'สุภิญญา' ค้านออก ม.44 ยืดค่างวดคลื่น 900 ชี้! เป็นตราบาป

26 ก.พ. 2562 | 09:42 น.
'สุภิญญา' ออกโรงค้าน คสช. ออก ม.44 ยืดค่างวดคลื่น 900 ชี้! เป็นตราบาป ด้าน ประธานทีดีอาร์ไอเตรียมเขียนบทความคัดค้าน

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. แสดงความคิดเห็นผ่านทวิตเตอร์ (@supinya) ต่อกรณีที่มีกระแสข่าว ว่า ครม. เตรียมใช้ ม.44 เพื่อยืดชำระค่างวดคลื่น 900 ให้กับผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู และบริษัท โทเทิล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ว่า ถ้าแน่จริงก็ใช้กฎหมายปรกติค่ะ แล้วรับผิดชอบกับการใช้อำนาจนี้เหมือนคนอื่น ๆ ด้วย ถ้าเคยวิจารณ์คนอื่นเรื่องการเอื้อประโยชน์เชิงนโยบายต่อกลุ่มทุนมั่งคั่งก็ขอให้ตั้งสติครั้งนี้ให้มากที่สุด ก่อนจะตัดสินใจใช้อำนาจพิเศษช่วงโค้งสุดท้าย


090861-1927-9-335x503-8-335x503-13-335x503

เรื่องที่น่าผิดหวังของ กสทช. มีมาก แต่เรื่องที่จะเป็นตราบาป คือ การช่วยเอกชนด้านโทรคมนาคมจนเกินงามแบบนี้ ทำให้สังคมคิดว่า แล้วในระบบใบอนุญาตที่แข่งขันเสรีจะต่างอะไรกับระบบสัมปทานแบบอำนาจนิยมอุปถัมภ์ทุนนิยมอภิสิทธิ์แบบเดิม จะเป็นภาพจำ กสทช. ไปนานว่า คุณคงไม่ใช่ Regulator แล้ว ถ้าค่ายมือถือ 3 เจ้าเดิม ไม่มีเงินประมูลคลื่น แนวทางสากล คือ เปิดให้รายใหม่ ๆ มาประมูลตามหลักแข่งขันเสรีเป็นธรรมใช่ไหม ทำไมจะต้องผูกขาดเป็น 3 เจ้าชั่วฟ้าดินสลาย หน้าที่ Regulator ถ้าแก้โจทย์นี้ไม่ได้ ก็ไม่ใช่ต้องไปเอื้อเอกชนมากขนาดนี้ คสช. ก็ต้องตั้งหลักให้ดี ว่า คุณจะใช้อำนาจเพื่อใคร การจะใช้ ม.44 ช่วยยืดเวลาจ่ายค่าประมูลคลื่นมือถือที่เคาะชนะกันมาแล้วตามกติกา ซึ่งเอกชนรับร่วมกัน ก็ไม่ต่างจากการออกกฎหมายแปลงสัญญาสัมปทานกิจการโทรคมนาคมในอดีต แต่การใช้อำนาจพิเศษเอื้อเอกชนจะยิ่งกว่าระบบ 'อุปถัมภ์และอภิสิทธิ์' เพราะตรวจสอบไม่ได้ตามหลัก Rule of Law

สำหรับค่างวดประมูลคลื่น 900 งวดสุดท้ายที่ต้องชำระในเดือน มี.ค. 2563 โดยเอไอเอสต้องจ่าย 59,574 ล้านบาท และทรู จำนวน 60,218 ล้านบาท โดยทั้ง 2 ราย ยื่นหนังสือขอขยายระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาตออกไป 7 งวด (7 ปี) สำหรับดีแทค งวดสุดท้ายที่ต้องชำระ 30,024 ล้านบาท ขอขยายระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาตออกไป 15 งวด (15 ปี)

ขณะที่ นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า คืนนี้หรืออย่างช้าพรุ่งนี้จะเขียนบทความสั้น ๆ ลงเฟซบุ๊ก

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว