อีซูซุไม่หวั่นคู่แข่งมั่นใจรักษายอดขาย-พัฒนารุ่นพิเศษ

28 ก.พ. 2562 | 07:07 น.
อุณหภูมิของตลาดรถปิกอัพเริ่มเดือด ทั้งจากผู้เล่นเดิมที่อยู่ในเซ็กเมนต์นี้อยู่แล้ว แถมยังมีผู้เล่นหน้าใหม่ที่เตรียมแจ้งเกิดเข้ามาในช่วงกลางปี วันนี้ฐานยานยนต์มีบทสัมภาษณ์ของ “โทชิอากิ มาเอคาวะ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด ในฐานะผู้นำตลาดว่าจะเตรียมรับมือกับการแข่งขันนี้อย่างไร และมีไม้เด็ดอะไรที่จะทำให้อีซูซุยังคงครองใจลูกค้า

02. มร. โทชิอากิ มาเอคาวะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด
มั่นใจรักษาความเป็นผู้นำ

การแข่งขันในตลาดรถปิกอัพ แม้จะมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามา ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะตลาดนี้ใหญ่มาก มีสัดส่วนกว่า 43% สำหรับอีซูซุเรามั่นใจในคุณภาพ เทคโนโลยี การเป็นเจ้าตลาดนี้มาก่อน

ปีที่ผ่านมาเราสามารถทำยอดขายได้ 177,864 คัน เติบโต 11% แบ่งออกเป็นปิกอัพ จำนวน 149,578 คัน เติบโต 12% ส่วนรถพีพีวี 12,554 คัน ส่วนเป้าหมายในปีนี้จะรักษาระดับให้เทียบเท่ากับปีที่ผ่านมา
ปัจจัยผลักดันยอดขาย

การเติบโตในปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการเปิดตัวรุ่นต่างๆ อาทิ เอ็กซ์-ซีรีส์, รุ่นพิเศษต่างๆ และปลายปีมีสเทลธ์ ส่วนต้นปี 2562 ประเดิมด้วย มิว -เอ็กซ์ ดิ ออนิคซ์ และการเสริมไลน์อัพของ สเทลธ์ ซึ่งแผนงานหลังจากนี้จะมีการปรับปรุงผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง
ผู้นำตลาดรถบรรทุก

รถบรรทุก อีซูซุ คิง ออฟ ทรัคส์ สามารถทำผลงานได้ดี มียอดสูงสุดเท่าที่เคยทำมา 15,732 คัน เติบโต 9.4% และมีส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่มรถบรรทุกขนาดกลางและใหญ่มากกว่า 50%

090861-1927-9-335x503-8-335x503-13-335x503
การส่งออก

ยอดส่งออกในปีที่ผ่านมา ทำได้ 160,000 คัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2560 และเป้าหมายในปี 2562 คาดว่าจะทำได้ 170,000 คัน ทั้งนี้คาดว่าสถานการณ์ของซาอุดีอาระเบียจะดีขึ้น เพราะเดิมถือเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของอีซูซุ ด้วยสัดส่วน 24% ของยอดการส่งออกทั้งหมด แต่เนื่องจากปีที่ผ่านมาเกิดความไม่สงบ ทำให้ตลาดส่งออกอันดับ 1 ตกเป็นของออสเตรเลีย ด้านการส่งออกรถบรรทุก ปีนี้คาดว่าจะเริ่มส่งออกคิง ออฟ ทรัคส์ ไปยังตลาดอาเซียนเป็นครั้งแรก
ประเมินภาพรวมตลาด

ปีที่ผ่านมาตลาดรถยนต์ในไทยสามารถทำยอดขายมากกว่า 1 ล้านคัน หรือ 1,041,739 คัน เกินเป้าที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้เพราะภาพรวมอุตสาหกรรมดีมาก และปีนี้คาดการณ์ว่าจะดีกว่าปีที่แล้วหรืออาจจะเทียบเท่า เนื่องจากปัจจัยบวกอาทิ การเลือกตั้ง การลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ ที่ทำให้เอกชนหรือเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามา ส่วนเงินบาทที่แข็งค่า ยังไม่กระทบกับการส่งออก ขณะที่หนี้ครัวเรือนหรือการปรับขึ้นดอกเบี้ย สำหรับอีซูซุประเมินว่ายังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง

ด้านปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะมีผลกระทบกับตลาดคือสงครามการค้าระหว่างจีน และสหรัฐอเมริกา ความไม่สงบในยุโรป อาทิ อิตาลีและฝรั่งเศส การประกาศออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษหรือเบร็กซิท
ความพร้อมเกี่ยวกับยูโร 5

ปิกอัพของอีซูซุ ผ่านมาตรฐานยูโร 4 ส่วนการจะก้าวไปสู่ยูโร 5 จะมีต้นทุนสูงขึ้นและส่งผลกระทบให้ราคารถแพงขึ้น แต่หากรัฐตัดสินใจประกาศชัดเจน ค่ายรถยนต์ก็ต้องปฏิบัติตามอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามตอนนี้ยังไม่มีกฎหรือเงื่อนไขชัดเจนออกมา ทำให้เราไม่สามารถบอกได้ว่าเมื่อไร รวมไปถึงประเมินได้ว่าต้นทุนที่จะปรับขึ้นนั้นจะมากน้อยเพียงใด ขณะที่ซัพพลายเออร์ หรือผู้ผลิตชิ้นส่วนที่จะรองรับมาตรฐานยูโร 5- 6 มีจำนวนจำกัด มีผลทำให้ต้องนำเข้ามา และแน่นอนว่าต้นทุนเพิ่มขึ้น

นอกจากนั้นแล้วยังต้องดูมาตรฐานนํ้ามันของประเทศไทยว่าพร้อมหรือยัง เพราะต้องมีการปรับปรุงโรงกลั่น โดยสรุปเรามองว่าต้องมีความพร้อมด้วยกันหลายด้าน มิใช่เฉพาะค่ายรถแต่เพียงอย่างเดียว

หน้า 28-29 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,448 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม พ.ศ. 2562

595959859