"AAV" ทุ่มเม็ดเงิน 8 พันล้าน! ฮุบ "NOK" กินรวบ 'ดอนเมือง'

27 ก.พ. 2562 | 09:19 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

AAV เตรียมปิดดีลซื้อหุ้นนกแอร์จาก "กลุ่มจุฬางกูร" คาดใช้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 8 พันล้านบาท หวังได้สล็อตบินเพิ่ม ครองมาร์เก็ตแชร์สนามบินดอนเมืองกว่า 51% ด้าน "วงใน" ยัน! "การบินไทย - พาที สารสิน" ไม่ขายทิ้ง หลังเห็นสัญญาณพลิกธุรกิจเป็นบวก

คืบหน้ามาตามลำดับการทำดีวดิลิเจนท์ของ บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ในการเตรียมเข้าไปซื้อหุ้นของ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK ในส่วนของผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มตระกูล "จุฬางกูร" ซึ่งจะมีการนำข้อตกลงเบื้องต้นชี้แจงให้บอร์ดนกแอร์รับทราบในวันที่ 28 ก.พ. นี้ ส่วน AAV จะนำเรื่องเสนอขออนุมัติต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นในเดือน เม.ย. นี้


A330-300 Take off_0

แหล่งข่าวระดับสูงจาก บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) NOK เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การทำดีวดิลิเจนท์ครั้งนี้ น่าจะได้ข้อสรุปในหลักการการเข้าซื้อหุ้นดังกล่าว ภายในสิ้นเดือน ก.พ. นี้ หลังจากมีการเจรจาร่วมกัน ว่า AAV จะไม่รับภาระเรื่องเกี่ยวกับค่าเช่าเครื่องบินและการซ่อมบำรุงอากาศยานที่นกแอร์มีคดีเก่าอยู่ รวมถึงการลดภาระหนี้ที่เกิดขึ้นจากเรื่องเหล่านี้

"คาดว่า ดีลนี้ AAV จะใช้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 8 พันล้านบาท ในการซื้อหุ้นจากกลุ่มจุฬางกูร คิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% หลังการเพิ่มทุนของนกแอร์รอบที่ 3 รวมถึงการเตรียมทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ เนื่องจากมีการเสนอซื้อหุ้นเกิน 25%"


แอดฐานฯ

อย่างไรก็ดี ในส่วนของหุ้นที่การบินไทยและ นายพาที สารสิน ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งนั้น จากการตราวจสอบ "วงใน" ระบุว่า ในการทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ ที่จะเกิดขึ้น การบินไทยจะยังคงถือหุ้นในนกแอร์อยู่ 15.94% หลังจากการบินไทยสละสิทธิ์ซื้อหุ้นเพิ่มครั้งล่าสุด และส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นในนกแอร์ลดจาก 21.80% เหลือ 15.94% เช่นเดียวกับ นายพาที สารสิน ที่ถือหุ้นอยู่น้อยมากไม่ถึง 0.5% ก็เลือกที่จะถือหุ้นไว้อยู่ในฐานะนักลงทุน เพราะเล็งเห็นว่า หลัง AAV เข้ามาซื้อหุ้น แนวโน้มผลประกอบการของนกแอร์ก็น่าจะกลับมาเป็นบวกและดำเนินธุรกิจต่อไปได้

แหล่งข่าวยังระบุว่า หลังการซื้อหุ้นนกแอร์ ทาง AAV ยังคงเก็บแบรนด์นกแอร์ไว้เหมือนเดิม เนื่องจากตามกฏการบินของไทยมีกำหนดไว้ว่า ถ้ามีการเปลี่ยนแบรนด์ เปลี่ยนชื่อ สิทธิการบิน สล็อตการบิน (ตารางการบิน) ที่สายการบินนั้น ๆ ได้มาแต่เดิม จะต้องคืนกลับไปยังสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เพื่อจัดสรรสล็อตใหม่ ทำให้ AAV จึงเลือกที่จะเก็บแบรนด์นกแอร์เอาไว้ เพราะเป้าหมายหลักของการซื้อนกแอร์ คือ ไทยแอร์เอเชียต้องการสล็อตการบินเพิ่ม เนื่องจากปัจจุบัน สล็อตบินที่สนามบินดอนเมืองเต็มหมดแล้ว

 

[caption id="attachment_395630" align="aligncenter" width="503"] Nok Air 737-800 YV099 Humanitarian Aid Cargo Load Nok Air 737-800 YV099 Humanitarian Aid Cargo Load[/caption]

เนื่องจากไทยแอร์เอเชียมีประสบการณ์ในการบริหารสายการบินต้นทุนต่ำ ขณะที่ กลุ่มจุฬางกูรไม่มีความรู้ในเรื่องธุรกิจการบิน อีกทั้งการไม่เพิ่มทุนของการบินไทยครั้งล่าสุดก็แสดงชัดเจนว่า การบินไทยจะไม่สนับสนุนนกแอร์ในเชิงยุทธศาสตร์อีกต่อไป ทำให้กลุ่มจุฬางกูรจึงได้เข้าไปเจรจากับ AAV เพื่อเสนอขายหุ้นที่ถืออยู่ทั้งหมด หลังจากมองอนาคตแล้วคงจะอุ้มนกแอร์ต่อไปไหว เพราะไม่เพียงต้องควักเงินไตรมาสละ 1,500 ล้านบาท เพื่อประคองธุรกิจเท่านั้น แต่ที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2558-2561 กลุ่มจุฬางกูรขาดทุนจากราคาหุ้นในนกแอร์กว่า 6,200 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หลังการซื้อหุ้นจะทำให้ไทยแอร์เอเชียเป็นสายการบินต้นทุนต่ำรายใหญ่ที่สุดที่ครองส่วนแบ่งตลาดเส้นทางบินภายในประเทศกว่า 51.8% จากปัจจุบันที่ไทยแอร์เอเชียมีส่วนแบ่งตลาดที่ 33% นกแอร์อยู่ที่ 18.8% สูงกว่าไทยไลออนแอร์ที่มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 17% ซึ่งจะทำให้มีบทบาทในการกำหนดค่าราคาค่าโดยสารที่เพิ่มขึ้น


DD_๑๘๑๐๒๖_0001

ด้าน นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การบินไทยยังไม่ได้ตัดสินใจ ว่า หาก AAV ซื้อหุ้นนกแอร์และมีการเปิดทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ จะขายหุ้นที่การบินไทยถืออยู่ในนกแอร์ 15.94% หรือไม่ ซึ่งคงต้องรอความชัดเจน รวมถึงการตัดสินใจใด ๆ ก็ต้องมีการหารือในบอร์ดการบินไทยก่อนด้วยเช่นกัน

595959859