ทำไมควรเปลี่ยนมาใช้ "ยานยนต์ไฟฟ้า"

10 มี.ค. 2562 | 02:15 น.

ยานยนต์ไฟฟ้า (Electricvehicles : EV) เป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยให้การสนับสนุนการลงทุนมาตั้งแต่ต้นปี 2560 โดยได้วางแผนการขับเคลื่อนภารกิจด้านพลังงานเพื่อส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ในระหว่างปี 2559 - 2579 และวางแผนการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยระหว่างปี 2557 - 2562

การที่รัฐบาลพยายามผลักดันยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มที่ เพราะนี่คือ ส่วนหนึ่งของการลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดย ผศ.ดร.ภูรี สิรสุนทร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) อธิบายว่า ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ รถยนต์ไฟฟ้า มีอัตราเร่งในการออกตัวสูง ไม่ต้องทดเกียร์ ไม่มีเสียงดังของเครื่องยนต์ นอกจากนี้ ยังประหยัดค่าซ่อมบำรุงและค่าเชื้อเพลิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ก่อให้เกิดมลพิษ อย่าง ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5
 

EV infographic-04

ยานยนต์ไฟฟ้ายังมีข้อด้อยที่นักขับไม่ค่อยปลื้ม คือ ราคาที่ค่อนข้างสูงและการชาร์จพลังงาน 1 ครั้ง (ประมาณ 4 ชั่วโมง) จะวิ่งได้ประมาณ 400 ก.ม. ทำให้ไม่เหมาะแก่การใช้เดินทางไกล

เพราะฉะนั้น แม้จะดีเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หลาย ๆ ประเทศ อาทิ นอร์เวย์ เยอรมนี ญี่ปุ่น อเมริกา และจีน เริ่มนำมาใช้จริง แต่ความคุ้มค่าคุ้มราคาสำหรับคนไทย อาจต้องใช้เวลาในการวัดผลสักนิด

สกว. จึงทำงานวิจัยโครงการประเมินมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าต่อการยอมรับของผู้บริโภคและประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคขนส่ง เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาดูว่า จะทำอย่างไรให้ผู้ใช้รถตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแทนยานยนต์ประเภทที่ใช้เชื้อเพลิง (เครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal combustion engine : ICE))
 

EV infographic-03

ผลการวิจัย พบว่า สิ่งที่ต้องทำให้เกิดความชัดเจน คือ ตัวชี้วัดเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจน ทั้งต้นทุนรวมในการเป็นเจ้าของ (Total Cost of Ownership : TCO) ต่อยานยนต์ 1 คัน ไม่ว่าจะเป็น ราคารถมือหนึ่งและมือสอง รวมไปถึงค่าเชื้อเพลิง ค่าบำรุงรักษาและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จะตามมา เช่น ดอกเบี้ยประกันและภาษี ซึ่งในปัจจุบัน เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนที่ผู้ใช้ยานยนต์ต้องจ่าย หรือ ต้นทุนเอกชน แล้ว EV ยังมีความโดดเด่นจูงใจไม่มากพอที่จะทำให้ผู้ซื้อเปลี่ยนมาซื้อ EV โดยเฉพาะเมื่อยานยนต์ในเซ็กเมนต์เดียวกัน ยานยนต์ประเภทสันดาปภายในมีราคารถถูกกว่า ในขณะที่ ต้นทุนทางสังคม โดยเฉพาะต้นทุนที่เกิดจากมลพิษทางอากาศ การใช้ EV ไม่ก่อให้เกิดต้นทุนนี้เลย และมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า"

EV infographic-02

จากการสำรวจ ยังพบว่า อัตราการยอมรับ EV อยู่ที่ 60% นั่นหมายความว่า ผู้ใช้พร้อมจะเปลี่ยนภายใต้ปัจจัย 3 ส่วน คือ ปัจจัยส่วนบุคคล ซึ่งได้แก่ การศึกษาและรายได้ ปัจจัยภายในเกี่ยวกับตัวรถ คือ ราคาค่ายรถและสมรรถนะของรถ สุดท้าย คือ ปัจจัยภายนอก อาทิ บริการหลังการขาย

จากงานวิจัยมีการประเมินว่า หากประเทศไทยมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าตามอัตราการยอมรับ EV ที่ 60% ของเป้าหมาย 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2579 พบว่า ความต้องการนํ้ามันเบนซินจะลดลงโดยรวม 600 ล้านลิตร ดีเซลลดลงโดยรวม 313.9 ล้านลิตร LPG ลดลง 174.7 ล้านลิตร ในขณะที่ ความต้องการไฟฟ้าจะสูงขึ้นเฉลี่ย 2,994 GWh โดยต้นทุนเชื้อเพลิงที่ประหยัดได้คิดเป็น 11,936 ล้านบาท ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้สูงถึง 650,059 พัน kgCO2e และลดมูลค่าต้นทุนทางสังคมได้ประมาณ 70,279 ล้านบาท
 

EV infographic-01

หากจะทำให้ผู้ใช้รถยอมเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าได้ นอกจากตัวชี้วัดที่ชัดเจนแล้ว การลดภาษีนำเข้าและการส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศถือเป็นหัวใจที่จะทำให้ราคายานยนต์ไฟฟ้าสามารถแข่งขันในตลาดได้

จากรายงานของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2017-2024 คาดการณ์ว่า ปัจจัยลบต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อความต้องการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะค่อย ๆ ถูกจัดการไป และในปี 2024 รถยนต์ไฟฟ้าจะถูกพัฒนาจนกลายเป็นตลาด โดยผู้ผลิตและซัพพลายเออร์จะทำราคารถยนต์ไฟฟ้าให้ลดลง พร้อมทั้งมีการพัฒนาประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ ทั้งระยะเวลาในการชาร์จและระยะเวลาการใช้งาน

ในขณะที่ ภาครัฐจะมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้นกับการควบคุมการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนทั้งอุปสงค์และอุปทานของรถยนต์ไฟฟ้า

เมื่อได้รถยนต์ที่ราคาไม่แตกต่างกันมาก แต่คุณประโยชน์ที่เกิดขึ้นมีมหาศาล ทั้งกับตัวเองและโลก เชื่อว่า คนไทยพร้อมเปลี่ยนแน่นอน


หน้า 22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3448 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - มีนาคม 2562

595959859