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ผู้รับใบอนุญาต GLOW ไว้ 11 ข้อ ให้ยึดถือปฏิบัติ ได้แก่...

1. การอำนวยความสะดวกกรณีลูกค้าเดิมเปลี่ยนผู้ให้บริการไฟฟ้า 2. การปฏิบัติตามกฎหมายและข้อกำหนดอื่น ๆ 3. การป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนทางธุรกิจ 4. การให้บริการอย่างมีมาตรฐานและไม่เลือกปฏิบัติ

5. การพิจารณาให้สิทธิในการพิจารณาต่อสัญญาหรือขยายเวลาสัญญาแก่ลูกค้ารายเดิมก่อน 3 ปี 6. โครงสร้างอัตราค่าบริการมีความเป็นธรรม 7. การผลิตและจัดหาไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอมีมาตรฐาน 8. การรักษาความลับข้อมูลทางธุรกิจให้กับลูกค้า

9. การสนับสนุนธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ 10. การบังคับใช้กฎหมายในกรณีที่มีการร้องเรียนหรือฝ่าฝืนเงื่อนไขสัญญา 11.ในกรณีที่การกระทำ พฤติกรรม หรือเหตุที่ทำให้เกิดการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการในกิจการพลังงานตามข้อ 10 สิ้นสุดลงแล้ว ผู้รับใบอนุญาตอาจต้องร้องขอให้คณะกรรมการระงับ ยกเว้น หรือปรับปรุงมาตรการเฉพาะใหม่ก็ได้

เรื่องนี้ในทางสังคมอาจดูไม่มีอะไร เอกชนขาย เอกชนซื้อ แต่ในความเป็นจริงมีนัยอย่างมากหลายเรื่อง และเป็นประเด็นน่าสนใจมากในทาง “บิสสิเนส โมเดล”

[caption id="attachment_394787" align="aligncenter" width="500"] ทางออกนอกตำรา : มันต้องมีอะไรในกอไผ่...เทกโอเวอร์ 1.4 แสนล้านที่ร้อนฉ่า เพิ่มเพื่อน [/caption]

นอกจากนี้ นับตั้งแต่ กกพ.ลงมติไม่ให้ซื้อ มาถึงมติอนุญาตให้ซื้อควบรวมกิจการกันนั้น จนบัดป่านนี้ไม่มีใครสามารถสืบสาวราวเรื่องว่า เพราะอะไรถึงเปลี่ยน 360 องศา

คุณคิดว่า การที่บริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจที่ใหญ่มากที่สุดในประเทศแตกเผ่าเหล่ากอใช้เงิน 1.38-1.4 แสนล้านบาท ไปซื้อกิจการด้านไฟฟ้าเพื่อขยายธุรกิจนั้นมันธรรมดา...หรือครับ...

ผมว่า ไม่ธรรมดา ไม่ธรรมดาตั้งแต่มีการดำเนินการเจรจาตกลงราคาซื้อแล้วครับ...และไม่ธรรมดาอีกเมื่อพิจารณาจากไซซ์ของธุรกิจและทรัพย์สินในการซื้อขายกัน…ไม่ธรรมดาอีกเช่นกัน เพราะหลังการซื้อแล้ว โรงไฟฟ้าของ GLOW ทั้งหมดนั้นจะสามารถผลิตไฟฟ้าขายต่อไปไม่เกิน 3 ปี....พ้นจากนั้น GPSC จะต้องหาเงินมาซ่อมบำรุงซื้อเครื่องจักรใหม่มาผลิตไฟฟ้าอีกเป็นแสนล้านบาทเช่นนั้น

คุณคิดว่า การซื้อหุ้นเป็นแสนล้านบาท การลงทุนอีกเป็นแสนล้านบาท คนธรรมดาเขาทำได้มั้ยครับ ถ้าเขาไม่เห็น “โอกาส” ที่ซ่อนเร้นอะไรไว้โดยที่คนธรรมดามองไม่เห็น

อันว่า บริษัท GPSC มีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นรวม 1,955 เมกะวัตต์ เป็นไอนํ้า 1,585 ตันต่อชั่วโมง นํ้าเย็น 12,000 ตันความเย็น และนํ้าเพื่อการอุตสาหกรรม 2,080 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ขณะที่ GLOW มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 3,200 เมกะวัตต์ ขนาดสินทรัพย์ GLOW ณ วันที่ 30 กันยายน 2561 อยู่ที่ 105,063.64 ล้านบาท ขนาดสินทรัพย์ GPSC ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 อยู่ที่ 64,439.02 ล้านบาท ปี 2561 GLOW กำไรสุทธิ 8,212.4 ล้านบาท GPSC กำไรสุทธิ 3,359 ล้านบาท...ยักษ์เล็ก ไปซื้อยักษ์ใหญ่...
กรณ์ บรรยง เติมชัย

สำหรับ GPSC เป็นบริษัทในเครือ ปตท. โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 ลำดับแรก คือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอลฯ 22.73% บริษัท ปตท.ฯ 22.58% และบริษัท ไทยออยล์เพาเวอร์ฯ 20.79% มีทุนจดทะเบียน 14,983 ล้านบาท ทุนที่ชำระแล้ว 14,983 ล้านบาท

ขณะที่ GLOW ผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและเป็นผู้ให้บริการด้านสาธารณูปโภคทางอุตสาหกรรมในภาคเอกชนรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ธุรกิจหลักของกลุ่มบริษัทคือผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวมถึงการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ไอนํ้า นํ้าเพื่อการอุตสาหกรรม และนํ้าเย็น ให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมใกล้เคียง และเขตประกอบการอุตสาหกรรมสยามอีสเทิร์นอินดัสเตรียลพาร์ค อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง

ภายหลังการเข้าซื้อกิจการ GLOW จะทำให้ GPSC มีกำลังการผลิตไฟฟ้าในกลุ่มเพิ่มเป็นราว 5,000 เมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วน 6.9% ของกำลังการผลิตรวมทั้งประเทศ ไม่เข้าข่ายการผูกขาดหรือมีอำนาจเหนือตลาด แต่กลายเป็นยักษ์ใหญ่อันดับ 3 ของประเทศในการผลิตและขายไฟฟ้าให้กับรัฐ อันดับแรกคือ กฟผ. อันดับที่ส 2 คือกัลฟ์ และอันดับ 3 คือ GPSC…

ผมขอบอกว่า เรื่องนี้มีอะไรในกอไผ่...ไว้ฉบับหน้า ผมจะพามาดูหน่อไม้...ครับ

| คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา
| โดย : บากบั่น บุญเลิศ
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3448 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 28 ก.พ.-2 มี.ค.2562 
595959859

[caption id="attachment_395287" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]